แม่เจ้าบัวไหล แม่เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของน่านกับตำนานผ้าทอไม่เสร็จในละคร "รอยไหม"
แม่เจ้าบัวไหล เป็นชายาองค์ที่ ๒ในเจ้าหลวงพิริยเทพวงษ์ อดีตเจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์สุดท้าย แห่งราชวงศ์เทพวงศ์ สตรีผู้มีบทบาทจนได้รับการยกย่องให้เป็น "แม่เจ้าหลวง"
เจ้าบัวไหล เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ที่เมืองนครน่าน เป็นธิดาคนสุดท้อง(ในจำนวน ๔ คน)ในพระยาไชยสงคราม เชื้อสายเจ้าเจ็ดตน อยู่ทางเมืองพะเยา กับ เจ้านางอิ่นคำ ชาวไทยอง
มีเจ้าเชษฐาและเชษฐภคินีร่วมอุทร ได้แก่
๑. เจ้าจอมแปง (เจ้านางของ ซึ่งเป็นชายาเดิมพระยาไชยสงครามได้ขอไปอุปการะที่พะเยา)
๒. เจ้าเทพรส รสเข้ม (ฝาแฝดชายกับเจ้าจอมแปง)
๓. เจ้านางสามผิว ที่ได้ชื่อว่าสามผิว เพราะมีผิวกายเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช้า กลางวัน เย็น เป็นสีเขียว แดง และเหลือง (ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรงท้องร่วงตอนอายุ ๑๓ ปี เมื่อต้องตามบิดาลงไปแก้คดี )
๔. เจ้านางบัวไหล
เหตุที่ได้ชื่อว่า"บัวไหล" เพราะตอนที่เกิดนั้น พระยาไชยสงครามถูกเรียกตัวสอบสวนจากเมืองน่านมายังกรุงเทพฯ เนื่องจากต้องคดี เรื่อง ช่วยเจ้าหลวงนครน่าน ยกพลไปกวาดต้อนตีเอาเมืองหัวพันห้าทั้งหกที่แคว้นสิบสองปันนา กวาดต้อนเชลยศึกชาวไทลื้อชาวไทยอง มาไว้ที่เขตนาน้อยเมืองน่าน ทำให้อังกฤษร้องเรียนต่อสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ว่าพระยาไชยสงครามรังแกเมืองขึ้นของพม่า ซึ่งเวลานั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ดังนั้นจึงต้องเดินทางโดยเรือขณะที่น้ำน่านนองเต็มฝั่ง บิดาเลยตั้งชื่อให้ว่า "บัวไหล"
ต่อมาเมื่อพระยาไชยสงครามถูกไต่สวนตัดสินให้ปลดออกจากตำแหน่ง เจ้าไชยสงครามได้อพยพครอบครัวมาอยู่ที่เมืองแพร่ ตามคำชักชวนของเจ้าอินทวิชัย เจ้าหลวงเมืองแพร่ องค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์เทพวงศ์ (พ.ศ.๒๓๗๓-๒๔๑๕) แม่เจ้าบัวไหลจึงได้มาอยู่เมืองแพร่แต่เล็ก จนถึงสมัย เจ้าหลวงพิมพิสาร (พิมสาร หรือ เจ้าหลวงขาเค) เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ ๔ แห่งราชวงศ์เทพวงศ์ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เจ้าบัวไหลได้รับการศึกษาอบรมเยี่ยงเจ้านายในสมัยนั้น ทั้งการเรียนภาษาไทยล้านนา และด้านขนบธรรมเนียมประเพณี จนทำให้มีจริยาวัตรที่งดงาม เฉลียวฉลาด รอบรู้ทั้งการบ้านการเมือง
เมื่อเจ้าบัวไหลโตเป็นสาว ได้เสกสมรสกับเจ้าน้อยเทพวงศ์ ซึ่งต่อมาเป็น เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ ๕ แห่งราชวงศ์เทพวงศ์ ภายหลังจากเจ้าน้อยเทพวงศ์ได้เลิกร้างกับเจ้าบัวถา มหายศปัญญา ชายาคนแรก ไม่มีโอรสธิดาด้วยกัน
แม่เจ้าบัวไหล และเจ้าหลวงพิริยเทพวงษ์ ได้มีราชโอรส ราชธิดาร่วมกัน ๗ องค์
๑. เจ้ากาบคำ วราราช
๒. เจ้าเวียงชื่น (หรือ เมืองชื่น บุตรรัตน์)
๓. เจ้าสุพรรณวดี ณ น่าน
๔. เจ้ายวงคำ เตมียานนท์
๕. เจ้ายวงแก้ว เทพวงศ์
๖. เจ้าหอมนวล ศรุตานนท์
