พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มายาเทวี (บาลี: मायादेवी) หรือ สิริมหามายา เป็นพระมารดาของพระโคตมพุทธเจ้า พระศาสดาแห่งศาสนาพุทธ และเป็นพระเชษฐภคินี ของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ภิกษุณีรูปแรก ในพระพุทธศาสนา
เอกสารทางพุทธศาสนาระบุว่า พระนางสิริมหามายาสวรรคต หลังประสูติการพระโคตมพุทธเจ้า ได้เพียง 7 วัน เพราะสงวนครรภ์ไว้ แด่พระโพธิสัตว์เพียงพระองค์เดียว หลังจากนั้น พระองค์จึงจุติบนสวรรค์ตามคติฮินดู-พุทธ ส่วนพระราชกุมารนั้น ได้รับการอภิบาล โดยพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระขนิษฐา ที่ต่อมา ได้เป็นอัครมเหสี ในพระเจ้าสุทโธทนะ
พระนาม "มายา" เป็นคำสันสกฤต มีความหมายว่า "ภาพลวงตา" บ้างออกพระนามเป็นมหามายา (महामाया มายาผู้ยิ่งใหญ่) หรือมายาเทวี (मायादेवी พระนางมายา)
พระนางสิริมหามายา มีพระชนม์ชีพตอนต้นเป็นอย่างไร ไม่เป็นที่ทราบ ปรากฏความเพียงว่า เสด็จพระราชสมภพในวงศ์เจ้า ผู้ปกครองแคว้นโกลิยะ เป็นพระราชธิดา ของพระเจ้าอัญชนะแห่งโกลิยะ กับพระนางยโสธราแห่งสักกะ มีพระเชษฐาสองพระองค์ คือพระเจ้าสุปปพุทธะ และพระเจ้าทัณฑปาณิ และมีพระขนิษฐา คือพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระราชบิดาและพระราชชนนี เป็นเครือญาติกัน สืบมาแต่พระเจ้าโอกกากราช
ผู้สืบเชื้อสายจากพระเจ้าโอกกากราชนี้ แบ่งออกเป็นสองตระกูลคือ สักกะ (ศากยะ) กับโกลิยะ ซึ่งสายตระกูลโกลิยะ สืบมาจากเจ้าหญิงปิยา (หรือปริยา) พระราชธิดา ของพระเจ้าโอกกากราช ที่ถูกพี่น้องเนรเทศออกมาจากวัง ไปประทับอยู่ในป่า เพราะเป็นทรงประชวรพระโรคเรื้อน น่ารังเกียจ ปรากฏบนพระวรกาย เหมือนดอกทองหลาง ต่อมา ได้ทรงพบกับพระเจ้ารามะ อดีตเจ้าผู้ครองพาราณสี ที่ทรงพระประชวรพระโรคผิวหนังเช่นกัน ซึ่งสละราชสมบัติแก่พระราชโอรส และครองเพศฤๅษี ภายหลังทั้งสองพระองค์ จึงอยู่กินกัน และต่อมา ได้เสวยผลจากไม้โกลัน (ต้นกระเบา) จึงทรงหายจากพระโรคผิวหนัง ด้วยสำนึกในบุญคุณของต้นไม้นี้ จึงเรียกนามวงศ์ตระกูลตนเองว่า "โกลิยะ" แต่ใน สัมมาปริพพาชนิยสูตร อธิบายว่า ที่ชื่อโกลนคร เพราะสร้างพระนคร บริเวณที่เคยเป็นป่ากระเบามาก่อน ส่วนที่หายจากพระโรคเรื้อนนั้น ก็เพราะเสวยรากไม้และผลไม้ในป่า พระฉวี จึงหายจากการเป็นพระโรคเรื้อน กลับผ่องพรรณดุจทอง
อย่างไรก็ตาม สองตระกูล คือสักกะและโกลิยะ ถือตัวในระบบวรรณะยิ่ง ด้วยแต่งงานเกี่ยวดองกันภายในสองตระกูลเท่านั้น จะไม่แต่งงานกับตระกูลอื่นเด็ดขาด แม้ว่าจะเป็นวรรณะกษัตริย์จากเมืองอื่นก็ตาม แต่ดอนัลด์ เอส. โลเปซ (Donald S. Lopez) ศาสตราจารย์ด้านพุทธศาสนา และทิเบตศึกษา และริชาร์ด เอฟ. กอมบริช (Richard F. Gombrich) นักภารตวิทยา และนักวิชาการด้านภาษาบาลี-สันสกฤต และพุทธศึกษา อธิบายว่า ช่วงเวลานั้น อิทธิพลของพระเวท ไม่น่าจะเข้าถึงแคว้นทั้งสอง รวมทั้งการเสกสมรสในหมู่เครือญาตินั้น เป็นเรื่องต้องห้าม ของสังคมอารยัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ตระกูลทั้งสองนี้ อาจมิได้สืบเชื้อสายชาวอารยัน
