ทำไมทุนจีนสนใจซื้อมหาวิทยาลัยไทย
ธุรกิจด้านการศึกษาของจีน แต่เดิมเป็นการเข้ามาเรียนในไทยแบบปากต่อปาก ต่อมาก็ทำเป็นระบบเอเย่นต์ โดยเริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษาจีนที่เคยเข้ามาเรียนในไทยแล้วเห็นลู่ทางก็กลับเข้ามาทำเป็นธุรกิจ ซึ่งมีการเก็บค่าคอมมิชชั่น ค่าดำเนินการ ต่อมาตอนหลังก็เริ่มขยายเป็นบริษัท ซึ่งเอเย่นต์จีนจะรู้จักกันหมดและพวกเขาจะไม่ทับเส้นกัน ในแถบอาเซียนไทยนับว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับตัวเลือกอย่างสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย เพราะการมาเรียนที่ไทยนั้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า การที่คนจีนมาเรียนที่ไทยมากขึ้นเพราะมหาวิทยาลัยจีนมีที่นั่งจำกัด จีนเองก็ให้ที่นั่งเด็กเก่งจากนานาชาติ เมื่อนักศึกษาจากนานาชาติเข้าไปเรียนในจีนมากขึ้น จึงกดดันให้นักศึกษาจีนต้องแสวงหาที่เรียนนอกประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลท้องถิ่นจีนยังให้สิทธิพิเศษหลังจากเรียนจบ ได้แก่ สิทธิย้ายทะเบียนบ้าน สิทธิยกเว้นภาษีทำธุรกิจปีแรก และให้เงินลงทุนสนับสนุนก้นถุง เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะจีนกลัวว่าปัญหาการเมืองในประเทศจะทำให้สมองไหล
การรุกคืบของทุนจีนในมหาวิทยาลัยไทย เริ่มตั้งแต่ก่อนการเกิดโควิด แรงจูงใจที่นักลงทุนจีนเข้ามาร่วมทุนนอกจากความต้องการในการมาเรียนที่ไทยที่เพิ่มขึ้น เพราะนักศึกษาจีนมีมากขึ้นทุกปีจากปัญหาเรื่องที่เรียนในจีนที่มีไม่เพียงพอ นักลงทุนจีนที่เป็นเอเยนต์นำชาวจีนมาเรียนที่ไทยกว่า 10 ปีจึงเห็นว่าแทนที่จะเป็นแค่เพียงตัวแทนจัดการส่งนักศึกษาเข้ามาเรียน การมีมหาวิทยาลัยเป็นของตัวเองน่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดี เพราะจากการผูกขาดการส่งนักศึกษาของเอเย่นต์ ที่เหมือนทับเส้นกันไม่ได้ทำให้ขยายธุรกิจไม่ได้ การเข้าซื้อมหาวิทยาลัยจึงเป็นทางเลือก ซึ่งเป็นการทำธุรกิจโดยการซื้อแบบสำเร็จรูป โดยมองหาว่ามีมหาวิทยาลัยไหนที่กิจการไปไม่ไหว หรือจะเลิกกิจการบ้าง นักธุรกิจจีนก็จะเข้าไปร่วมทุน แต่เขาก็จะคิดก่อนว่าลงทุนไปแล้วจะคุ้มไหม เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เขาจะเลือกมหาวิทยาลัยที่ต่อยอดไปทำกำไรได้ และส่วนใหญ่เขาจะมองว่าทางมหาวิทยาลัยเอกชนเองก็ต้องการเงินทุนเพื่อให้อยู่ได้
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยของมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งก่อนหน้าที่ชาวจีนจะมาร่วมทุน มหาวิทยาลัยเกริก ประสบปัญหามีนักศึกษาไทยน้อยลงอยู่ระดับ 300-400 คน เมื่อนักลงทุนจากจีนสนใจที่จะมาร่วมทุน จึงเป็นทางรอดของมหาวิทยาลัย ทำให้จีนเข้ามาถือหุ้นกิจการของมหาวิทยาลัยเกริก จำนวน 49% ตามเพดานสูงสุดที่กฎหมายไทยอนุญาตตั้งแต่ปี 2561 แต่เนื่องจากการเกิดการระบาดของโควิด 19 นักศึกษาจีนจึงกลับประเทศ จนสถานการณ์ดีขึ้นจึงกลับมาเปิดเรียน on site ที่ไทย
การเพิ่มขึ้นของนักศึกษาจีนและการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการเปิดหลักสูตรนานาชาติ เพื่อรองรับนักศึกษาจีนทั้งในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนนั้นมาพร้อมกับความน่ากังวลของคุณภาพการศึกษา ในบางมหาวิทยาลัยซึ่งสอนหลักสูตรนานาชาติเป็นภาษาอังกฤษ ประสบปัญหาเรื่องความสามารถทางภาษาของนักศึกษาจีน ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าล่ามมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาจีนจ้างมาแปลเป็นภาษาจีน หรือบางแห่งแม้ชื่อเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษแต่อาจารย์กลับสอนภาษาไทยเพื่อให้สะดวกต่อการจัดหาล่ามแปลภาษาไทยเป็นภาษาจีนที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าล่ามภาษาอังกฤษแปลเป็นภาษาจีน ขณะที่อาจารย์สอนไปล่ามก็จะแปลภาษาจีนไปในห้องเรียนเลย และยังพบการจ้างการเขียนวิทยานิพนธ์ในมหาวิทยาลัยบางแห่งด้วย
นอกจากนี้การเข้ามามากขึ้นของนักศึกษาจีนด้านหนึ่งยังกระทบนักศึกษาไทยในแง่การเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสในการเข้าเรียน เพราะการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการเข้ามาของนักศึกษาจีนจำนวนมากก็ทำให้ไม่อาจทราบได้ว่ามีผู้ที่แอบแฝงทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาครัฐที่จะควบคุมดูแลทั้งการศึกษาและการเข้ามาของธุรกิจจีนในไทย