เกาะกระแสละครดัง พรหมลิขิต เปิดที่มาเทศกาลลอยกระทง
สร้างกระแสฮือฮาอย่างต่อเนื่องเลยนะคะสำหรับละครดังแห่งปีอย่าง พรหมลิขิต ซึ่งเป็นภาคต่อจากละครดังเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่กำลังออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3
นอกจากนักแสดงใหม่ นักแสดงรับเชิญที่แฟน ๆ ละครคาดไม่ถึง พอปรากฎตัวในละครก็สร้างกระแสฮือฮากันไปทั่วบ้านทั่วเมือง
หรือแม้แต่เสื้อผ้า หน้าผม ฉากในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริงในหน้าประวัติศาสตร์ ก็ถูกหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาขุดค้นหาข้อมูลความรู้กันอย่างกว้างขวาง
โดยล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็ได้ปรากฎฉากพระราชพิธีจองเปรียงในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ หรือสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ จนเป็นที่กระแสฮือฮาทั่วบ้านทั่วเมือง
ด้วยความสวยงามสมจริงทั้งเครื่องแต่งกาย บรรยากาศ และพิธีกรรมในพระราชพิธีจองเปรียง จนเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ แล้วยิ่งช่วงนี้ก็ใกล้เทศกาลลอยกระทงของจริงเข้ามาทุกที ก็ได้มีนักวิชาการและชาวเน็ตออกมาให้ความรู้กันอย่างเนืองแน่
พระราชพิธีจองเปรียง อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นพระราชพิธีสำคัญ หนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือนที่สืบทอดกันในพระราชสำนักมาแต่โบราณ และพระราชพิธีจองเปรียงนี้มีการกล่าวถึงมาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย จะจัดขึ้นราว ๆ เดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน โดยถือเอาวันทางจันทรคติในคืนของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือที่เรียกกันว่า เพ็ญเดือนสิบสอง เป็นกำหนดการในการประกอบพระราชพิธี แต่แรกเริ่มนั้นเป็นพิธีกรรมทางศาสนาฮินดูที่สืบทอดกันมาภายในพระราชสำนัก เป็นการจุดพระประทีปเพื่อรับเสด็จพระเป็นเจ้าทั้งสามของฮินดูที่เสด็จลงมาเยือนโลกมนุษย์อันได้แก่
พระศิวะ शिव
พระวิษณุ विष्णुः
และพระพรหม ब्रह्मा
ก่อนที่ภายหลังจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นพิธีทางพุทธศาสนาตามพระราชนิยมในสมัยหลัง อาทิ บูชารอยพระพุทธบาท ณ ริมฝั่งนัมมทานที บูชาพระจุฬา พระโมลี และพระเขี้ยวแก้วขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ จุฬามณีเจดีย์ ในดาวดึงส์สวรรค์ แม้แต่คติการลอยกระทงในคืนเพ็ญเดือนสิบสอง เพื่อบูชาและขอขมาต่อเทวีคงคา เทวสตรีในฮินดู ก็เกิดขึ้นในหนหลังเช่นกัน
ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเมื่อนำเอากำหนดการ คติ พิธีกรรมเดิมที่มีบันทึกที่ไว้ในประวัติศาสตร์ของไทย เกี่ยวกับพิธีกรรมในพระราชพิธีจองเปรียงที่เป็นการจุดพระประทีปเพื่อรับเสด็จพระเป็นเจ้าทั้งสามของฮินดูที่เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ไปเทียบกับพิธีกรรมทางศาสนาฮินดูในอนุทวีปอินเดีย ก็พบว่าในอินเดียนั้นมีพิธีสำคัญที่มีชื่อเสียงอยู่พิธีหนึ่งเรียกกันว่า เดฟดิวาลี देव दीपावली หรือออกเสียงแบบไทยว่า เทพดิวาลี
