อาหารที่มีคาเฟอีน
คาเฟอีนส่วนใหญ่จะใช้เพื่อเพิ่มความตื่นตัว แต่ก็มีผลข้างเคียงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง หากบริโภคคาเฟอีนในปริมาณมาก ไม่ว่าจะในคราวเดียวหรือตลอดทั้งวัน อาจทำให้รู้สึกกระวนกระวายใจ หงุดหงิด หรือคลื่นไส้ได้ มีอาการของความวิตกกังวล หัวใจเต้นแรง กระวนกระวายใจ และปวดศีรษะ ปริมาณคาเฟอีนในแต่ละคนรับได้แตกต่างกัน บางคนสามารถดื่มหลายแก้วในหนึ่งวัน ในขณะที่บางคนรู้สึกไม่สบายหลังจากดื่ม ทำให้บางคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงคาเฟอีน โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ ไมเกรน หรือความดันโลหิตสูง ในขณะเดียวกัน การถอนคาเฟอีนอาจทำให้รู้สึกง่วงซึม หงุดหงิด และไม่มีสมาธิได้ ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกินสองสามวัน แต่ไม่ได้หมายความว่าคาเฟอีนหรือกาแฟไม่ดีเสมอไป สารประกอบบางอย่างในกาแฟก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
ปริมาณ คาเฟอีนที่แนะนำให้บริโภคต่อวันไม่ควรเกิน 400 มก. สตรีมีครรภ์ควรดื่มไม่เกิน 200 มก. ต่อวัน คาเฟอีนในกาแฟจะขึ้นอยู่กับความแรงของเมล็ดกาแฟและจำนวนช็อต เช่น เมล็ดกาแฟในร้านกาแฟ สามารถมีได้ถึง 180 มก. ต่อแก้ว แม้แต่กาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนก็อาจมีคาเฟอีนอยู่เล็กน้อย ประมาณ 2 มก.ในกาแฟหนึ่งแก้ว
คาเฟอีนค้างอยู่ในระบบนานหลายชั่วโมงหลังการบริโภค แนะนำให้หลีกเลี่ยงคาเฟอีนประมาณแปดชั่วโมงก่อนเข้านอน ดังนั้นควรระวังการดื่มน้ำอัดลม ชา และช็อคโกแลตในช่วงบ่ายและเย็น คาเฟอีนทำงานโดยการปิดกั้นผลกระทบของสารสื่อประสาทในสมองที่เรียกว่าอะดีโนซีน ซึ่งทำให้รู้สึกเหนื่อย ร่างกายจึงตื่นตัว และนอนหลับได้ยากขึ้น
นอกจากกาแฟแล้ว อาหารบางชนิดก็ทำให้เกิดปัญหาการนอนหลับได้เนื่องจากมีคาเฟอีน ไปดูกันว่าจะมีอาหารชนิดไหนบ้าง
- ดาร์กช็อกโกแลต
แม้ว่าดาร์กช็อกโกแลตจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพแต่ก็ไม่แนะนำให้รับประทานก่อนนอน ในดาร์กช็อกโกแลตแท่ง 100 กรัม ที่มีปริมาณโกโก้สูง 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป มีคาเฟอีนประมาณ 80 มก. ถ้าเป็นช็อกโกแลตนมหนึ่งแท่ง จะมีคาเฟอีนโดยเฉลี่ย 20 มก. แต่ช็อกโกแลตนมก็จะมีปริมาณน้ำตาลที่สูงกว่า ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ทานช็อกโกแลตทั้งสองชนิดใกล้กับเวลานอนมากเกินไป
- ชา
เครื่องดื่มร้อนอื่นๆ เช่น ชา ก็อาจมีคาเฟอีนเช่นกัน ชาเกือบทุกชนิดรวมทั้งชาเขียว มีคาเฟอีนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในชาหนึ่งแก้วมีคาเฟอีนประมาณ 30 ถึง 50 มก. ซึ่งปริมาณคาเฟอีนจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของชา
ชาที่ไม่มีคาเฟอีน ได้แก่ ชาคาโมมายล์ ชาผลไม้ และชาเปปเปอร์มินต์
- เครื่องดื่มอัดลม
ในเครื่องดื่มน้ำอัดลมหลายชนิดไม่ใช่มีแค่ปริมาณน้ำตาลที่สูงที่อาจทำให้เกิดความกังวลได้เท่านั้น แต่ยังมีคาเฟอีนในปริมาณสูงด้วย เช่น โคคา-โคลาหนึ่งกระป๋องมีคาเฟอีน 34 มก. โดยเฉลี่ย ไม่ว่าจะเลือกแบบปกติหรือแบบอื่นๆ ซึ่งปริมาณคาเฟอีนนั้นพอๆ กับชาหนึ่งแก้ว
- ไอศกรีม
ไอศกรีมบางรสชาติก็อาจมีคาเฟอีนเช่นกัน ไอศกรีมรสกาแฟบางชนิดเพียงสองสกู๊ปอาจมีคาเฟอีนมากกว่า 50 มก. ไอศกรีมช็อกโกแลตอาจมีคาเฟอีนกระตุ้นได้เช่นกัน
- เบเกอรี่
ขนมหวานช่วยให้ตื่นตัวได้เช่นกัน เช่น ทีรามิสุ ซึ่งเป็นของหวานที่มีคาเฟอีนเนื่องจากมีกาแฟอยู่ด้วย เค้กช็อกโกแลต เค้กดาร์กช็อกโกแลตลาวา หรืออะไรก็ตามที่มีดาร์กช็อกโกแลตก็จะมีคาเฟอีนเล็กน้อย
- คอมบูชา
คอมบูชาเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่รักสุขภาพ เป็นเครื่องดื่มหมักที่ว่ากันว่าให้ประโยชน์ต่อสุขภาพของลำไส้ แต่ทำจากใบชาซึ่งมีคาเฟอีนตามธรรมชาติ คอมบูชา 250 มล. มีคาเฟอีนได้ถึง 15 มก.