อรรถกถาอัปปายุกาสูตร ระบุว่า แต่เดิมพระนางสิริมหามายา เป็นเทพบุตรอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ได้อธิษฐาน ขอเป็นพุทธมารดา ชาตินี้ จึงประสูติมาเป็นสตรี ทั้งได้ขอมีพระชนม์เพียงเจ็ดวันหลังประสูติกาล เพราะสงวนพระครรภ์ ไว้แก่พระโพธิสัตว์เพียงพระองค์เดียว และเพื่ออยู่เชยชมพระโฉมพระโพธิสัตว์ ก่อนเสด็จสวรรคต กลับไปจุติบนสวรรค์ชั้นดุสิต
พระนางสิริมหามายา ทรงอภิเษกสมรสระหว่างเครือญาติ กับพระเจ้าสุทโธทนะแห่งสักกะ ตามพระราชประเพณี หลังการอภิเษกสมรส 20 ปี พระองค์ก็มิได้ทรงพระครรภ์ จนกระทั่งในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก่อนพุทธศักราช 81 ปี ขณะนั้น พระองค์ในช่วงมัชฌิมวัย พระองค์ทรงพระสุบินว่า จาตุมหาราชิกา ยกพระแท่นบรรทมของพระองค์ ไปยังป่าหิมพานต์ เทพทั้งสี่ได้กราบบังคมทูล เชิญให้พระองค์สรงน้ำในสระอโนดาต ชำระพระองค์ด้วยเครื่องหอมนานาชนิด แล้วเสด็จขึ้นบรรทม ณ พระแท่นภายในวิมานทอง บนภูเขาสีเงิน ทรงบ่ายพระพักตร์ไปทิศตะวันออก ขณะนั้น มีพญาช้างเผือก นำดอกบัวขาว กลิ่นหอมแรกแย้มมาถวาย ก่อนร้องเสียงดัง แล้วเดินทักษิณาวัตร รอบพระแท่นสามรอบ ครั้นรุ่งขึ้น จึงกราบบังคมทูลแก่พระภัสดา ถึงนิมิตนั้น พระเจ้าสุทโธทนะ จึงมีรับสั่งให้โหรประจำราชสำนักทำนาย ซึ่งโหรหลวงได้ทำนายไว้ว่า "พระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์ พระองค์จักมีพระราชโอรส พระราชโอรสนั้น ถ้าอยู่ครองราชย์ ก็จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าเสด็จออกบวช จักได้เป็นพระพุทธเจ้า"
ครั้นเมื่อพระครรภ์ครบถ้วนทศมาส กับอีกเจ็ดวัน พระนางสิริมหามายา จึงกราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต พระราชสวามี เพื่อเสด็จแปรพระราชฐาน ไปยังเทวทหะอันเป็นมาตุภูมิเพื่อประสูติการพระราชโอรส ตามราชประเพณีนิยม ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน ได้ทรงหยุดพักพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ ป่าลุมพินี ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อนั้น พระองค์จึงประชวรพระครรภ์ และทรงยืนเหนี่ยวกิ่งสาละ ประสูติการพระราชโอรส เมื่อวันศุกร์ เพ็ญเดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เมื่อพระกุมารประสูติขึ้น ทรงพระดำเนิน 7 ก้าว โดยมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ ผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ทรงยกพระหัตถ์ขวา แล้วทรงชี้พระดัชนีขึ้นฟ้า แล้วกล่าวอภิวาทวาจาอย่างน่าอัศจรรย์ อันมีความหมายว่า "เราเป็นผู้เลิศที่สุดในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา ชาติอื่น ภพอื่นจะไม่มีอีก" หรืออาจแปลว่า "เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ ความเกิดอีกมิได้มี"
ซึ่งกรณีที่พระพุทธเจ้าเดินได้ เมื่อแรกประสูตินั้น พุทธทาสภิกขุ อธิบายว่า การเดินได้เจ็ดก้าวนั้นเป็นปริศนาธรรมมากกว่า เพราะสื่อถึงโพชฌงค์ 7 ประการ หาใช่เกิดจากอภินิหารพิเศษ จาการเป็นโพธิสัตว์จึงทำให้เดินได้แต่ประการใด
