ว่าด้วยเรื่องแปดสาแหรก
หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่าผู้ดีแปดสาแหรก แล้วก็คงจะสงสัยว่าคำว่า แปด สาแหรกหมายถึงอะไร และเขานับกันอย่างไรอันนี้บทความนี้มีคำตอบค่ะ
คําว่า ‘แปดสาแหรก’ นี้ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเล่าไว้ในหนังสือศรุตานุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านไว้ว่า
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ท่านเคยทรงพระราชดําริเล่นทายสายโลหิตของแต่ละคน มีกฎอยู่ว่าใครรู้จักทวดแปด คือ
๑. พ่อของปู่
๒. แม่ของปู่
๓. พ่อของตา
๔. แม่ของตา
๕. พ่อของย่า
๖. แม่ของย่า
๗. พ่อของยาย
๘. แม่ของยาย
รวมเป็นแปดสาย หรือ ‘แปดสาแหรก’ นับว่าผู้นั้นเก่งจะได้รับพระราชทานรางวัลชมเชย” สังเกตว่ามิได้มีคําว่า ‘ผู้ดี’ มีแต่คําว่า ‘แปดสาแหรก’ เท่านั้น
.
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2433 ณ วังกรมหมื่นภูมินทรภักดี เป็นธิดาของหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี และหม่อมช้อย นครานนท์ มีพี่น้องร่วมบิดา 13 คน เดิมชื่อ สั้น เมื่อเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเจริญวัยได้ 11 ขวบ หม่อมเจ้าเพิ่มทรงลาออกจากราชการในตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และจะย้ายครอบครัวไปประทับ ณ เมืองราชบุรี เจ้าจอมมารดาจีน ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี ไม่อยากให้หลานไปอยู่หัวเมือง จึงทูลพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ขอให้รับเข้ามาอยู่ในวัง ภายหลังจากเข้ามาอยู่ในวังไม่นาน พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประทานนามใหม่ว่า สดับ
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ได้รับพระอุปถัมภ์บำรุงอยู่ในตำหนักพระวิมาดาเธอฯ โปรดให้เรียนหนังสือจากครูทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และฝึกหัดงานฝีมือ รวมทั้งกับข้าวคาวหวาน มีหน้าที่ตามเสด็จพระวิมาดาเธอฯ ในขบวนเสด็จทุกงาน มีน้ำเสียงไพเราะจนได้รับเลือกให้เป็นต้นเสียงในวงมโหรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับต่อพระวิมาดาเธอฯ และทูลต่อไปยังหม่อมเจ้าเพิ่ม เมื่อไม่ทรงขัดข้อง จึงทำพิธีถวายดอกไม้ธูปเทียนเป็นการถวายตัว เมื่อ พ.ศ.2448 โดยมีคุณท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาดในรัชกาลที่ 4) เป็นผู้นำถวาย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาทเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2449
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทด้วยความจงรักภักดีจนเป็นที่สนิทเสน่หาไว้วางพระราชหฤทัย โดยนอกจากกำไลทองจารึกคำกลอนพระราชนิพนธ์ที่ได้รับพระราชทานจะเป็นหลักฐานแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณนี้แล้ว เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพาสยุโรป ก็ทรงมีพระหัตถเลขาถึงเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับด้วย ครั้นเมื่อได้รับลายพระหัตถเลขาก็ดีใจและก็คงจะได้แสดงกิริยาดีใจมากมายตามวิสัยผู้ยังมีอายุน้อย พระวิมาดาเธอฯ ซึ่งทรงรอบคอบระมัดระวังทุกอย่าง โดยเฉพาะการปกครองคน ทรงเข้มงวดมาก ทรงกวดขันให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับวางตัวเก็บความรู้สึก ไม่ให้ดีใจอย่างเด็กและก็ได้ทรงขอทอดพระเนตรทั้งลายพระราชหัตถเลขา และหนังสือที่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับจะเขียนกราบบังคมทูลสนองลายพระราชหัตถ์ พระประสงค์เพื่อป้องกันมิให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับกราบทูลอะไรที่ไม่สมควรออกไป เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้บันทึกความรู้สึกในตอนนั้นไว้ว่า
“ข้าพเจ้าสารภาพว่าทำให้เบื่อเขียน เพราะเขียนไม่ถูก จะเขียนอะไรก็กลัวถูกตรวจ กลัวก็กลัว อายก็อาย เมื่อได้รับเมล์ทีไรก็พิลึกกึกกือ ต้องซ่อนความรู้สึกต่างๆ ใจเต้นตูมๆ ใจหนึ่งชื่นชมของและลายพระหัตถ์ ใจหนึ่งเศร้าสลดที่จะต้องถูกเซ็นเซอร์ และเกิดความต่างๆ ข้าพเจ้าแอบร้องไห้ ในที่สุดข้าพเจ้าก็ขาดเมล์เป็นอันมาก ทางล้นเกล้าฯ ก็ทรงสงสัยไปต่างๆ เพราะไม่ทรงทราบเหตุผลเพราะอะไร พระราชหัตถเลขาที่ทรงเป็นพระราชกระทู้ก็ถี่เข้าๆ ในที่สุดก็ทรงเขียนฟ้องมาที่ท่าน (พระวิมาดาเธอฯ) ท่านก็เล่นงานข้าพเจ้า”
ความวุ่นวายในเรื่องนี้ผ่านไปเมื่อเสด็จฯ กลับ และทรงซื้อเครื่องเพชรมาพระราชทาน โปรดให้แต่งเครื่องเพชรแล้วให้ช่างถ่ายรูปชาวต่างประเทศมาถ่ายรูป โดยทรงพระกรุณาเป็นผู้จัดท่าพระราชทานเอง ตลอดจนทรงพระกรุณาพระราชทานตู้ของที่ระลึก แล้วจัดของเข้าแต่งตั้งในตู้พระราชทานด้วยพระองค์เอง
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2526 เวลา 6.30 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริรวมอายุได้ 93 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จฯ แทนพระองค์ไปในการพระราชทานน้ำอาบศพ ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และพระราชทานโกศมณฑป อันเป็นโกศสำหรับทรงพระศพพระราชวงศ์ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอประกอบศพ พระราชทานฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวดตั้งประกอบพระเกียรติยศศพ และให้รับการศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์
อ้างอิงจาก: หอจดหมายเหตุ, หนังสืองานศพเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ
https://web.facebook.com/NationalArchivesofThailand/photos/a.2623419837919916/2752375825024316/?type=3&_rdc=1&_rdr