๗. เจ้าอินทร์แปลง หรืออินทร์แปง เทพวงศ์
พ.ศ. ๒๔๑๖ แม่เจ้าบัวไหลได้ปักคัมภีร์ด้วยด้ายไหมทองคำถวายวัดไชยอาราม (วัดพระบาทมิ่งเมือง)อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ มีข้อความบทหนึ่งเขียนว่า "ให้ได้เป็นยอดนารีเทียม ธ ท้าว ตนปราบด้าวธรณีแท้ดีหลีเทอะ" แปลว่า ขอปรารถนาเป็นกษัตริย์ผู้หญิง หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นมเหสีเคียงคู่เจ้าหลวง
พระคัมภีร์โบราณนี้ เป็นตัวอักษรธัมม์ล้านนา สร้างเมื่อปี จ.ศ.๑๒๓๕ (พ.ศ.๒๔๑๖) โดยในขณะนั้นแม่เจ้าบัวไหลมีอายุ ๒๓ ปี
ปัจจุบันผ้าไหมคัมภีร์ดังกล่าวมีอายุ ๑๔๙ ปี
นอกจากนี้ แม่เจ้าบัวไหลได้ปักผ้าม่าน และหมอนขวาน ตลอดจนเครื่องใช้ต่างๆ ถวายรัชกาลที่ ๕ จนเป็นที่โปรดปราน และได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดห้องพิเศษพร้อมทั้งพระราชทานชื่อว่า “ห้องบัวไหล” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นเกียรติประวัติอันสูงยิ่ง เพื่อแสดงถึงเจ้านายสตรีทางเหนือ เป็นผู้มีฝีมือในงานศิลปะปักเย็บอย่างยอดเยี่ยม
ซึ่งคุณสมบัติทักษะด้านการเย็บปักถักร้อย คงได้รับการสืบทอดมาจากแม่เจ้าอิ่นคำ ที่เป็นชาวยอง
แม่เจ้าบัวไหลได้รับการสถาปนาให้ดูแลเมืองแพร่ ก่อนที่เจ้าพิริยเทพวงษ์จะกลับจากราชการที่กรุงเทพมหานคร ชาวเมืองแพร่จึงเรียกขานเจ้าบัวไหลว่า "แม่เจ้าหลวง"
ซึ่งตรงตามคำกราบบังคมทูลของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวไว้ว่า "บัวไหลเป็นผู้หญิงดีในเมืองลาวเฉียง เวลาเจ้านครแพร่ลงมากรุงเทพฯก็ว่าราชการบ้านเมืองแทนสามี"
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ แม่เจ้าบัวไหล ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ ๓ ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายใน)
แต่ต่อมาวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๖ ถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เนื่องจากกรณีกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ดังที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๐ เพิ่มเติมแผ่นที่ ๒๘ วันที่ ๑๑ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒ (พ.ศ.๒๔๔๖) ดังต่อไปนี้
“ประกาศลัญจกราภิบาล ถอดบัวไหลออกจากสามัญสมาชิก ตติยจุลจอมเกล้า ด้วยบัวไหล ภรรยาน้อยเทพวงศ์ ไม่สมควรที่จะอยู่ในตำแหน่งสามัญสมาชิกา ตติยจุลจอมเกล้า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดบัวไหลออกจากตำแหน่งสามัญสมาชิกาเรียกดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืน และลบชื่อเสียจากพวกสามัญสมาชิกา ตั้งแต่วันที่ได้ออกราชกิจจานี้ไป วันที่ ๘ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒ (ลงพระนาม) พิทยลาภพฤฒิธาดา”
พ.ศ. ๒๔๕๔ แม่เจ้าบัวไหลเป็นแม่งานใหญ่ในการรับเสด็จสมเด็จพระพันปีหลวงคราวเสด็จเมืองแพร่
แม่เจ้าบัวไหลได้ครองเมืองร่วมกับเจ้าหลวงพิริยเทพวงษ์เป็นเวลา ๑๓ ปี (พ.ศ.๒๔๓๒ -๒๔๔๕) ก็เกิดการจลาจลกบฏเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๕ เจ้าหลวงพิริยเทพวงษ์ ต้องหลบภัยไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว และไม่ได้กลับมาอีกเลย จนกระทั่งถึงแก่พิราลัยที่นั่น
