จังหวัดอุทัยธานี ตำนานหนองผีเผา
เมืองอุทัยธานี มีหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากร ยืนยันไว้ว่า เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3,000 ปี มาแล้ว โดยพบหลักฐานยืนยันในหลายพื้นที่ เช่น โครงกระดูก เครื่องมือหินกะเทาะ จากหินกรวด ภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผาเขาปลาร้า
ตำนานเก่าเล่าว่า ในสมัยกรุงสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองนั้น ท้าวมหาพรหม ได้เข้ามาสร้างเมืองที่บ้านอุทัยเก่า คืออำเภอหนองฉางในปัจจุบันนี้ แล้วพาคนไทยเข้ามาอยู่ ท่ามกลางหมู่บ้านคนมอญและคนกะเหรี่ยง จึงเรียกว่า "เมืองอู่ไทย" ตามกลุ่ม หรือที่อยู่ของคนไทย ซึ่งพากันตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่น มีพืชพันธุ์และอาหารอุดมสมบูรณ์กว่าแห่งอื่น ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน และเกิดกันดารน้ำ เมืองอู่ไทย จึงถูกทิ้งร้าง จนในที่สุด พะตะเบิดได้เข้ามาปรับปรุงเมืองอู่ไทย โดยขุดที่เก็บกักน้ำไว้ใกล้เมือง และพะตะเบิด ได้เป็นผู้ปกครองเมืองอู่ไทยเป็นคนแรก ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
เมืองอู่ไทย ต่อมาได้เรียกกันเป็น "เมืองอุไทย" คาดว่า เพี้ยนไปตามสำเนียงชาวพื้นเมืองเดิม ได้มีฐานะเป็นหัวเมืองด่านชั้นนอก มีพระพลสงคราม เป็นนายด่านแม่กลอง และพระอินทรเดช เป็นนายด่านหนองหลวง (ปัจจุบันแม่กลองคืออำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และหนองหลวง คือตำบลหนองหลวง อำเภออุ้มผาง) คอยดูแลพม่า ที่จะยกทัพมาตามเส้นทางชายแดน ด่านแม่ละเมา
ต่อมา ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148-2163) ได้โปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติอำนาจ การใช้ตราประจำตำแหน่ง มีบัญชาการตามหัวเมืองนั้น ได้ระบุในกฎหมายเก่า ลักษณะพระธรรมนูญว่า "เมืองอุไทยธานี เป็นหัวเมือง ขึ้นแก่มหาดไทย"
เมืองอุไทยธานี เป็นเมืองที่อยู่บนที่ดอน และลึกเข้าไป ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่ และไม่สามารถติดต่อทางเรือได้ ดังนั้นชาวเมือง จึงต้องขนข้าวบรรทุกเกวียน มาลงที่แม่น้ำ จึงทำให้พ่อค้า พากันไปตั้งยุ้งฉางรับซื้อข้าว ที่ริมแม่น้ำ จนเป็นหมู่บ้านใหญ่ เรียกว่า หมู่บ้าน "สะแกกรัง" เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่มีป่าสะแกขึ้นเต็มริมน้ำ และมีต้นสะแกใหญ่ อยู่กลางหมู่บ้าน บ้านสะแกกรัง ชาวจีนเรียกเพี้ยนเป็น "ซิเกี๋ยกั้ง" เป็นตลาดซื้อข้าว ที่มีพ่อค้าคนจีน นิยมไปตั้งบ้านเรือนและยุ้งฉาง ต่อมาในระยะหลัง ได้มีเจ้านายและขุนนาง มาตั้งบ้านเรือนอยู่ เพราะความสะดวก ในการกะเกณฑ์สิ่งของส่งเมืองหลวง ซึ่งเป็นจำพวกมูลค้างคาว ไม้ซุง กระวาน และช้างป่า อีกทั้งยังมีช่องทาง ในการค้าข้าวอีกด้วย
ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (พ.ศ. 2251-2275) นั้น จมื่นมหาสนิท (ทองคำ) ซึ่งย้ายมาตั้งบ้านเรือน อยู่ที่บ้านสะแกกรังนั้น ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชนิกูล และต่อมา ได้กำเนิดบุตรชายคนโต ชื่อ "ทองดี " เกิดที่สะแกกรัง สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกฯ พระนามเดิม ทองดี เดิมทรงรับราชการ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ดำรงตำแหน่ง พระอักษรสุนทร เสมียนตรากรมมหาดไทย ถึงรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) พม่ายกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เกิดการระส่ำระสาย แตกสามัคคีในพระนคร จึงทรงอพยพครอบครัว ไปรับราชการกับเจ้าเมืองพิษณุโลก ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ
ต่อมาทรงพระประชวร สิ้นพระชนม์ในเมืองพิษณุโลก บุตรชายชื่อ "ทองด้วง" ภายหลังได้รับราชการเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และสถาปนา เป็นกษัตริย์ราชวงศ์จักรีปกครองแผ่นดิน ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" ทรงอัญเชิญพระอัฐิส่วนหนึ่ง ประดิษฐาน ณ หอพระ ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการถวายบังคม ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ในฐานะสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก แห่งราชวงศ์จักรี พระอัฐิอีกส่วนหนึ่ง สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท อัญเชิญเข้าประดิษฐาน ในพระเจดีย์ทอง ในพระมณฑป วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร มีประเพณีที่พระมหากษัตริย์ ทรงตั้งเครื่องทองน้อย เพื่อสักการบูชาทุกครั้ง ที่เสด็จพระราชดำเนิน
พ.ศ. 2376 ข้าราชการชาวกรุงเทพฯ ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาอุไทยธานี เจ้าเมืองอุไทยธานีในสมัยนั้น ได้เห็นว่าบ้านสะแกกรังเป็นตลาดใหญ่ มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่กันอย่างหนาแน่น อีกทั้งเป็นสถานที่ที่ชาวอุไทยธานี ติดต่อค้าขายข้าวและไม้ซุง กับพ่อค้าที่นั่นมานานแล้ว จึงคิดตั้งบ้านเรือนเพื่อค้าขาย ประจวบกับเวลานั้น เจ้าเมืองไชยนาทเป็นเพื่อนกัน จึงขอตั้งบ้านเรือนที่ริมแม่น้ำสะแกกรัง เนื่องจากผู้คนมาติดต่อราชการและมาค้าขายกันมาก ทั้งนี้ เนื่องจากเจ้าเมืองไม่กล้าขึ้นไปเมืองอุไทยธานีเก่า อ้างว่ากลัวไข้ป่า จึงเป็นเหตุให้พากันอพยพมาอยู่กันมากขึ้น
พ.ศ. 2391 ได้มีการแบ่งเขตดินแดนเมืองอุไทยธานีและเมืองไชยนาท โดยตัดเขตบ้านสะแกกรังทางฝั่งคลองฟากใต้ ตั้งแต่ท้ายบ้านสะแกกรังไปจดเมืองอุไทยธานีเก่า โอนที่นั่นจากเมืองไชยนาทเป็นของเมืองอุไทยธานี ดังนั้นเมืองอุไทยธานี จึงตั้งอยู่ที่ปลายสุดเขตแดนเมืองมโนรมย์ ข้างใต้บ้านลงมาสักคุ้งน้ำหนึ่งก็เป็นแดนเมืองไชยนาท
พ.ศ. 2441 เมืองอุไทยธานีขึ้นกับมณฑลนครสวรรค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนไปขึ้นกับมณฑลอยุธยา สุดท้ายมีการประกาศเลิกมณฑลปี พ.ศ. 2476 และจัดให้จังหวัด เป็นหน่วยปกครองส่วนภูมิภาคที่สำคัญที่สุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