หลังประสูติกาลพระราชกุมารได้สามวัน อสิตดาบส (Asita) หรือกาฬเทวิลดาบส (Kāḷadevil) นักบวชที่คุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะ ได้เดินทางมาชื่นชมพระบารมีของพระกุมาร และเมื่อได้ตรวจลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการอย่างละเอียด จึงก้มกราบพระกุมารด้วยความเคารพ พร้อมกับกำสรวล และหัวเราะไปด้วย สร้างความแปลกพระทัยแก่พระเจ้าสุทโธทนะยิ่งนัก พระเจ้าสุทโธทนะจึงทูลถามดาบสว่าเป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด อสิตดาบสจึงตอบพระราชปุจฉาว่า "ที่หัวเราะเพราะตื้นตันใจ ที่ได้เจอพระกุมาร ที่มีบุญญาบารมี มีลักษณะมหาบุรุษครบ 32 ประการ นับว่า หาไม่ได้ในภัททกัปป์นี้ อาตมา มีวาสนาแท้ที่ได้เห็น และที่ร้องไห้ เพราะพระโอรสเจริญวัยขึ้น จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาเอกของโลก พระองค์จะแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลางและที่สุด เสียดายที่อายุอาตมาภาพแก่เกินไป คงไม่อาจได้สดับฟังคำสอนของพระองค์ จึงอดกลั้นน้ำตาไม่ไหว"
หลังจากประสูติกาลพระราชกุมาร ได้ห้าวัน พระเจ้าสุทโธทนะ ได้อัญเชิญพราหมณ์ 108 ตน ที่เจนจบไตรเพท มาในพระราชวัง พราหมณ์ทั้งหลายขนานพระนามพระกุมารว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "ผู้มีความต้องการอันสำเร็จ"
หลังประสูติกาลพระราชกุมารได้เจ็ดวัน พระนางสิริมายามายาก็สวรรคต สร้างความโศกาอาดูร แก่พระเจ้าสุทโธทนะ และพระประยูรญาติอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ เจ้าชายสิทธัตถะ จึงอยู่ภายใต้การอภิบาลของพระนางปชาบดีโคตมี พระขนิษฐาพระนางสิริมหามายา ซึ่งต่อมา ได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ มีพระราชโอรส-ธิดาสองพระองค์คือ เจ้าชายนันทะ (Nanda) และเจ้าหญิงรูปนันทา (Rūpanandā) ส่วนพระนางสิริมหามายา ได้ไปจุติเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดุสิต
หลังพระโคตมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มีดำริ ที่จะสนองพระคุณพุทธมารดา ด้วยการแสดงธรรมเทศนา ด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม จึงเสด็จขึ้นไปแสดงธรรมบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระอินทร์เห็นพุทธองค์ เสด็จขึ้นมายังสรวงสวรรค์นั้น ก็เกิดปีติเกษมสานต์ ประณมหัตถ์อภิวาท ขอประกาศให้เทวดาทุกชั้นฟ้ามาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อสดับพระธรรมเทศนา ซึ่งพระพุทธเจ้า ได้มีพระประสงค์ ให้พุทธมารดาขึ้นมา ณ ที่ประชุมเทวดา แต่มิทรงทอดพระเนตรเห็น จึงทูลถามพระอินทร์ เมื่อพระอินทร์ทราบถึงความประสงค์ของพุทธองค์ จึงเสด็จไปทูลเชิญพุทธมารดา ที่ประทับอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ตามพุทธประสงค์ เมื่อพระพุทธองค์ ทอดพระเนตรเห็นพระนางสิริมหามายาแล้ว ก็ทรงปีติโสมนัสยิ่ง จึงยกพระหัตถ์เบื้องขวา กวักทูลเชิญพระมารดาเข้ามาใกล้ๆ เพื่อประกาศพระคุณแห่งมารดา แก่เทวดาทั้งหลายที่มาชุมนุม ณ ที่นั้น ก่อนจะแสดงพระอภิธรรมเจ็ดพระคัมภีร์ เมื่อจบพระคัมภีร์ที่เจ็ด พระนางสิริมหามายา ก็บรรลุพระโสดาปัตติผล สมประสงค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจึงเสด็จกลับโลกมนุษย์ เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
