ท่องโลกดึกดำบรรพ์: ทะเลของราชามังกรชอล์กขาว (ยุคครีเตเชียส)
อากาศร้อนๆ แบบนี้ ไปเที่ยวทะเลกันเถอะ
อากาศร้อนๆ แบบช่วงวันนี้ หลายๆ คนมักจะมีความคิดอยากจะไปทะเล และอาจจะเคยสงสัยว่า 80 ล้านปีที่แล้ว ทะเลบนโลกของเรามีสภาพเป็นแบบไหนกันแน่ จะน่าว่ายน้ำหรือไม่ หากลองมองดูดีๆ แล้ว ทะเลในยุคนั้นก็มีสถานที่แห่งหนึ่งที่สวยงาม แต่ก็อันตรายไม่แพ้กัน หากอยากรู้แล้ว ก็เดินทางมาสำรวจกันเลยดีกว่า!
80 ล้านปีที่แล้ว รัฐแคนซัสของสหรัฐอเมริกาเคยมีทางผ่านของทะเลตัดผ่าเข้าไปตรงกลางจนแหว่งแบ่งอเมริกาออกเป็นฝั่งตะวันตก และตะวันออกเป็นทวีปชื่อว่า ลอเรเซีย (Laurasia) และอาปาเลเซีย (Appalacia) การแบ่งแยกของทะเลตรงกลางนี้ นักบรรพชีวินวิทยาใช้การดูหินชอล์กที่เกิดจากการตกผลึกของซากปะการังและหอยทะเลในครั้งอดีตกาลและจากซากสิ่งมีชีวิตเกือบ 85% เป็นสัตว์ที่มีชีวิตในทะเล หมวดหินนี่คือ หมวดหินนิโอบาร่านั่นเอง
การเดินทางนำพวกเรามายังพื้นที่ทะเลหน้าหาด รอบๆ มีป่าปรงและพืชดอกจำนวนหนึ่ง มีแฮโดร์ซอร์ขนาดกลางอย่างคลาโอซอรัส (Claosaurus) ไดโนเสาร์ออร์นิโธพอดปากเป็ดตัวยาวห้าเมตรกำลังเดินเล่นบนชายหาดพลางหาพืชกิน บนท้องฟ้ามีสิ่งที่คล้ายกับนกบินอยู่ ใช่ มันคือนกทะเล อย่าง อิกธิออร์นิส (Ichtyornis) นกในยุคดึกดำบรรพ์เริ่มวิวัฒนาการแยกจากไดโนเสาร์แล้ว และมีฟันแหลมคมเรียงเต็มปากอยู่ไม่น้อยขณะที่มันบินข้ามท้องฟ้าและทะเลอย่างช้าๆ เทอโรซอร์ก็ยังมีจำนวนมากเช่นกัน เช่น นิคโธซอรัส (Nyctosaurus) และจีโอสเตนเบอร์เกีย (Geostenebergia) ที่มีหงอนยาวแปลกตาคล้ายแขนงกิ่งไม้งอกมาบนหัวยาวๆ ไว้อวดตัวเมีย จีโอสเตนเบอร์เจียถูกแยกออกมาจากพวกเทอราโนดอนอีกที จากการศึกษาลักษณะหงอนที่แตกต่างพอจะแยกออกมาได้ ทั้งสองชนิดเคยถูกจัดหมวดหมู่ให้ติดกันมาก่อน แต่ว่า ไฮไลท์ของเราอยู่ในทะเลข้างหน้า ใส่หน้ากากดำน้ำแล้วตามมากันเลย!