เดฟดิวาลี देव दीपावली เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองชัยชนะของพระศิวะที่มีเหนือตรีปุรสูร त्रिपुरासुर จากตริปุรานตกะมูรติ त्रिपुरान्तकमूर्ति ตำนานพระศิวะสังหารอสูรสามเมืองด้วยศรเพียงดอกเดียวจากรุทรธนูของพระศิวะที่สร้างจากพลังแห่งจักรวาลของเหล่าทวยเทพ เทศกาลเทพดิวาลีจึงมีอีกชื่อว่า ตรีปุรารีปูรณิมา त्रिपुरारी पूर्णिमा
โดยแต่แรกเริ่มนั้นได้จัดขึ้นยังเมืองพาราณสี เมืองศักดิ์สิทธิ์ที่ถือว่าเป็นสถานที่สถิตของพระศิวะมหาเทพ
ซึ่งจะจัดขึ้นหลังจากเทศกาลดิวาลี दीपावली เทศกาลแห่งแสงสว่าง เทศกาลเฉลิมฉลองชัยชนะของพระกฤษณะต่อนรากะสูร และยังตรงกับวันมหาลักษมีบูชา ที่จัดขึ้นในวันที่ 1 ของเดือนกรติกตามปฏิทินฮินดูมาแล้ว 15 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 15 ของเดือนกรติก
หากถ้านับตามปฏิทินจันทรคติก็จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในทางฮินดูถือว่าเป็นอีกหนึ่งคืนศักดิ์สิทธิ์ในเดือนกรติก จึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า กรติกปูรณิมา कार्तिक पूर्णिमा ซึ่งคล้าย ๆ กับที่คนไทยเรียกกันว่า วันเพ็ญเดือนสิบสอง ซึ่งในปี 2566 นี้ตรงก็กับวัน จันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน ทั้งสองเทศกาล
นอกจากนี้คนอินเดียยังเชื่อกันว่าในคืนนี้มหาเทพตรีมูรติจะเสด็จลงมายังมนุษย์โลก ซึ่งก่อนหน้านี้ในคือที่ 11 ของเดือนกรติกก็เป็นวันปรโพธินี เอกาทศี प्रबोधिनी एकादशी หรือวันแห่งการตื่นบรรทมของพระวิษณุเจ้า และพระองค์จะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ในคืนที่สว่างที่สุดของเดือนกรติก จึงมีการทำความสะอาดจัดแต่งเทวาลัยและบ้านเรือนเพื่อรับเสด็จพระเป็นเจ้ามาสู่สถานที่ของตนและเมืองนั้น ๆ ในช่วงค่ำก็จะมีพิธีบูชาและจุดดียา दिया หรือประทีป โดยใช้ ฆี घी หรือเนยใสเป็นเชื้อเพลิง
จุดถวายแด่พระเป็นเจ้าและประดับบ้านเรือนสถานที่ต่าง ๆ เฉกเช่นเดียวกับเทศกาลดิวาลีที่จัดขึ้นมาก่อนหน้า มีการจุดดียาหรือประทีปนี้ประดับบนฆาฎ घाट หรือขั้นบันไดท่าน้ำ
และจะมีการนำใบไม้แห้ง กาบกล้วย มาทำเป็นโดนา दोना ประดับด้วยดอกไม้สดและดียา หรือก็คือกระทงแบบอินเดีย
เป็นเครื่องสักการะทางน้ำเช่นเดียวกับกระทงที่ทำมาจากใบตองพับเป็นรูปดอกบัวของไทย โดยจะลอยไปบนแม่น้ำคงคาเพื่อสักการะพระศิวะเจ้า
ด้วยเชื่อกันว่าแม่น้ำคงคานี้ไหลมาจากพระเมาฬีของพระศิวะเจ้า ที่ทรงเอาพระเมาฬีรองรับไว้เพื่อชะลอความเชียวกรากของกระแสน้ำจากเทวีคงคา
คนอินเดียจึงเชื่อกันว่าแม่น้ำคงคาแห่งนี้เป็นเสมือนสื่อกลางระหว่างพระเป็นเจ้ากับมนุษย์โลก
เมื่อนำเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเทียบกับข้อมูลทางศาสนาที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าพิธีกรรม จุดประสงค์ของพิธี แม้แต่เครื่องสักการะบูชาที่ยังสามารถพบเห็นได้ในปัจจุบัน
ดียา दिया ประทีปของอินเดีย
ตะคัน หรือ ประทีปดินเผาของไทย
ชาวฮินดูจุดดียาประขั้นบันไดท่าน้ำ
ชาวไทยจุดตะคันประดับศาสนสถาน
ฉากลอยโดนาจากซีรีส์ Siya Ke Ram
ฉากลอยกระทงจากเรื่องพรหมลิขิต
จะเห็นได้ชัดว่าพิธีจองเปรียงที่กลายมาเป็นเทศกาลลอยกระทงในปัจจุบันนั้นก็คือ เทศกาลเดฟดิวาลี देव दीपावली ที่ราชสำนักสยามได้รับเอาพิธีกรรมในศาสนาฮินดูมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโบราณ ก่อนที่จะกลายมาเป็นพิธีกรรมแบบพุทธตามพระราชนิยมและความเสื่อมศรัทธาในศาสนาฮินดูในสมัยหลัง
และจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในเมืองโบราณคดีศรีเทพ ที่เพิ่งได้รับการรับรองให้เป็นแหล่งมรดกโลก จาก Unesco ที่พบพระพุทธรูปและเทวรูปของฮินดูที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 1,700 ปี และนักโบราณคดีก็ตั้งข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์ในแหล่งโบราณคดีศรีเทพในสมัยนั้นน่าจะเป็นแหล่งชุมชนใหญ่ เป็นต้นรากมรดกภูมิปัญญาในแถบนี้ ทั้งการพบพระพุทธรูป เทวรูป ก็พอจะทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู เข้ามาสู่ดินแดนของประเทศไทยตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว
ซึ่งมันก็พอจะทำให้สันนิษฐานได้ว่าคติ ประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนเทศกาลของศาสนาฮินดูจากอนุทวีปอินเดีย อย่างพิธีจองเปรียงที่มีต้นรากมาจากเทศกาลเทพดิวาลี ก็น่าจะมีมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรโบราณแล้วเช่นกัน ในทางประวัติศาสตร์แล้วเรียกยุคสมัยก่อนอาณาจักรสุโขทัยเหล่านี้ว่า ยุคอาณาจักรโบราณ เป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์อีกยุคหนึ่ง
และเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของทางฝั่งอินเดียก็พบว่าในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ในอินเดียก็มีการสงครามศาสนาเกิดขึ้น มีชาวฮินดูบางส่วนอพยพกระจัดกระจายออกมา และดินแดนในบริเวณของประเทศไทยในปัจจุบัน ก็น่าจะเป็นอีกที่หนึ่งที่ชาวฮินดูจากอินเดียได้อพยพมาตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่กันที่นี่ เมื่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์มันสอดคล้องกัน ก็ทำให้พอสันนิฐานได้ว่าคติความเชื่อของศาสนาฮินดู หรือแม้แต่ศาสนาพุทธก็ตามที เข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ร่วม ๆ 2,000 ปี ไม่ได้เพิ่งเข้ามาหรือเพิ่งมามีอิทธิพลในยุคประวัติศาสตร์ตามที่เข้าใจกัน และก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสนิยม คติความเชื่อที่ได้จากความรู้อื่น ๆ ที่แตกต่างจากของเดิมที่รับรู้ หรือแม้แต่การเสื่อมศรัทธา ก็อาจจะทำให้คติพิธีกรรมบางอย่างผิดเพี้ยนไปจากเดิม
และถ้าหากพูดถึง กระทง ในประเทศไทยถ้าเกิดเห็นใครลอยกระทงนอกเทศกาลลอยกระทงแล้วล่ะก็ เราก็อาจจะมองว่าเป็นเรื่องแปลก ๆ แต่ถ้าใครได้มีโอกาสได้เดินทางไปประเทศอินเดีย ก็จะเห็นชาวอินเดียบางส่วนทำพิธีกรรมและลอยโดนา หรือ กระทงใบไม้แห้ง กระทงกาบกล้วยแบบอินเดีย ไปตามแม่น้ำคงคากันเป็นเรื่องปกติ เพราะโดนานั้น เป็นเครื่องสักการะทางน้ำ สามารถใช้ลอยไปบนแม่น้ำคงคาเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าผ่านแม่น้ำคงคาได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เครื่องสักการะเฉพาะเทศกาล หรือเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลอย่างกระทงใบตองของไทย แต่ในปัจจุบันนี้เอง ก็ได้มีคนไทยบางส่วนที่ใช้กระทงลอยน้ำเป็นเครื่องสักการะบูชาสิ่งศักดิ์กันนอกเทศกาล เช่น การลอยนำอัฐิผู้เสียชีวิตแทนการลอยพวงมาลัยในการลอยอังคาร ก็ถือว่าเป็นคติความเชื่อเกี่ยวกับการลอยกระทงแบบใหม่ที่เราสามารถพบเห็นกันได้นอกเหนือจากการลอยกระทงแค่ในช่วงเทศกาล