"บ้านแม่ดึ๊"หมู่บ้านชายแดนสาละวินอดีตหมู่บ้านนอกแผนที่ประเทศไทย
ในหมู่บ้านชายแดนติดแม่น้ำสาละวินทางทิศตะวันตกของประเทศไทย "บ้านแม่ดึ๊"เมื่อ 39ปีที่แล้ว เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ไม่ได้จัดอยู่ในฐานข้อมูลสารบทแผนที่ประเทศไทย คนในหมู่บ้านทั้งหมดที่เป็นรุ่นพ่อแม่ ซึ่งเป็นคนกะเหรี่ยงที่หนีภัยการสู้รบจากประเทศพม่ามาตั้งรกรากและอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 นั้นไม่ได้รับการสำรวจประชากร ทำให้กลายเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับสวัสดิการใด ๆ จากรัฐบาลไทย โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่จะต้องเติบโตเป็นพลเมืองคนหนึ่งของประเทศ ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือภาษาไทย พวกเขามีโอกาสเพียงได้เรียนภาษาชนเผ่ากะเหรี่ยงและภาษาอังกฤษบ้างจากครู"โซมุ" ที่ถือเป็นครูคนแรกของหมู่บ้าน
จากเมื่อ 35 ปีที่ผ่านมาสู่ปัจจุบันหมู่บ้านแม่ดึ๊มีครัวเรือนทั้งหมด 31 ครอบครัว ประชากรทั้งหมด 156 คน เด็ก ๆ ได้รับสัญชาติไทยแล้ว 58 คน ทำให้มีโอกาสเข้าถึงรัฐสวัสดิการของรัฐ เด็ก ๆ มีโอกาสเรียนหนังสือ ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย สามารถออกสู่โลกภายนอกเดินทางไปที่ไหนก็ได้ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เด็ก ๆ เหล่านั้นจะเติมเต็มความรู้ความสามารถจากการออกมาเรียนและหาประสบการณ์จากโลกภายนอก เพื่อกลับมาพัฒนาหมู่บ้านแม่ดึ๊ของเขาในอนาคต
การเดินทาง สู่หมู่บ้านแม่ดึ๊นั้น สามารถเดินทางได้ทั้งทางเรือและรถยนต์ โดยทางเรือนั้น เริ่มจากการเดินทางโดยรถยนต์จาก อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มุ่งหน้าเข้าสู่หมู่บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยลงเรือที่ท่าเรือแม่สามแลบ และนั่งเรือทวนน้ำสาละวินขึ้นไปบ้านแม่ดึ๊อีกประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนทางรถยนต์นั้นเริ่มเดินทางจากอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ผ่านเข้าไปยังหมู่บ้านโพซอ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ขับรถลัดเลาะเส้นทางตามไหล่เขามุ่งไปยังหมู่บ้านแม่ดึ๊ ประมาณ 2 ชั่วโมงถึงทางแยกเส้นทางขับรถมอเตอร์ไซค์เข้าหมู่บ้านอีก 1 ชั่วโมงก็ถึงยังบ้านแม่ดึ๊ (บ้านแม่ดึ๊ ยังไม่มีถนนรถยนต์ตัดผ่านเข้าสู่หมู่บ้าน)
ทุกครั้งที่ผู้เขียนมายังหมู่บ้านนี้ เช้า ๆ จะออกมาเดินเที่ยวดูริมน้ำสาละวิน ลงมามองดูน้ำสาละวินที่ไหลผ่านยังหมู่บ้านชายแดนทั้งฝั่งไทยและพม่า มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากมายทั้งจากความแก่งแย่งชิงดี ความเอารัดเอาเปรียบของมนุษย์ด้วยกันเอง วิถีชีวิตริมน้ำที่เรียบง่ายและความสวยงามของธรรมชาติที่ยังคงอุดมสมบูรณ์
วันนี้แม่ดึ๊ในอดีต สู่ปัจจุบันที่มีความเจริญทางด้านวัตถุหลาย ๆ อย่างเข้ามาเติมเต็ม ทั้งเรื่องสาธารณสุขชุมชนที่ชาวบ้านเข้าถึง โรงเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยหรือ กศน.ที่ชาวบ้านและเด็ก ๆ สามารถเข้าเรียนได้ การเดินทางที่สัญจรไปมาได้สะดวกขึ้น "แต่ชาวบ้านก็ยังคงดำเนินชีวิตตามวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ความสวยงามของธรรมชาติในริมน้ำสองฝั่งแม่น้ำสาละวิน รวมถึงภูเขาที่โอบล้อมบ้านแม่ดึ๊อย่างไม่เปลี่ยนแปลง"