รางวัลที่ 1 แรกของประเทศไทย
1672 รางวัลที่ 1 แรกของประเทศไทย
🎰
ย้อนประวัติ ‘สลากกินแบ่งรัฐบาล’ ของไทย จาก 1 บาท สู่ 80 บาท
ย้อนกลับไปราว 147 ปีก่อน หรือปี 2517 ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้กรมทหารมหาดเล็กออก “ลอตเตอรี่” เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เนื่องจากในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งหลายๆ คนอาจเคยได้ยินชื่อนายเฮนรี่ อาล บาสเตอร์ หรือครูอาลบาสเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการในการออกลอตเตอรี่ โดยได้มีการศึกษาและทำตามแบบของยุโรป
เริ่มพิมพ์ครั้งแรก 20,000 ฉบับ ราคาฉบับละ 1 ตำลึง หรือ 4 บาท โดยรางวัลที่ 1 จะได้รับเงินรางวัล 100 ชั่ง หากเทียบตามมาตราเงิน จะเท่ากับราว 8,000 บาทในปัจจุบัน รางวัลที่ 2 ได้รับ 50 ชั่ง หรือราว 4,000 บาท และรางวัลที่ 3 ได้รับ 25 ชั่ง หรือ 2,000 บาท ซึ่งลอตเตอรี่ในยุคนั้นยังมีตัวเลขเพียง 4 หลักเท่านั้น ซึ่งขณะนั้นเลขรางวัลที่ออกครั้งแรกและครั้งเดียวที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 คือ 1672 ส่วนรางวัลที่ 2 คือ 1425 และรางวัลที่ 3 คือ 3662
ส่วนการออกลอตเตอรี่ครั้งที่ 2 นั้น ล่วงเลยมาอีกครั้งในปี 2460 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกสลากลอตเตอรี่ของสภารักชาติ ประเทศอังกฤษ จำหน่ายใบละ 5 บาท โดยมีเงื่อนไขการจ่ายเงินรางวัล เป็นสัญญาเงินกู้ของคณะกู้เงินในการสงคราม โดยมีสภารักชาติแห่งประเทศอังกฤษ สาขากรุงเทพ เป็นผู้ลงนาม และมีประเทศสหพันธรัฐมลายู เป็นผู้ค้ำประกัน
และการออกลอตเตอรี่อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นการออกลักษณะพิเศษ คือ ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท เพื่อหารายได้ซื้อปืนพระราชทานให้กองเสือป่า และรัชกาลที่ 6 พระราชทานปืนรุ่นนี้ว่า ปืนพระราม 6 ซึ่งมีข้อมูลของหอจดหมายเหตุระบุว่า การออกลอตเตอรี่ได้ออกครั้งนี้และเงียบไป เนื่องจากเกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง
หลังจากนั้น 10 ปี ราวปี 2476 รัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายที่จะลดการจัดเก็บเงินรัชชูปการ หรือเงินที่เรียกเก็บจากชายไทยที่ไม่ต้องรับราชการทหาร ทำให้รัฐขาดรายได้ส่วนนี้ไป รวมถึงเพื่อนำรายได้ไปใช้จ่ายในด้านการศึกษาและพยาบาล จึงเกิดโครงการออกลอตเตอรี่รัฐบาลขึ้น เรียกว่า "ลอตเตอรี่รัฐบาลสยาม" ให้กรมสรรพกรเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งมีการพิมพ์ออกจำหน่ายทั้งหมด 1 ล้านฉบับ ฉบับละ 1 บาท โดยใน 1 ปีจะออกรางวัล 4 งวด
ขณะเดียวกันในปีต่อมา คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยออก “สลากกินบำรุงเทศบาล” โดยวัตถุประสงค์คือเพื่อนำเงินไปบำรุงกิจการทางเทศบาล ทั้งนี้กำหนดว่าหากเดือนไหนออกสลากให้งดจำหน่ายสลาก โดยเริ่มจำหน่ายงวดแรกเดือน พ.ย.2478 และเริ่มออกสลากเดือน เม.ย.2479 ทั้งหมด 500,000 ใบ ฉบับละ 1 บาท ก็มีการออกสลากมาเรื่อยๆ ด้านกระทรวงมหาดไทยและกรมสรรพากร
และยุคที่มีการดำเนินการสลากกินแบ่งรัฐจริงจัง คือ ปี 2482 รัฐบาลพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้โอนย้ายกิจการสลากกินแบ่งรัฐบาล และสลากบำรุงเทศบาล ให้มาสังกัดกระทรวงการคลัง และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งประธานกรรมการคนแรกคือ พระยาพรหมทัตศรีพิลาส หลังจากนั้นปี 2494 ได้ตั้งกองการพิมพ์เพื่อพิมพ์สลากเอง หลังจากนั้นก็มีการออกสลากเรื่อยมา และมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น เช่น 2 บาท 3 บาท 4 บาท 6 บาท 10 บาท 20 บาท เป็นต้น