ทำไมลูกเห็บตกในฤดูร้อน
ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี มักจะมีเหตุการณ์ที่เรียกว่า “พายุฤดูร้อน” ซึ่งเกิดจากเมฆฝนฟ้าคะนองขนาดใหญ่ ในฤดูร้อนอุณหภูมิอากาศเหนือพื้นดินจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออากาศเหนือพื้นดินลอยตัวสูงขึ้น กระแสลมแรงพัดพาเม็ดฝนลอยขึ้นไปปะทะกับมวลอากาศเย็นด้านบน มักเกิดขึ้นในเมฆประเภท "คิวมูโลนิมบัส" (cumulonimbus clouds) เมื่อเม็ดฝนจับตัวเป็นเม็ดน้ำแข็งซึ่งตกลงมาเจอมวลอากาศร้อนที่อยู่ด้านล่าง ความชื้นจะเข้าไปห่อหุ้มเม็ดน้ำแข็งให้เพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อเกาะตัวจนเป็นก้อนใหญ่มีน้ำหนักเกินกว่ากระแสลมพายุจะพยุงไว้ได้ ก็จะตกจากอากาศลงยังพื้นดิน ที่เรียกกันว่า ลูกเห็บ (Hail)
ลูกเห็บมีขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน แต่โดยปกติลูกเห็บส่วนใหญ่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร แต่บางทีอาจมีขนาดใหญ่กว่านั้น ถ้าทุบก้อนลูกเห็บที่เพิ่งตกถึงพื้นให้แตก จะเห็นภายในลักษณะเป็นวงชั้นน้ำแข็ง ซึ่งแสดงถึงการก่อเกิดลูกเห็บ จำนวนชั้นบอกได้ว่าลูกเห็บนี้ถูกพัดขึ้นไปสูงขึ้นกี่ครั้ง โดยชั้นข้างในสุดจะมีสีน้ำเงิน และสีจะจางลงเรื่อยๆในชั้นต่อไปจนเป็นสีขาว
จากสถิติลูกเห็บก้อนที่หนักที่สุดในโลกนั้น ตกที่ เมืองคอฟฟีย์วิลล์ (Coffeyville) รัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2513 มีการบันทึกว่าหนักถึง 770 กรัม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 14.5 เซนติเมตร (5.7 นิ้ว) ส่วน ลูกเห็บที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตกที่ เมืองออโรรา (Aurora) รัฐเนแบรสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 17.8 เซนติเมตร (7 นิ้ว) แต่มีน้ำหนักเบากว่า อาจเนื่องมาจากมีบางส่วนแตกไปเมื่อตกกระทบพื้น
ลูกเห็บเหมือนเป็นน้ำแข็งก้อนโตที่ตกลงมา หลายคนอาจจะอยากลองเอามากิน ซึ่งไม่ควรทำเพราะลูกเห็บอาจผ่านสภาวะที่อากาศสกปรก สารปนเปื้อนในอากาศซึ่งประกอบไปด้วยฝุ่นละออง สารเคมี แก๊สพิษต่างๆเชื้อโรค และแบคทีเรียมากมาย และยังมีเชื้อโรคจากพื้นดินในบริเวณที่ลูกเห็บตกลงมา ถึงแม้จะสีขาวสะอาด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะบริสุทธิ์ หรือสะอาด 100 %การที่เก็บมากินอาจเป็นอันตรายได้