(คลาโอซอรัส)
(อิกธิออร์นิส)
(นิกโธซอรัสและจีโอสเตเบอร์เกีย)
(เพนตาน็อกกิมัส)
เมื่อลงมาในทะเล แนวปะการังอันอุดมสมบูรณ์งอกแทงขึ้นมามากมาย ลงไปเรื่อยๆ ก็จะเจอกับปลาหน้าตาแปลกๆ มากมาย เช่น เพนตาน็อกกิมัส (Pentanogimus) ที่มีกระโดงหลังทำให้ตัวมันมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนดูแปลกตา แอมโมไนท์ (Ammonites) ที่หน้าตาพิลึกคล้ายหอยและหมึกหลายๆ ชนิด แอมโมไนท์นั้นมีลักษณะก้ำกึ่ง แต่ก็มีหลายชนิด ทั้งพวกที่กินแต่แพลงกต์ตอนโดยกรองกินน้ำทะเลทางเหงือก และพวกที่จับกุ้ง ปู หรือปลาเล็กๆ กิน ในเปลือกมีอากาศบรรจุไว้เพิ่มความหนาแน่นและเพื่อให้ตัวของพวกมันลอยอยู่ตลอดเวลา หากพวกมันจมน้ำจะตายทันที
(แอมโมไนท์)
นกทะเลคอยาวท่าทางคล้ายเพนกวินว่ายผ่านตัวคุณไป นั่นคือเฮสเปอร์รอนนิส (Hesperonis) นกทะเลขนาดกลางที่ยาวถึงสองเมตร มีจะงอยปากพร้อมฟันซี่ถี่ๆ ใช้ในการกินปลา พวกมันมีขาหลังใช้พุ้ยน้ำ ทะเลตื้นๆ นี้ช่วยป้องกันพวกมันจากนักล่าขนาดใหญ่ได้ดี ดูความเร็วนั่นสิ! พวกมันจะเร็วได้ถึง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเชียวนะ! อะไรนะ? อยากไปทะเลเปิดแล้วเรอะ? มาสิ แต่ระวังด้วยล่ะ มันอันตรายสุดๆ ไปเลยนะ
(เฮสเปอร์รอนนิส)
ทะเลเปิดเองก็เริ่มมีปลาที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น เช่นกิลลิคัส (Gillicus) ซิปแฟคตีนัส (Xiphactinus) หรือโปรโตสไฟเรน่า (Protosphyrena) พวกมันหากินปลาและหมึกในทะเลเปิด โดยเฉพาะเจ้าโปรโตสไฟเรน่าจะมีจะงอยปากไว้ป้องกันตัวจากนักล่าอื่นๆ มีฉลามขนาดใหญ่คล้ายฉลามขาวด้วย แต่พวกมันคงจะอื่มและไม่สนใจคุณกับปลาเหล่านั้น นั่นคือ ครีท็อกซิไรน่า (Cretoxyrhyna) มีความยาวถึงหกเมตร ใหญ่พอๆ กับฉลามขาวยุคปัจจุบัน มีโครงสร้างร่างกายไม่ต่างกันกับฉลามในปัจจุบันมากนัก แต่มีฟันที่เรียงเป็นตับแถมแหลมเหมือนมีดกริช ญาติสนิทอย่างครีทาแลมน่าก็มีให้ชมเช่นกัน (Cretalamna)
(ซิปแฟคตินัส)
(ครีท็อกซิไรน่า)
บางสิ่งเข้ามาในหางตาของคุณก่อนจะได้ทันตั้งตัว ถอยมาก่อนเร็ว! นั่นคือเพลซิโอซอร์ขนาดใหญ่ พวกเพลซิโอซอร์เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่วิวัฒนาการแยกมาอาศัยในทะเลอีกทีตั้งแต่ยุคจูราสสิค และวิวัฒนาการแตกแขนงมากมายจนประสบความสำเร็จ เช่น อิลาสโมซอรัส (Elasmosaurus) คอยาวๆ ของมันนั้นออกแบบเพื่อจับปลาโดยไม่ต้องว่ายน้ำมาก แค่ยืดคอตวัดไปก็จับกินได้ หรือจะขึ้นไปหายใจที่ผิวน้ำก็สะดวกดี และพวกมันเองยังมีหลักฐานว่าคลอดลูกเป็นตัวด้วย โดยมีการค้นพบฟอสซิลของเพลซิโอซอร์อีกชนิดที่มีตัวอ่อนในท้องติดกับกระดูกเชิงกราน การอาศัยในน้ำและมีร่างกายใหญ่โตจะเอื้อกับการออกลูกแบบนี้มากกว่าด้วย
