วิตามินที่คนขาดมากที่สุด
ปัจจุบันคนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น มีการหาอาหารเสริมและวิตามินต่างๆมารับประทาน วิตามินที่คนนิยมซื้อมารับประทาน ก็จะมีวิตามินบี วิตามินซี และวิตามินอี ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเน้นในด้านการเสริมภูมิคุ้มกัน และความสวยงาม แต่ยังมีวิตามินอีกตัวหนึ่งที่สำคัญซึ่งคนมักไม่ค่อยใส่ใจ นั่นคือวิตามินดี เพราะอย่างที่เรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆคือวิตามินดีมีอยู่ในแสงแดด แล้วเมืองไทยร้อนขนาดนี้ร่างกายจะขาดวิตามินดีได้อย่างไร
หลายคนทราบดีว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน แต่ถ้าดูไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนเมืองส่วนใหญ่แล้ว โอกาสที่จะได้รับแสงแดดนั้นน้อยมาก เพราะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปนั่งทำงานในออฟฟิศ กว่าจะกลับบ้านก็มืดค่ำ และถ้าต้องเดินตากแดดก็มักจะใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย กางร่ม รวมทั้งใช้ครีมกันแดด จึงเป็นผลให้คนเมืองส่วนใหญ่ขาดวิตามินดีโดยไม่รู้ตัว
วิตามินดี มีหน้าที่หลักช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหาร ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโต และเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ป้องกัน โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์อันเป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ช่วยปรับสมดุลน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวาน จากการศึกษาพบว่า คนที่ขาดวิตามินดีมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าคนทั่วไปและการเสริมวิตามินดีช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ วิตามินดียังมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อีกด้วย
ปัจจัยและกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสขาดวิตามินดี
การได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ทั้งจากการหลีกเลี่ยงการออกแดด และจากการใช้ครีมกันแดดที่มีสารเอสพีเอฟ (SPF) ที่มีผลทำให้ลดการดูดซึมแสงแดดสู่ผิวหนัง
ฝุ่น ควัน มลภาวะทางอากาศทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดมาถึงผิวหนังได้น้อยลง ทำให้กระบวนการสังเคราะห์วิตามินดีในร่างกายลดลงไป
การได้รับวิตามินดีจากอาหารไม่เพียงพอ โดยอาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาเทราต์ ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล รวมไปถึง นม หรือ ซีเรียล เป็นต้น
ผู้สูงอายุจะมีกลไกการสังเคราะห์วิตามินต่างๆ ของร่างกายเสื่อมลงตามธรรมชาติ ประกอบกับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือออกแดดน้อยลง จึงมีโอกาสขาดวิตามินดี
ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีไขมันสะสม มักเป็นผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะการขาด หรือ พร่องวิตามินดี
สตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
ผู้ที่มีสีผิวคล้ำ ซึ่งจะทำให้ผิวหนังผลิตวิตามินดีลดลง
ผู้ที่มีโรคระบบลำไส้ มีปัญหาเรื่องการดูดซึมไขมัน
ผู้ที่เป็นโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ทำให้การดูดซึมวิตามินลดลง
ผู้ที่มีโรคไตเรื้อรัง ระยะ 3 และ 4
จะทราบได้อย่างไรว่าขาดวิตามินดี
เนื่องจากอาการที่บ่งบอกว่าขาดวิตามินดี ค่อนข้างไม่เฉพาะเจาะจง บางรายอาจแค่มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ปวดกระดูก ปวดเมื่อยไม่ทราบสาเหตุ ผมร่วง ป่วยง่าย ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือไม่แสดงอาการ ดังนั้นการวินิจฉัยภาวะขาดวิตามินดี ที่ดีที่สุดคือ การเจาะเลือดตรวจวัดระดับไฮดรอกซีวิตามินดี 25(OH)D ในร่างกายโดยสามารถเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับวิตามินดีได้จากการตรวจสุขภาพประจำปีได้ แบ่งเป็น 3 ระดับดังนี้
ระดับวิตามินดีในเลือด 25(OH)D น้อยกว่า 20 ng/mL ถือว่ามีภาวะขาดวิตามินดี
ระดับวิตามินดีในเลือด 25(OH)D อยู่ในช่วง 20-30 ng/mL ถือว่ามีภาวะพร่องวิตามินดี
ระดับวิตามินดีในเลือด 25(OH)D มากกว่า 30 ng/mL ถือว่ามีระดับวิตามินดีพอเพียง
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่มีภาวะขาดหรือพร่องวิตามินดี
ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีเองได้ใต้ชั้นผิวหนัง ผ่านการกระตุ้นจากรังสียูวีบี เพื่อป้องกันการขาดวิตามินดี แนะนำให้ออกมาสัมผัสแสงแดดบ้าง โดยสามารถทำกิจกรรมที่ได้รับแสงแดด อย่างน้อย 15 นาที จำนวน 2-4 ครั้ง/สัปดาห์ ในช่วงเวลาที่ไม่ร้อนจนเกินไป เช่น เวลาเช้า 6.00 - 8.00 น. หรือช่วงเย็น 16.00 -18.00 น. ซึ่งแสงแดดจะช่วยเปลี่ยนคอเลสเตอรอลในร่างกายไปเป็นวิตามินดี
รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ น้ำมันตับปลา ตับ ไข่แดง เห็ด ปลาที่มีไขมันมาก เช่น ปลาทูน่า แมคเคอเรลแซลมอน เป็นต้น
หากไม่สามารถปรับไลฟ์สไตล์ การรับประทานวิตามินดีในรูปของอาหารเสริม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยประเภทของวิตามินดีจะขึ้นอยู่กับสภาวะและความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและผลลัพธ์ที่ดีควรปรึกษาแพทย์และตรวจระดับวิตามินดีในเลือดก่อนทานวิตามินเสริม
เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวัดระดับวิตามินดีในร่างกายอย่างสม่ำเสมอ