เตือนภัย! อันตรายจาก "กระดาษเมา" มีฤทธิ์หลอนประสาท..อาจฆ่าตัวตายได้
เตือนภัย! เผยอันตรายจาก "กระดาษเมา" มีฤทธิ์หลอนประสาท..อาจฆ่าตัวตายได้ และทำร้ายผู้อื่นแบบไม่รู้ตัว ทั้งนี้กระดาษเมามักจะเรียกกันว่า "กระดาษมหัศจรรย์" หรือ "แสตมป์มรณะ" ก็ถือเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง หลายๆ คนต้องระวังตัวกันให้ดี เพราะมันมาในรูปแบบที่เราคาดไม่ถึงมาก่อน อาจจะทำให้เราหลงเข้าไปเสพได้โดยง่าย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มี.ค.67 ที่ผ่านมา ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ได้ออกมาแจ้งว่า ตามที่มีข้อมูลปรากฏในสื่อโซเชียล ถึงประเด็นเรื่องกระดาษเมามีฤทธิ์หลอนประสาทรุนแรง มีผลต่อการรับรู้ และการตัดสินใจ อาจถึงขั้นทำร้ายผู้อื่น และฆ่าตัวตายได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
กระดาษเมา สติกเกอร์เมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือแสตมป์มรณะ เป็นการนำสารแอลเอสดี (LSD) ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ออกฤทธิ์หลอนประสาท มาหยดลงบนกระดาษที่มีคุณสมบัติดูดซับ (blotter paper) มีลวดลาย และสีสันต่าง ๆ แล้วแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ มีลักษณะคล้ายแสตมป์ และนำมาอมไว้ใต้ลิ้น โดยสารแอลเอสดี (LSD) ที่อยู่ในกระดาษจะทำให้ผู้เสพรูม่านตาขยาย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตสูง และอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น เหงื่อออก นอนไม่หลับ ปากแห้ง ตัวสั่นและเบื่ออาหาร
สำหรับอาการในระยะแรกจะทำให้มึนศีรษะ เห็นแสงวูบวาบ เคลิ้มสุข หลังจากนั้นจะเกิดอาการประสาทหลอนอย่างรุนแรง เห็นภาพหลอน หูแว่ว ประสาทในการรับภาพ และสีผิดเพี้ยนไป เห็นภาพความทรงจำในอดีต เกิดอาการหวาดกลัว บางรายอาจทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายผู้อื่น และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
นอกจากนี้ การเสพสารแอลเอสดี (LSD) จะทำให้ผู้เสพมีปัญหาด้านการรับรู้ การคิด และการตัดสินใจ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง และผู้อื่น เช่น การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การทำร้ายตนเองและผู้อื่น หากมีการเสพเกินขนาดยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาทางจิตเรื้อรัง เช่น โรคจิตเภท หรือโรคซึมเศร้า เกิดอาการหวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน แม้จะหยุดใช้ยาแล้ว แต่อาการโรคจิตอาจเป็นซ้ำได้อีก การรักษาอาการดังกล่าวทำได้ยากและอาจต้องใช้เวลานาน เพื่อให้อาการทุเลาลง
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.pmnidat.go.th หรือโทร (02) 5310080 -8