ส่วนแม่เจ้าบัวไหลพร้อมด้วยบุตรหลานได้อพยพไปอยู่กรุงเทพฯ ตามพระบรมราชโองการ ภายใต้การควบคุมดูแลของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นเวลา ๔-๕ ปี จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้กลับคืนบ้านเมืองได้
เหตุการณ์กบฏเงี้ยวในเมืองแพร่ในครั้งนั้น ยังผลทำให้ เจ้าแม่เวียงชื่น พระธิดาของเจ้าหลวงพิริยเทพวงษ์ พร้อมด้วยสวามีและข้าทาสในเรือนรวมกว่า ๔๐ ชีวิต ตัดสินใจกินยาตายรวมกันในคุ้ม จนภายหลังคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ได้รับการขนานนามว่าเป็นคุ้มที่เฮี้ยนที่สุดแห่งหนึ่งเลยทีเดียว
สำหรับภายหลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยว คุ้มเจ้าหลวงมีการเปลี่ยนมือผู้ดูแลไปหลายหน่วยงาน ทำให้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ภายในคุ้ม ว่ามีการพบผ้าไหมอยู่ผืนหนึงที่ยังทอไม่เสร็จ ภายหลังทราบว่าคือ ผ้าไหมที่แม่เจ้าบัวไหล ทอเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังไม่แล้วเสร็จก็เกิดกบฏเงี้ยวเสียก่อน
ในบั้นปลายของชีวิต แม่เจ้าบัวไหลได้ไปพำนักกับบุตรสาวคนเล็กและบุตรเขย ที่จวนข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย และได้ถึงแก่อนิจกรรมที่นั่น เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ รวมอายุได้ ๘๕ ปี
หากใครได้เคยดูละครดังเรื่อง “รอยไหม” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ และได้เคยศึกษาประวัติคุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้มาอย่างดีแล้วละก็ จะทราบว่า”ผีอีเม้ย”ไปคล้ายคลึงกับเรื่องราวของ "ผีอีตู้" ข้าในคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ที่มีความรักต่อเจ้านายยิ่งกว่าชีวิตตัวเอง โดยมีเรื่องเล่าว่า ในเหตุการณ์กบฏเงี้ยว อีตู้ โกรธแค้นแทนเจ้านายที่ถูกควบคุมความเป็นอยู่จากข้าหลวงบางคน จึงตัดสินใจหนีออกไปฆ่าลูกของนายอำเภอจนเสียชีวิต และถูกจับได้จนโดนโทษเฆี่ยนตีตัดหัวเสียบประจานกลางประตูเมือง
ตำนานยังเล่าอีกว่า อีตู้ ได้กลายเป็นผีวิญญาณที่รอรับใช้ และรอคอยการกลับมาขอเจ้านายสุดที่รักที่คุ้มหลวงแห่งนี้ ทั้งนี้ละครเรื่องรอยไหม ในฉากที่อีเม้ย นำแสดงโดย คุณชุดาภา จันทเขตต์ ถูกเฆี่ยนตีจนตาย ก็ถูกถ่ายทำในคุ้มหลวงเมืองแพร่แห่งนี้เช่นกัน
นอกจากนี้เรื่องราวของผ้าไหมที่ยังถักทอไม่เสร็จสมบูรณ์ตามในละครรอยไหม ก็ถูกดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของเจ้านางบัวไหลนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูล
: ฮักล้านนา
: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เคยมีแนวคิดจะนำเสนอให้เป็น “เอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก”
ขอขอบพระคุณภาพ / ข้อมูล
Cr. ค้นคว้าและเรียบเรียง Phanwipa Munikanon
Cr. เจ้าเจ็ดตน
: Yoong Ja
: ย้อนอดีตด้วยภาพ
: กลุ่มภาพเก่าในอดีตที่มีคุณค่า
อ้างอิงจาก: ฮักล้านนา ย้อนอดีตด้วยภาพ