อาชีพงานราชการในไทยที่มีหนี้สินมากที่สุด
อาชีพครู
ปัญหาหนี้สินของบุคลากรทางการศึกษา หรือ ครูทั่วประเทศ นับเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศให้ความสนใจมาโดยตลอด เท่าที่ผ่านมาผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้แก่ เปลี่ยนเจ้าหนี้ให้ใหม่ หาช่องทางการลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือขยายเพิ่มต้นเงินกู้ให้สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสำเร็จเสร็จสิ้น จนเวลาล่วงเลยนับสิบปี จำนวนหนี้ของครูดูเหมือนจะพอกพูนสูงขึ้นตามระยะเวลาสวนทางกับอายุงานที่นับวันมีแต่จะลดน้อยถอยลง อีกทั้งช่องทางการเป็นหนี้ก็เพิ่มมากจนประชิดติดตามครูเหมือนเงาตามตัวอีกด้วย
ปัจจุบันพบว่าแหล่งเงินกู้ที่สำคัญ ๆ ของครูทั่วประเทศมาจากหลาย ๆ แหล่ง อันได้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ , สินเชื่อโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ ผ่านธนาคารออมสิน , สินเชื่อโครงการกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ , โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.ต่าง ๆ และแหล่งที่สามารถสร้างหนี้ได้ง่ายที่สุดอย่างบัตรเครดิต และกู้ยืมหนี้นอกระบบ เป็นต้น
ผลการประเมินภาระหนี้สินของสมาชิกครูในระบบสหกรณ์
จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในรอบปี 2554 จำนวนสหกรณ์ออมทรัพย์ครู มีจำนวนทั้งสิ้น 115 แห่ง สามารถตรวจสอบบัญชีและรับรองงบการเงินได้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 จำนวน 109 แห่ง มีจำนวนสมาชิกโดยรวมทั้งประเทศ 7.21 แสนคน การกระจายตัวของสมาชิกอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงสุด ร้อยละ 31.40 รองลงมาได้แก่ภาคเหนือ ร้อยละ 25.86 ส่วนใหญ่สมาชิกกว่าครึ่งก่อหนี้ผูกพันกับสหกรณ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว คิดเป็นร้อยละ 4.21 และร้อยละ 95.79 ของหนี้คงเหลือสิ้นปีตามลำดับ ทั้งนี้มีลูกหนี้คงเหลือ 490,124 ราย คิดเป็นมูลค่า 4.08 แสนล้านบาท หากเปรียบเทียบการเป็นหนี้ต่อราย สมาชิกมีหนี้สินกับสหกรณ์เฉลี่ยรายละ 833,135 บาท โดยสหกรณ์คิดดอกเบี้ยตามระเบียบที่กำหนดตั้งแต่ร้อยละ 5.00 - 7.75 ต่อปี