ซึมเศร้าเรื้อรัง ภาวะความรู้สึกเศร้า ท้อแท้ หดหู่ แต่รักษาได้
โรคที่ใครหลายคนต้องอยู่กับความทุกข์ ทรมานเป็นระยะเวลานานหลายปี พยายามที่จะรักษาซึมเศร้าเรื้อรังแล้วแต่ก็อาการยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น โรคซึมเศร้าเรื้อรัง คือโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่ถูกแบ่งออกมาจากโรคซึมเศร้าที่เรียกกันว่า Dysthymia หรือ Persistent Depressive Disorder (PDD) ซึมเศร้าเรื้อรังจะผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อารมณ์ จิตใจ ความรู้สึก รวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยค่าเฉลี่ยอายุผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังของคนไทยอยู่ที่ 25 ปีขึ้นไป และประมาณการณ์จำนวนผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังอยู่ที่จำนวน 321,300 คน ถึงอาการจะไม่รุนแรงเท่ากับโรคซึมเศร้าก็ตาม แต่ก็ยังจำเป็นที่ต้องรับการรักษาอย่างถูกต้อง
อาการของซึมเศร้าเรื้อรัง Dysthymia
ซึมเศร้าเรื้อรัง อาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักจะแสดงอาการ เช่น รู้สึกเศร้า ท้อแท้ หดหู่ ร้องไห้ง่าย และสูญเสียความเป็นตัวเอง เช่น กิจกรรมที่เคยชอบทำก็จะกลับไม่สนใจกิจกรรมนั้นอีกเลย อาการของซึมเศร้าเรื้อรังในผู้ใหญ่จะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน 2 ปี ส่วนอาการของซึมเศร้าเรื้อรังในเด็ก หรือ วัยรุ่นจะเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 ปี และยังมีอาการอื่น ๆ ของภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง อาทิ
- รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง
- ไม่กล้าตัดสินใจ หรือตัดสินใจแก้ปัญหาได้ยากลำบาก
- รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า ไร้ความสามารถ
- การนอนเปลี่ยนไปแปลงจากเดิม นอนมากกว่าปกติ หรือนอนไม่หลับ
- กินอาหารได้ลดน้อยลง หรือกินอาหารเยอะกว่าเดิม
- คิดอยากจะทำร้ายตัวเอง
ระหว่างซึมเศร้าเรื้อรัง กับ โรคซึมเศร้าแตกต่างกันอย่างไร
ซึมเศร้าเรื้อรัง กับ โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองเหมือนกัน มีความแตกต่างกันตรงที่ ความรุนแรงของอาการ ระยะเวลาของอาการ วิธีรักษา และผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ความรุนแรงของอาการ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรังจะมีความรุนแรงของอาการน้อยกว่าผู้ป่วยในโรคซึมเศร้า
ระยะเวลาของอาการ ผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 2 ปี ส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอาการตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป
วิธีรักษา ผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังรักษาด้วยวิธี จิตบำบัด หรือใช้ยาต้านเศร้าโดสต่ำ ส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าวิธีรักษาเหมือนกัน แต่ยาต้านจะใช้โดสที่มากกว่า
ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึมเศร้าเรื้อรังจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันน้อยกว่าโรคซึมเศร้า
ซึมเศร้าเรื้อรัง เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
จากทางแพทย์ได้ระบุไว้ว่าซึมเศร้าเรื้อรัง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หรือสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ขึ้นอยู่ตัวบุคคล สาเหตุก่อเกิดโรคซึมเศร้าเรื้อรัง dysthymia ได้แก่
- สารเคมีในสมอง เกิดความไม่สมดุลจึงทำให้การทำงานของระบบส่วนสื่อสารในสมองผิดปกติ เช่น ซีโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดปามีน
- พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นซึมเศร้าเรื้อรังโอกาสที่ลูกจะเป็นซึมเศร้าเรื้อรัง จะสูงกว่าครอบครัวที่ไม่เคยมีประวัติ
