ที่มา Hooligan แฟนบอลที่ถือคติ บอลจบแต่คนไม่จบ
เพื่อให้เข้ากับกระแสฟุตบอลยูโรในช่วงนี้ วันนี้จะขอพูดถึงแฟนบอลกันสักหน่อย เพราะเมื่อเร็วๆนี้ในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ระหว่าง ทีมชาติอังกฤษ และ เซอร์เบีย ก็เกิดเหตุแฟนบอลเมืองผู้ดี ตะลุมบอนกับแฟนทีมเซอร์เบีย ก่อนเริ่มเกม จนทำให้กองกำลังตำรวจเยอรมันต้องเข้ามาห้ามเพื่อไม่ให้บานปลาย อย่างไรก็ตามเรื่องแฟนบอลตีกัน ไม่ใช้สิ่งเหนือความคาดหมายของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพราะก่อนการแข่งขันฟุตบอลยูโร แฟนบอลจากอังกฤษถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มักก่อความวุ่นวาย พราะแฟนบอลอังกฤษมีเสียงเรื่องความรุนแรงมานาน จนมีคำเรียกเฉพาะว่า Hooligan หรือ Football Hooliganism ซึ่งหมายถึง แฟนกีฬาที่มีพฤติกรรมเกเร ใช้ความรุนแรงและเป็นอันตรายต่อผู้อื่น
โดยHooligan เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในช่วงทศวรรษ 1970-1980 เมื่อถูกใช้เรียกกลุ่มแฟนบอลที่ก่อความรุนแรงในสนามฟุตบอล เพราะในช่วงเวลานั้น เรียกได้ว่าเป็น ยุครุ่งเรืองของฟุตบอลอังกฤษ เนื่องจากสโมสรต่างๆ จากทั่วประเทศ คว้าถ้วยรางวัลได้มากมาย แต่ความรุ่งโรจน์นั้นก็มีภาพถึงกับพฤติกรรมที่น่าอับอายของแฟนบอลอังกฤษรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อมาตรการรักษาความปลอดภัยพัฒนาขึ้น การติดกล้องวงจรปิด การเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสนาม ไปจนถึงห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ช่วยป้องกันความวุ่นวายได้มากขึ้น
แต่ความเข้มงวดนี้ก็ทำให้ กลุ่มที่ตั้งใจมาก่อกวนเกมในสนาม หันไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับแฟนบอลคู่อรินอกสนามแทน เช่น ทะเลาะวิวาทกันก่อนเริ่มเกม และหลังจบเกม เป็นต้น ปัจจุบันนี้ Hooligan ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นแฟนบอลอังกฤษอีกต่อไป เพราะหมายถึงแฟนบอลประเทศไหนๆ ก็ตามที่ตั้งใจมาก่อเหตุในสนามฟุตบอลโดยเฉพาะ ซึ่งพวก Hooligan ที่ขึ้นชื่อว่าชอบความรุนแรงไม่แพ้แฟนบอลอังกฤษ มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แฟนบอลในประเทศ ตุรกี รัสเซีย สาธารณรัฐเช็ก เซอร์เบียร์ เยอรมนี รวมถึงอีกหลายประเทศในอเมริกาใต้ และเอเชียด้วยนั่นเอง . . . ไม่รู้ว่าพฤติกรรมของคนที่ถูกเรียกว่า Hooligan นั้น รวมถึงพวกที่ชอบจุดพลุแฟร์ในสนามด้วยหรือเปล่า