แนะนำหนังสือ The unbearable lightness of being (ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต)
The unbearable lightness of being (ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต)
"The Unbearable Lightness of Being" หรือฉบับแปลเป็นภาษาไทย โดยภัควดี วีระภาสพงษ์ในชื่อ "ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต" เป็นนวนิยายเชิงปรัชญาที่สะท้อนให้เห็นถึงความจงรักภัคดีต่อความรัก กามารมณ์ และการเสียดสีล้อเลียนการเมืองอย่างหนักหน่วง ที่ถูกเรียงร้อยถ้อยคำออกมาโดย มิลาน คุนเดอรา
เรื่องย่อมีอยู่ว่าโทมัสศัลยแพทย์หนุ่มที่มีรสนิยมทางเพศแบบไม่ผูกมัด วันหนึ่งเขาได้ไปรักษาคนไข้ที่เมืองเช็คและได้เจอกับเทเรซ่าหญิงสาวที่ทำงานอยู่ร้านเหล้า เธอเป็นคนค่อนข้างจะขี้อายและมักจะถือหนังสือติดตัวตลอดเวลา หลังจากที่โทมัสกลับไปกรุงปรากเขาก็เอาแต่คะนึงหาถึงเทเรซ่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนกระทั่งเธอมาปรากฏตัวอยู่ที่หน้าห้องของเขา สองคนจึงอยู่กินร่วมกันจากนั้นเป็นต้นมา
ในเรื่องโทมัสเป็นหนุ่มเจ้าเสน่มากๆ มีผู้หญิงมาเกาะแกะเป็นว่าเล่น แต่โทมัสก็เลือกที่จะไม่ทิ้งเทเรซ่าเขาจงรักภักดีกับความรักที่เขามีให้กับเทเรซ่าในรูปแบบของเขาเอง โทมัสคิดว่าความรักที่เทเรซ่ามีให้กับเขามันคือความหนักอึ้งในชีวิต ความเห็นอกเห็นใจที่เขาต้องรับผิดชอบ แม้โทมัสจะมีชู้รักที่เข้าอกเข้าใจเขาอย่างซาบีน่าก็ตาม
เทเรซ่าเองก็มีความหนักอึ้งที่เธอต้องเผชิญ เธอหนีออกมาจากบ้านที่เมืองเช็คเพราะว่าที่นั่นเป็นดังสถานกักกันสำหรับเทเรซ่า เธอโดนพ่อของเธอล่วงละเมิด และถูกแม่แท้ ๆ กล่าวหาว่าพยายามอ่อยสามีใหม่ของเธอ ต่อว่า กล่าวหา และทำร้ายเธอ จนกลายเป็นฝันร้ายหลอกหลอนเทเรซ่าจนถึงทุกวันนี้
คำว่า "Es muss sein" ปรากฏออกมาให้เห็นบ่อยครั้งในเรื่อง ซึ่งคำว่า "Es muss sein" คือถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในบทเพลงของบีโทเฟ่น เป็นภาษาเยอรมันแปลว่า "มันต้องเป็นเช่นนั้น"และคำนี้ได้สอดคล้องกับแนวคิด "Amor Fati" ของนิทเช่ที่แปลว่า รักในชะตาชีวิตของตัวเองเหมือนการที่โทมัสได้อยู่กับเทเรซ่าและความหนักอึ้งที่เขาไม่สามารถปล่อยมือไปได้
มาดูเรื่องการเมืองกันบ้าง เหตุผลที่หนังสือเล่มนี้ออกแนวเสียดสีล้อเลียนการเมืองก็เพราะว่า มิลาน คุนเดอรา นักเขียนนิยายเล่มนี้เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเช็คโกสโลวาเกียตั้งแต่วัยหนุ่ม และเวลาต่อมาก็ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงการเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ Prague Spring ปี1968 อีกด้วย แต่ไม่นานก็ถูกขับไล่ออกจากพรรคเพราะมิลานได้มีท่าทีต่อต้านกับนโยบายของพรรคจึงทำให้ถูกไล่ออก เขาจึงผันตัวมาเป็นพวกต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์แทน
หากพูดถึงความหนักอึ้งแล้วไม่ใช่แค่ตัวโทมัส เทเรซ่าหรือตัวละครในเรื่อง แต่ทุกคนล้วนมีความหนักอึ้งในชีวิตอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่บางทีการยอมรับในสิ่งที่เราเผชิญ ไม่โหยหาความสุขสม หรือไม่พยายามที่จะสลัดความหนักหน่วงของชีวิตนั้นให้หลุดออกไป อาจทำให้เราพบกับความสุขที่เราพยายามโหยหามาโดยตลอด ความหนักอึ้งนั้นอาจแปรเปลี่ยนเป็นความเบาหวิวราวกับอากาศธาตุก็เป็นได้ ดั่งคำพูดที่คุนเดอราได้ฝากไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า ..
“บางทีเหตุผลที่เราไม่สามารถรัก ก็เพราะเราโหยหาที่จะถูกรัก”
เครดิตรูภาพ : http://www.mein.net/effe/aktionsjahr/download/esmuss.jpg
https://socialist.net/images/new-stories/History/1968/Prague_1968/Prague-Spring-invasion.jpg
https://live.staticflickr.com/81/273406769_7b47940085_b.jpg
https://storage.googleapis.com/voicetv-web-assets/original/aW1hZ2UvMjAyMy0wNy85M2ZhNGZjM2NjNTJmMDEzY2I4ZmVjYjFkZDYxMzQxYS5qcGc=.jpg