- โรคภัยต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน
- อุบัติเหตุร้ายแรง เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย คุกคามทางเพศ รถชน สูญเสียคนรัก
- เหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลไว้ในจิตใจ เช่น ถูกรังแก กลั่นแกล้ง
- ปัญหาต่าง ๆ เช่น เข้าสังคมไม่ได้ การทำงาน เรียนหนังสือ และความกดดันที่ก่อให้เกิดความเครียด
การวินิจฉัยของซึมเศร้าเรื้อรัง
การวินิจฉัยของซึมเศร้าเรื้อรัง แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยอาศัยข้อมูลข้อผู้ป่วย เช่น สอบถามประวัติอาการ ตรวจสุขภาพร่างกาย ตรวจสุขภาพจิตใจ เกณฑ์วินิจฉัยโรคซึมเศร้าเรื้อรัง และตรวจวินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ
- สอบถามประวัติอาการ แพทย์ซักถามเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย เช่น รู้สึกเศร้า หดหู่ ท้อแท้ สูญเสียความสนใจ ปัญหาการนอนหลับ รู้สึกเหนื่อยล้า คิดช้า สิ้นหวัง ไร้ค่า อยากทำร้ายร่างกายตัวเอง อาการที่จะเข้าข่ายของซึมเศร้าเรื้อรัง และมีระยะเวลาเป็นของอาการนานกว่า 2 ปีรึเปล่า
- ตรวจสุขภาพร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุทางกายภาพที่อาจทำให้เกิดซึมเศร้าเรื้อรัง
- ตรวจสุขภาพจิตใจ ดูว่าผู้ป่วยเจอเหตุการณ์ที่มีผลกระทบจิตใจอาจทำให้เกิดซึมเศร้าเรื้อรัง
- เกณฑ์วินิจฉัยโรคซึมเศร้าเรื้อรัง แพทย์จะใช้เกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวชฉบับ DSM-5 (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders)
- ตรวจวินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ แพทย์ตรวจดูอาการที่มีความคล้ายคลึงกับซึมเศร้าเรื้อรัง เช่น โรควิตกกังวล โรคไบโพลาร์
วิธีรักษาซึมเศร้าเรื้อรัง
วิธีรักษาซึมเศร้าเรื้อรังมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ รักษาด้วยจิตบำบัด และ รักษาด้วยยาต้านเศร้า ซึ่งแต่ละวิธีจะขึ้นอยู่ความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละบุคคล แต่ถ้าผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังมีอาการที่รุนแรงอาจจำเป็นต้องรักษาร่วมด้วยกันทั้ง 2 วิธี
- รักษาด้วยจิตบำบัด ทางแพทย์จะพูดคุย รับฟังปัญหาของผู้ป่วย พร้อมให้คำแนะนำแนวทางการแก้ไขกับปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียด หรือก่อให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น เช่น ฝึกนั่งสมาธิ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนทางความคิด เป็นต้น
- รักษาด้วยยาต้านเศร้า เป็นยาที่จะช่วยปรับสมดุลสารสื่อประสาทในสมอง ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และยาซึมเศร้า มีราคาที่ค่อนข้างสูง
ซึมเศร้าเรื้อรัง อันตรายรึเปล่า?
หลายคนอาจจะเกิดข้อสงสัยที่ว่า ซึมเศร้าเรื้อรังอันตรายรึเปล่า? คำตอบ คืออันตราย ถึงแม้โรคซึมเศร้าเรื้อรังจะมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคซึมเศร้า แต่ก็ส่งผลกระทบต่อ พฤติกรรม ความคิด อารมณ์ สุขภาพ และจิตใจของผู้ป่วย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
ซึมเศร้าเรื้อรังสามารถรักษาให้หายขาดได้
ซึมเศร้าเรื้อรังเป็นอีกหนึ่งโรคที่มีสัญญาณบ่งบอกถึงการเกิดขึ้น หากเราหมั่นสังเกตตัวเองอยู่ตลอดเวลา และเรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในช่วงที่ยังไม่มีอาการ ซึมเศร้าเรื้อรังก็จะไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นกับคุณ แต่ในทางกลับกันหากคุณไม่สามารถรับมือแก้ไขปัญหาที่เข้ามาได้จนเกิดเป็นภาวะความเครียดสะสม จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งการเรียน หรือการทำงาน คุณควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาป้องกันความรุนแรงของอาการ และรักษาเพื่อหายจากโรคซึมเศร้าเรื้อรัง