ในวรรณคดีทางพุทธศาสนา และงานพุทธศิลป์ พระนางสิริมหามายา จะมีภาพลักษณ์ของพระชนนีที่ทรงพระสิริโฉม ดังปรากฏใน ลลิตวิสตรสูตร ความว่า
"ประกายความงามของพระนาง ดุจทองคำบริสุทธิ์ พระเกศาหยักหอมจรุง ขลิบนิลคล้ายผึ้งสีดำใหญ่ ดวงเนตรดุจกลีบปทุมชาติ พระทันต์เรียงงาม ดั่งดวงดาราบนฟ้าสุราลัย"
ประติมากรรมเกี่ยวกับพระองค์ มักจะมาจากฉากที่พระองค์ ทรงสุบินนิมิตเห็นพระยาช้างเผือก และฉากที่พระองค์ ได้ให้ประสูติกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ป่าลุมพินี โดยทรงยืนหนี่ยวกิ่งสาละ มิแรนดา ชอว์ (Miranda Shaw) นักวิชาการพุทธศาสนาอธิบายว่า ในฉากที่พระนางสิริมหามายา ประสูติพระพุทธเจ้านั้น จะมีการสอดแทรกภาพของยักขินี ซึ่งเป็นนางไม้ชนิดหนึ่งไว้ด้วย
จากพระสุบินนิมิต ของพระนางสิริมหามายา ก่อนจะมีการปฏิสนธิในครรภ์ ตามพุทธประวัติฉบับบาลี ได้ระบุว่า พระนางสิริมหามายา ไม่ได้มีการร่วมเพศกับพระราชสวามีช่วงทรงครรภ์ หรือเสพกามรสอื่นใด แต่เหตุผลนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า เจ้าชายสิตธัตถะ ไม่ได้เกิดจากการร่วมเพศ ระหว่างพระบิดาและพระมารดา อย่างไรก็ตาม ด้วยความคล้ายคลึงบางประการนี้ จึงถูกผูกเข้ากับเรื่องราวการประสูติ ของพระเยซูด้วย
ซี. พี. ทุนดี (Z. P. Thundy) ได้ตรวจสอบความคล้ายคลึงกัน ระหว่างของการประสูติพระพุทธเจ้าโดยพระนางสิริมหามายา กับพระเยซู โดยพระนางมารีย์พรหมจารี ซึ่งพบว่ามีส่วนคล้ายกัน แต่ก็มีส่วนที่ต่างออกไป เช่น พระนางมารีย์ถึงแก่มรณกรรม จึงถูกยกขึ้นสวรรค์ แต่พระนางสิริมหามายา สวรรคตหลังประสูติกาลพระพุทธเจ้าไม่นาน เช่นเดียวกับพุทธมารดาองค์ก่อนหน้า แม้ทุนดี จะมิได้ยืนยันว่า มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆ ที่เชื่อมโยงว่า การประสูติของพระเยซู รับความเชื่อมาจากคติพุทธศาสนา แต่เขาระบุว่า "คงถึงเวลาแล้ว ที่นักวิชาการคริสต์ศาสนา จะพิจารณาความเชื่อทางพุทธศาสนา สำหรับการค้นหาแนวคิดเรื่องการประสูตินี้"
ทั้งนี้ ได้มีนักวิชาการบางส่วน ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกัน ของการกำเนิดพระศาสดา เป็นต้นว่าพอลา เฟรดริกเซน (Paula Fredriksen) กล่าวว่า ไม่มีงานวิจัยใดพบว่า พระเยซู ทรงออกจากความเป็นยิวปาเลสไตน์ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 ส่วนเอ็ดดีและบอยด์ (Eddy and Boyd) กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จากแหล่งข้อมูลภายนอก ของผู้เขียนพันธสัญญาใหม่ และนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าอิทธิพลที่เข้ามาในศาสนาคริสต์ ช่วงศตวรรษแรกนั้น ไม่เชื่อถืออย่างสิ้นเชิง เพราะชาวยิวกาลิลี ที่ยึดถือความเชื่ออย่างเอกเทวนิยมนั้น จะไม่ยอมรับความเชื่อ ของลัทธินอกศาสนา
ที่มา: วิกิพีเดีย