(อีลาสโมซอรัส)
ทุกสิ่งดูจะไปได้ด้วยดี จู่ๆ ก็มีบางสิ่งพุ่งตัวเข้ามาแหวกไล่เหล่าอีลาสโมซอรัส มันคือสัตว์เลื้อยคลานทะเลกลุ่มใหม่ที่เป็นนักล่าประจำของยุคนี้ มันคือ ไทโลซอรัส (Tylosaurus) ด้วยความยาวถึง 10 เมตร และเห็นมีหน้าตาคล้ายวาฬ แต่พวกมันมีญาติสนิทที่สุดเป็นสัตว์จำพวกงูและตะกวด เรียกว่ากลุ่มโมซาซอร์ (Mosasauridae) พวกมันมาแทนที่อิกธิโอซอร์และไพลโอซอร์ที่หมดลงตั้งแต่ 10 ล้านปีก่อนหน้า มีหางยาว ลำตัวสีเข้มด้านบนและท้องสีขาวด้านล่างช่วยให้พรางตัวในทะเลเปิดได้ และการโฉบเหยื่อจากด้านล่างของมันก็เป็นวิธีการล่าที่ดีเพราะลำตัวสีเข้มด้านบนเมื่อมองลงล่างจะกลมกลืนกับความมืดของเงาในทะเลได้ดี ไทโลซอรัสไล่ต้อนอีลาสโมซอรัสผู้โชคร้ายตัวหนึ่งก่อนจะกัดเข้าไปที่ครีบเท้าด้านหลังได้ จากนั้นก็พุ่งตัวเข้าไปแล้วงับที่คอของเหยื่อจนแหลกสะบั้น มันยังมีฟันอีกชุดในกรามล่างช่วยในการยึดและครูดตัวเหยื่อให้กลืนเข้าไปได้ ในทะเลนี้มันคือสุดยอดนักล่า แม้แต่ครีท็อกซิไรน่าที่เป็นฉลามก็ยังต้องยอมถอยเพราะตัวเล็กกว่าจะไปแย่ง พวกมันต้องรอกินของเหลืออีกที เมื่อซากนี้ถูกกินจนย่อยสลายก็จะตกลงไปที่ก้นทะเลเลี้ยงเหล่าสัตว์พื้นน้ำอื่นๆ อีกที ไม่มีอะไรเสียเปล่าเลยในวัฏจักรแห่งท้องทะเล
(ไทโลซอรัส)
ไม่ใช่ว่าพวกโมซาซอร์ทุกชนิดจะล่าปลาหรือสัตว์ใหญ่กิน มีบางชนิดที่กินหอยด้วย คุณกลับมายังแหล่งน้ำตื้นหลังจากเหตุการณ์เสียวสันหลังนั้น ก็ได้พบกับโมซาซอร์ขนาดย่อมอีกชนิดอย่าง โกลบิเดนส์ (Globidens) หรือเจ้าฟันกลม มันมีฟันทรงกลมคล้ายทั่งที่แข็งใช้บดและโม่เปลือกหอยสองฝาตามก้นทะเล ดูมันขุดหาหอยที่ก้นทะเลสิ แปลกดีเหมือนกันนะ
(โกลบิเดนส์)
สิ่งมีชีวิตในทะเลเหล่านี้จะอาศัยอยู่ยาวต่อไปอีก 12 ล้านปีข้างหน้าจนถึงปลายยุคครีเตเชียส พวกมันจะสูญพันธุ์ในเหตุภัยพิบัติครั้งใหญ่และพากันล้มตายลงไปมาก ฉลาม หอย ปลา กุ้งและปะการังบางชนิดจะยังคงอยู่ แต่พวกสัตว์เลื้อยคลานทะเล เทอโรซอร์ นกโบราณและ ไดโนเสาร์จะไม่สามารถไปต่อได้
ตอนต่อไป เดินทางไปยังทะเลทรายในมองโกเลียอันร้อนระอุ แห้งแล้ง แร้นแค้น มีระบบนิเวศแสนแปลกตา มีทั้งยักษ์ใหญ่ และราชาแห่งทะเลทราย ทาร์โบซอรัส และนักล่าตัวจิ๋วอย่างเวลโลซิแรปเตอร์ด้วย จะมีอะไรรอเราอยู่ โปรดติดตามใน ท่องโลกดึกดำบรรพ์!
https://en.wikipedia.org/wiki/Paleobiota_of_the_Niobrara_Formation
https://www.pteros.com/environments/niobrara-formation.html