จังหวัดอุทัยธานี เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ ของป่าไม้และสัตว์ป่า มีความหลากหลายทางธรรมชาติจน ทำให้พื้นที่ป่า "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง" ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนและสัตว์หายากที่ใกล้สูญพันธุ์จำนวนมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อม โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เขียวขจีจึงทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมมากมาย
ตัวเมืองอุทัยธานี เป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีวิถีชีวิตแบบโบราณ ที่เป็นเอกลักษณ์ มีแม่น้ำสะแกกรังเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอุทัยธานี มาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นตลาดการค้าสำคัญ ของเมืองอุทัยธานี มาแต่สมัยก่อน จนกลายเป็นชุมชนและเมืองใหม่ อุทัยธานีในที่สุด สิ่งโดดเด่น ที่บ่งบอกถึงความผูกพัน ระหว่างผู้คนกับสายน้ำ มาแต่อดีตกาลก็คือ ในราวปี พ.ศ.2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ และเสด็จมาประทับอยู่ที่หมู่บ้านสะแกกรัง พระครูอุทัยธรรมนิเทศ (จัน) จึงได้สร้างแพแฝด 2 หลังเพื่อรับเสด็จ นั่นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และการดำรงชีวิต ของชาวลุ่มน้ำสะแกกรัง ในสมัยนั้นได้อย่างชัดเจน
จังหวัดอุทัยธานี ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูง สภาพป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ประมาณ 6,730 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอคือ อำเภอเมืองอุทัยธานี อำเภอลานสัก อำเภอหนองขาหย่าง อำเภอหนองฉาง อำเภอทัพทัน อำเภอบ้านไร่ อำเภอสว่างอารมณ์ และอำเภอห้วยคต
ตำนานหนองผีเผา สมัยก่อนเกาะเทโพเป็นป่า พอคนตายก็ไม่ค่อยมีวัดให้เผา เขาก็ใช้วิธีฝังแทน บ้างก็เผา บ้างก็ฝัง แล้วแต่สะดวก สมัยนั้น ยังมีความเชื่อเรื่องนางไม้ ผีสาง เทวดา ผีบ้านผีเรือนอยู่
เล่ากันว่า ผีกับคนเป็นเพื่อนกัน เคยมีคนอยู่ที่หนองน้ำ ทำมาหากินอยู่แถวนั้น พอตายไปก็กลายเป็นผี วนเวียนอยู่ที่หนองน้ำ ต่อมาคนฝั่งบกทำนาทำสวน ปลูกผักทำกิน แล้วก็ไปหาปลาที่หนองน้ำ ได้ไปรู้จักกับผีเข้า พอไปหาปลาบ่อยๆ ผีกับคนก็เลยสนิทกัน เป็นเพื่อนรักกันมาก ผีคอยช่วยเหลือคน วันไหนได้ปลาน้อย ผีก็ช่วยกระทุ้งน้ำ เกิดเป็นระลอกคลื่นเล็กๆ ต้อนปลามาที่เรือ คนก็จับปลาได้มาก ถ้าช่วงฝนตกหนักจะมีพายุเข้า ผีก็จะเตือนคนว่าให้เว้นหาปลา ฝ่ายคนเวลาทำบุญ ก็อุทิศส่วนกุศลไปให้ผีที่เป็นเพื่อน
บึงพระชนก/หนองผีเผา อยู่มาวันหนึ่ง คนออกไปหาปลา เกิดเรือล่มกลางหนองน้ำ คนจมน้ำตาย ผีก็ลากคนขึ้นฝั่ง แล้วเผาเพื่อนที่ริมหนองนั่น คือผีเผาคน จึงได้ชื่อว่า หนองผีเผา บ้างก็ว่า หนองผีเผา มาจากภาษาเหนือ ผีเผา หมายถึง ต้นมะเกลือ เพราะมีต้นสีดำเหมือนกับผีเผา โดยไม่ต้องมีคนมาเผา
บึงพระชนก/หนองผีเผา “คนในท้องถิ่นเรียก หนองผีเผา มาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนชื่อเป็นบึงพระชนก เพราะเขาหาว่าชื่อเก่า ไม่เป็นมงคล แต่เราต้องเอาคำเก่ามาพูดด้วย เพราะชื่อเขามีที่มา มีประวัติ เด็กรุ่นใหม่ จะได้รู้ความเป็นมา”
https://youtu.be/0AKCsXkcuZU?si=AO4U2k8hDxBnWSGk
แหล่งที่มาของข้อมูล