ดร.โสภณกระทุ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยเงินกู้
ดร.โสภณกระทุ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยเงินกู้
AREA แถลง ฉบับที่ 354/2567: วันพฤหัสบดีที่ 09 พฤษภาคม 2567
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของไทยสูงมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยควรแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ดร.โสภณจึงขอกระทุ้ง ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารฯ ให้แสดงบทบาทดังกล่าว
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการอำนวยสินเชื่อแก่สถาบันการเงินต่างๆ ให้ความเห็นว่า ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ควรเร่งเจรจากับธนาคารพาณิชย์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง
ในการนี้ ดร.โสภณได้รวบรวมอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศเพื่อนบ้าน ปรากฏว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำที่สุดแล้ว อยู่ที่ 2.5% แต่เมื่อนำมาเทียบกับอัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยกลับปรากฏว่ามีส่วนต่างมากถึง 4.72% ยิ่งหากนำไปเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ก็จะเห็นได้ชัดว่าสวนต่างมีมากเกินควรอย่างชัดเจน
ในกรณีมาเลเซียส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อที่อยู่อาศัยกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ห่างกันเพียง 1.33% ที่ประเทศอินเดียและฟิลิปปินส์ก็ต่างกันเพียง 2.38% และ 2.5% ตามลำดับ ส่วนที่อินโดนีเซียต่างกัน 3.34% แต่ก็ล้วนต่ำกว่าส่วนต่างของประเทศไทยอย่างชัดเจน ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย จึงควรเจรจากับธนาคารพาณิชย์เพื่อการลดดอกเบี้ยเงินกู้โดยไม่ลดดอกเบี้ยเงินฝาก
ดร.โสภณกล่าวต่อไปว่าหากสามารถลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงไปได้ 1% เช่น ถ้าวงเงินกู้ 1 ล้านบาท ในเวลา 30 ปี ณ อัตราดอกเบี้ย 7% ผู้กู้ต้องเสียเงินผ่อนชำระเดือนละ 6,653 บาท แต่ถ้าลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ 1% คือคิดเพียง 6% ก็จะทำให้ผู้กู้ต้องจ่ายเงินผ่อนลดลงเป็นเดือนละ 5,996 บาท หรือลดลง 10% อันจะช่วยผ่อนเบาภาระของประชาชนและถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีที่สุดทางหนึ่ง
ในขณะนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปคงค้างทั่วประเทศณ ไตรมาสที่ 4/2566 มีมูลค่า 4,950,185 ล้านบาท หากลดอัตราดอกเบี้ยจาก 7% เป็น 6% ในเบื้องต้นอาจอนุมานได้ว่า ก็จะทำให้เงินผ่อนชำระลดลงจาก 32,934 ล้านบาท เป็น 29,679 ล้านบาท ทำให้เกิดความต่างที่ 3,255 ล้านบาท และหากสมมติว่าเงินผ่อนจำนวนนี้ ราว 40% เป็นดอกเบี้ยให้สถาบันการเงิน ส่วนที่เหลือเป็นการผ่อนเงินต้น ก็จะทำให้สถาบันการเงินสูญเสียรายได้จากดอกเบี้ยไปราว 1,302 ล้านบาท หรือปีละ 15,624 ล้านบาท ในขณะที่กำไรของธนาคารพาณิชย์โดยรวมในปี 2566 อยู่ที่ 224,476 ล้านบาท ทำให้รายได้ของธนาคารหายไปเพียง 7% เท่านั้นในขณะที่ธนาคารก็สามารถประกอบกิจการอื่นได้อีกมากมายเป็นแหล่งรายได้อยู่แล้ว
ดร.โสภณ จึงเสนอให้ ดร.เศรษฐพุฒิ ร่วมมือกับรัฐบาล กำหนดนโยบายให้
1. เจรจากับธนาคารพาณิชย์ให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 1%
2. ให้ธนาคารของรัฐลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 1% ไปก่อน
3. ถ้าธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถลดได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ควรพิจารณาให้เปิดธนาคารเพิ่มจากทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้เกิดการแข่งขันยิ่งขึ้น อันจะทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงตามลำดับ ทั้งนี้สังเกตได้ว่าธนาคารในประเทศอื่นมีจำนวนมากกว่าในประเทศไทย
ถ้าสามารถลดดอกเบี้ยเงินกู้ได้ ทำให้ความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากลดลง จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินทั้งหลายต้องร่วมมือกันเพื่อประชาชน