Golden Boy คือใคร สำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยอย่างไร…?
เมื่อพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน หรือ The MET สหรัฐอเมริกา ได้ส่งคืนประติมากรรมกลับคืนสู่ประเทศไทยประติมากรรม "Golden Boy" หรือ ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The standing shiva) สวมเครื่องทรงชั้นสูง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์และกะไหล่ทอง มีอายุเก่าแก่กว่า 900 ถึง 1,000 ปี เป็นสมบัติของแผ่นดิน ที่หายไปจากปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์
"Golden Boy" เป็นโบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันได้ถอดออกจากบัญชีของพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากได้ทำการตรวจสอบแล้วพบว่า ประติมากรรมชิ้นนี้ได้จาก Collection of Walter H. and Leonore Annenberg ในปี พ.ศ.2531 ถูกลักลอบขุดค้นจากโบราณสถานในเขต อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ และมีการลักลอบ ซื้อขายออกไปโดยผิดกฎหมาย
จึงเห็นว่าสมควรส่งคืนแก่ประเทศไทย ทางพิพิธภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกา ได้ดำเนินการจัดส่ง "Golden Boy" และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) ทั้ง 2 รายการ กลับถึงประเทศไทยอย่างปลอดภัยในวันที่ 20 พ.ค.2567
ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ได้นำประติมากรรมทั้ง 2 รายการนี้เคลื่อนย้ายไปจัดแสดง ณ ห้องศิลปะลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมในวันที่ 23 พฤษภาคม 2567
สำหรับประติมากรรมทั้ง 2 รายการ เป็นประติมากรรมสัมฤทธิ์ที่มีความสมบูรณ์มาก แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีชั้นสูงและความก้าวหน้าในการหล่อโลหะ สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของแผ่นดินไทยในอดีต
Golden Boy หรือพระศิวะ เป็นศิลปะเขมร
ในประเทศไทย สมัยเมืองพระนคร แบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16 (ประมาณ 900 ปีมาแล้ว) สัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ตกแต่งด้วยการฝังเงิน มีความสูง (รวมเดือย) 128.9 กว้าง 35.6 ลึก 34.3 ซม. สูงไม่รวมเดือย 105.4 ซม.
ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นรูปสัมฤทธิ์ที่สมบูรณ์ที่สุดที่ยังหลงเหลือจากสมัยเมืองพระนคร เป็นประติมากรรมที่มีการหล่อด้วยโลหะเป็นเทพในศาสนาฮินดูที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมของราชสำนัก พบในกัมพูชาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
แม้ว่าประติมากรรมจะถูกติไว้ว่าเป็นพระศิวะ แต่ท่าทางพระหัตถ์ทั้งสองมีความแตกต่างจากประติมากรรมโดยทั่วไปที่มักจะถือสัญลักษณ์ของพระศิวะ ประติมากรรมนี้จึงอาจหมายถึงพระศิวะในภาคมนุษย์ที่อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์สองอย่างคือ เป็นรูปเคารพเพื่อบูชาในศาสนสถานประจำราชวงศ์ หรือเป็นรูปเคารพของบูรพกษัตริย์ก็เป็นได้
ที่จริงแล้ว "Golden Boy" มีความสำคัญอย่างไรกับทางประวัติศาสตร์ไทย
ทางกรมศิลปากรได้ให้รายละเอียดของ "Golden Boy" ไว้ว่า เป็นรูปปั้นของ "พระศิวะ" อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปีมาแล้ว สูง 129 ซม. หล่อด้วยสัมฤทธิ์(สำริด)กะไหล่ทอง รูปแบบคล้ายประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปพระศิวะหรือทวารบาล จากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา
แต่ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี และหนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย กลับมองว่า ลักษณะของรูปหล่อ Golden Boy มีลักษณะเหมือนรูปที่สลักไว้ในปราสาทหินพิมาย ไม่เหมือนพระศิวะที่เคยเห็นทั่วไป
จึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นรูปเคารพของ "พระเจ้าชัยวรมันที่ 6" ซึ่งพระองค์เป็นต้นราชวงศ์มหิธรปุระ ของอาณาจักรขอมโบราณ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สืบเชื้อพระวงศ์มาจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ที่สร้างปราสาทหินเขาพระวิหาร และสร้างปราสาทหินพิมาย เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรขอมโบราณทั้งหมด
การที่ได้ค้นพบประติมากรรมสัมฤทธิ์(สำริด) โกลเด้นบอยในครั้งนี้ ถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ไทย เกี่ยวกับวัฒนธรรมและความเชื่อของอาณาจักรขอมโบราณแบบเดิมโดยสิ้นเชิง
จากเดิมเคยเชื่อว่า อาณาจักรขอม แผ่มาจากทางฝั่งกัมพูชามาสู่ที่ราบสูงโคราช แต่จากหลักฐานใหม่ทำให้เราได้รู้ว่า อาณาจักรขอมเคยยิ่งใหญ่อยู่บนที่ราบสูงโคราชมาก่อน แล้วจึงแผ่ไปทางฝั่งเมืองเสียมเรียบ กัมพูชา ในภายหลัง และมีหลักฐานที่ชัดเจนก็คือ พระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 ที่สร้างปราสาทนครวัด พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่สร้างปราสาทบายน ก็ยังนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน เช่นเดียวกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ด้วยเช่นกัน
ซึ่งแปลว่าการนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานนี้ มีการสืบทอดกันมาจนถึงยุคสุดท้ายของวัฒนธรรมขอม และที่สำคัญก่อนหน้านั้น ก็มีการค้นพบวัตถุโบราณประติมากรรมสำริดกรุประโคนชัย ซึ่งมีอายุราว พ.ศ. 1300 อยู่ห่างจากจุดที่พบโกลเด้นบอยเพียง 5 กิโลเมตร
ประติมากรรมหล่อสัมฤทธิ์(สำริด)เหล่านี้ ถือเป็นประติมากรรมทางพระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด แล้วแผ่อิทธิพลไปถึงที่ราบลุ่มทะเลสาบในเสียมเรียบถึงปัจจุบัน
**กะไหล่ทอง คือ เศษทองคำที่เหลือจากการแต่งทองรูปพรรณซึ่งจะมีเปอร์เซ็นต์ทอง ผสมกับโลหะตัวอื่นอยู่บ้างแต่มีน้อย**
อ้างอิงจาก: สำนักงานข่าว, กรมศิลปากร