"ก่อสร้าง" งานที่รวม ความเชื่อ ศาสตร์ และวิถีชีวิต ไว้ด้วยกัน
"ก่อสร้าง" หมายถึง การก่อสร้างใหม่ และรวมถึงการซ่อมแซม ปรับปรุง ต่อเติม รื้อถอนด้วย เป็นงานใช้แรงงานเป็นส่วนมากประเภทหนึ่ง ไม่ว่าจะทำถนนหนทาง อาคาร คอนโด ตึกราม บ้านช่อง ฯลฯ ตามที่เราพบเห็นมา
แต่สิ่งก่อสร้างที่พวกเราเห็นนั้น แน่นอนส่วนมากเราจะเห็นตอนที่กำลังทำ และตอนที่มันสร้างเสร็จแล้ว แต่ช่วงระยะที่กำลังสร้าง มีใครรู้หรือเปล่า ในอาคารหลังหนึ่ง ถนนเส้นหนึ่ง ตึกอีกกี่ชั้น ว่ากว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เราเห็น เบื้องหลังมันมีอะไรเป็นปัจจัย องค์ประกอบบ้าง
เชื่อหรือไม่ครับ ว่างานก่อสร้าง มันเป็นงานที่รวบรวมอะไรต่อมิอะไรหลาย ๆ อย่างไว้ด้วยกัน สถานที่บางแห่งหากขาดองค์ประกอบไปอย่างเดียว บางที่การทำงานก็ไม่เป็นตามที่ต้องการเท่าที่ควร ติด ๆ ขัด ๆ บางทีก็ไม่ประสบความสำเร็จ เหมือนมันจะง่ายนะ แค่มองดูผิวเผิน แต่ในรายละเอียดลึก ๆ จริง ๆ ของมัน ภาษาก่อสร้างก็มักจะพูดกันว่า "งานนี้ไม่ได้หมู ๆ นะครับ" จะหมูก็หมูอยู่ แต่หมูเขี้ยวตันน่ะสิ" 😁😁😁😁😁
"งานก่อสร้าง" ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม โดยส่วนมากแล้ว เรื่องความเชื่อ เรื่องไสยศาสตร์ ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องแน่นอน ตั้งแต่การดูที่ดิน พื้นที่ สถานที่จะดำเนินงาน บางคนที่เป็นเจ้าของ หรือผู้รับผิดชอบ ที่เป็นคนจีน หรือมีเชื้อสายจีน ต้องไหว้วานให้ "ซินแส" ซึ่งเป็น คนที่มีความชำนาญ ด้านการดูความเหมาะสม ของทำเลที่พักอาศัย หรือที่เรียกว่า "ฮวงจุ้ย" ว่าตรงนั้น ตรงนี้ จะสร้างยังไง หันหน้าไปทางทิศไหน จะเสริมโชคเสริมลาภ เสริมบารมี มั่งมีศรีสุข ที่ตรงไหน ทิศทางไหน ไม่เหมาะกับการก่อสร้าง ฯลฯ
หลังจากพิจารณาลักษณะ พื้นที่เรียบร้อย ยัง..... เรื่องความเชื่อ ไสยศาสตร์ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ตามที่ได้ยินคนเก่าคนแก่ พูด ๆ กันมา และทำกันมาให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ สถานที่ต่าง ๆ ล้วนมีเจ้าของ ล้วนมีผู้ดูแลปกปักรักษา จะทำการสิ่งใด ก็ต้องบอก ก็ต้องกล่าว ขออนุญาตกันเสียก่อน ทำโดยพลการไม่ได้ การดำเนินงานมันจะไม่ราบรื่น มีแต่อุปสรรค และไม่ประสบความสำเร็จ ต้องหาฤกษ์ หายาม ตามที่มีในตำรา จัดทรงเครื่องบวงสรวง เครื่องสังเวย ให้มันถูกต้อง (ไปหาศึกษาดูได้ ในตำราพราหมณ์)
เรื่องนี้สำหรับผู้เขียน ก็ไม่เคยมองข้ามละเลย ก็เชื่ออยู่ เพราะด้วยประสบการณ์งานก่อสร้าง 4-5 ปี เห็นมาตลอดว่า งานก่อสร้างที่ไหน ข้ามขั้นตอนนี้ไป หน้าที่การงาน มักมีอุปสรรค ต่าง ๆ นา ๆ เข้ามาตลอด เช่น เครื่องยนต์ เครื่องจักรมีปัญหา เวลาทำงานสตาร์ทไม่ติด จนคนขับได้ซื้อพวงมาลัยมาไหว้ ได้เอ่ยคำขอขมาลาโทษ ขออนุญาต เครื่องยนต์ เครื่องจักร จึงสามารถใช้การได้ (มันก็ชวนให้น่าคิดอยู่นะ บางที)
นอกจากเรื่องของ เครื่องยนต์ เครื่องจักร ก็ยังมีเรื่องของ ดิน ฟ้า อากาศ อากาศร้อน ๆ แดดเปรี้ยง กะไว้ว่าจะเทปูนตอนบ่าย พอถึงเวลาฝนตก ลมแรง ซะงั้น นี้แหละถึงกับที่บอกว่า จะไม่ให้คิดก็ยังไงอยู่ หนักสุดคือ อุบัติเหตุกับคนงานนี้แหละ งานโครงใหญ่ ๆ เรื่องความปลอดภัย ยังไง ๆ ก็ต้องมาตราฐานสากลอยู่แล้ว แต่ไม่ว่าจะสอดส่องดูแลตลอด อุบัติเหตุมันก็ยังเกิดขึ้นได้ จะว่าความประมาทของคนงาน ก็อาจจะมีส่วน บางครั้ง ถึงกับคนงานเสียชีวิตก็ยังมี แต่พอมาสังเกตว่าพอได้ทำพิธีตามที่กล่าวมา เรื่องพวกนี้แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย
แต่จะว่าไป เขาพากันทำยังไง ก็ทำตามเถอะครับ อย่างน้อย ๆ ก็สร้างขวัญและกำลังใจให้กับนายจ้าง และคนงานของเขา เรื่องแบบนี้มันอยู่ที่ความเชื่อส่วนบุคคล อย่างที่โบราณกล่าวไว้ "ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่"
นอกจาก งานก่อสร้าง จะมีเรื่องความเชื่ออยู่ด้วยแล้ว เรื่องของ "ศาสตร์" ก็ต้องมีอยู่ด้วยแน่นอน "ศาสตร์ ในที่นี้คือ ระบบวิชาความรู้" ไม่ว่าจะสร้างอะไรขึ้นมา ศาตร์เหล่านี้ต้องมีมากกว่า หนึ่งอย่างแน่นอน ไม่ใช่มีอย่างใด อย่างหนึ่ง แล้วมันจะทำได้ทันที
งานก่อสร้าง แต่ละที่ จะมีหลาย ๆ คน ที่มาดูแลการดำเนินงาน ในแต่ละส่วนของกำดำเนินงาน เริ่มจากการบุกเบิก รังวัดที่ดิน โดยจะให้ ช่างสำรวจ (surveyor) ทำการรังวัด โดยการใช้ "กล้องวัดมุม" (Theodolite) วัดค่าพิกัดที่มาตามแบบแปลน แผนผัง ของโครงงานนั้น ๆ บอกได้คำว่า ค่อนข้างจะละเอียดพอสมควร คลาดเคลื่อนเพียงนิดเดียว พื้นที่ข้างเคียงตามมาแน่ บางงานถึงกับอดหลับอดนอนก็ยังมี
รายละเอียดต่าง ๆ ค่าพิกัดต่าง ๆ ต้องคำนวนด้วยสูตรของศาสตร์เฉพาะทางนี้เท่านั้น ซึ่งคนที่จะทำการคำนวน นอกจากจะเรียนมาตรงสายวิชาอาชีพแล้ว ประสบการณ์ในการทำงานก็มีส่วน
ต้องทำงานเป็นทีม เข้าใจงานตรงกัน ไปไหนไปกัน งานถึงจะออกมาดี เป็นที่พึงพอใจกับนายจ้าง ช่างสำรวจทีม ๆ หนึ่ง ต้องมี 3 คนขึ้นไป
หนักเอา เบาสู้ ผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้ เรื่องการอยู่การกิน เรื่องการทำงาน สบายมากมีการเตรียมพร้อมเสมอ สำหรับงานเร่งด่วน 😁😁😁😁😁😁😁
นอกจากนั้น ก็จะมีนักวิชาการอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น "สถาปนิก "ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการออกแบบ และวางแผนก่อสร้าง "วิศวกร" คือผู้ที่ประกอบอาชีพทางด้านวิศวกรรม มีหน้าที่ ศึกษาวิเคราะห์ คำนวณ ออกแบบ ตรวจสอบแก้ไขปัญหาและควบคุมการผลิต นอกจากนี้ก็มี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย คือ บุคคลที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ และ ส่งเสริมความปลอดภัย และ สุขภาพในสถานที่ทำงาน
ส่วนภาคปฏิบัติใช้แรงงาน ก็จะมี "โฟร์แมน" คือคนที่ต้องคอยควบคุมคนงานและกระบวนการทำงานให้เป็นไปตามแผน ตามมาด้วย "ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างปูน ช่างสี ช่างไฟ ช่างเชื่อม กรรมกร" ตลอดอีกสารพัดช่างที่จะต้องหามาทำ เพื่อให้งานเสร็จสมบูรณ์ และแต่ละช่างอาชีพ ก็จะมีเทคนิคการทำงานที่แตกต่างกันออกไป แต่พอถึงเวลาส่งงาน ก็ต้องมาชี้แจงด้วยกัน เพราะถ้าเจอปัญหา ก็จะได้รู้และหาทางช่วยกันแก้ไขได้ถูกต้อง นี้แหละถึงบอกได้ว่า งานก่อสร้าง ขาดปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไป การทำงานมีสะดุดแน่นอนระหว่างการทำงานก็จะมีคนมาควบคุม ไม่ว่าจะเป็นผู้ดูแล หรือ พนักงานตรวจสอบ จะมาตรวจเช็คทั้งคนงาน และงานที่จะส่ง ก่อนจะรายงานให้นายจ้างรับทราบในขั้นตอนต่อไป
กล่าวมาแค่นี้ ก็หลากหลายศาสตร์อยู่นะครับนี้ 😂😂😂😂😂😂😂
การดำเนินงานแต่ละขั้นตอน ทุก ๆ ขั้นตอนจะทำการตรวจเช็คทุกครั้ง เมื่อโครงสร้างเร็จเรียบร้อย ตรวจสอบแล้วผ่านตามที่กำหนดไว้ในแบบ หลังจากนั้นถึงจะไปทำงานในขั้นตอนอื่น ๆ ได้ บอกแล้วว่า งานก่อสร้าง รายละเอียดมันลึกจริง ๆ
นอกจากนั้นเรื่องของระยะเวลา ก็สำคัญ เพราะเวลาทุกวินาที เป็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทั้งนั้น งานล่าช้า เกิดความเสียหาย ย่อมมีผลกระทบกับทุก ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องรายได้
เมื่อถึงระยะครบกำหนดส่งงาน งานมีความเร่งด่วน การทำงานล่วงเวลา จะมีค่าตอบแทนให้เป็นที่น่าพอใจให้กับลูกจ้างก็จริง แต่สิ่งที่ลูกจ้างประทับใจ คือ การที่นายจ้างหรือหัวหน้า อยู่สู้งานพร้อมหน้าพร้อมตากับทีมงานนี้แหละ หรือที่เรียกแบบภาษาบ้าน ๆ ว่า ถึงไหนถึงกัน 😄😄😄😄😄
สิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่งจากงานก่อสร้าง ก็คือ วิถีชีวิตของคนงาน ที่ดูแบบเรียบง่าย สบาย ๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ทำงานไหน ก็มักจะปรับตัวได้เสมอ ที่พักอาศัย ถ้าที่ทำงานอยู่ในเมือง ก็อาจจะเช่าห้อง แต่ถ้าที่ทำงานอยู่ในป่าในเขา ในที่ ๆ มันห่างจากสิ่งอำนวยความสะดวก ก็จะสร้างที่พักอาศัยแค่พอที่หลบแดด หลบฝน มีที่ทำอาหาร มีแหล่งทำมาหากิน แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว สำหรับการทำงานในแต่ละวัน เช้าตื่นมา อาบน้ำ ล้างหน้าแปรงฟัน แต่งตัว หุงข้าวทำกับข้าว กินข้าว ห่อข้าวเตรียมตัวไปทำงาน ตกเย็นมา ก็ทำภารกิจส่วนตัว ทำอาหาร กินข้าว แล้วก็พักผ่อน วันหยุดก็พากันออกไปทำมาหากินิหาของป่า หาปู หาปลา แล้วแต่จะพากันไป การดำเนินชีวิตก็ไม่ได้แตกต่างจากที่บ้านมากนัก เพียงแต่มันไม่รู้สึกอบอุ่นเหมือนตอนอยู่บ้านก็แค่นั้น
สิ่งหนึ่งที่ทำให้งานก่อสร้าง มันมีเสน่ห์ของมัน ก็คือการมาพักอาศัยอยู่ใกล้กันนี้แหละ ต่างคน ต่างก็มาจากคนละที่ คนละทาง พอมาทำงานด้วยกัน เรื่องไปมาหาสู่ ก็เลยเป็นเรื่องที่ดี สำหรับคนทำงานไกลบ้าน มีอะไรก็มาแบ่งปันกัน ไปหากินก็ชวนกันไป กลับมา ก็มาช่วยกันทำ น้ำใจแลกน้ำใจ ยังมีให้เห็นอยู่ในงานก่อสร้าง ทำงานเหนื่อย เราก็เหนื่อยด้วยกัน สนุกก็สนุกด้วยกัน กินอิ่มก็อิ่มด้วยกัน นี้แหละวิถีชีวิตในแบบที่เราไม่ค่อยได้เจอหรอก กับคนที่ทำงานในออฟฟิศ เพราะสิ่งแวดล้อม และ ลักษณะงานมันไม่เหมือนกัน
งานก่อสร้าง นอกจากจะเป็นงานที่รวมเอาหลาย ๆ อย่างไว้ด้วยกันแล้ว ยังเป็นงานที่มีเกียรติ เนื่องด้วยเป็นงานอาชีพที่สุจริต และลักษณะของงานก็สมเหตุสมผลดีนะ เราทำงานใช้ความสามารถของเรา แลกกับค่าแรง เพราะว่า งานก่อสร้าง จ่ายค่าแรงตามความสามารถ โอเค แฟร์ ๆ วิน ๆ ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ลองไปหาประสบการณ์ดู กับงานก่อสร้าง มันสอนอะไรให้กับเราเยอะอยู่ อย่างน้อย ๆ ได้ความรู้อีกมากมายหลายอย่างมาเพิ่มเติมในสมองชัวร์ 😁😁😁😁