ตะขบป่าผลไม้ป่าอีกหนึ่งชนิดที่เริ่มหารับประทานยากขึ้นทุกวัน
ตอนเด็ก ๆ จำได้ว่าเจ้าผลไม้ป่าชนิดนี้มีมากมายตามชนบทเมื่อสุกสามารถนำมารับประทานได้ ปัจจุบันนี้เริ่มหายากเต็มทีเพราะผู้คนไม่ค่อยนิยมปลูกและรับประทานกันเหมือนเมื่อก่อนนี้
ผลไม้ชนิดนี้คือ " ตะขบป่า " จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เรือนพุ่มแผ่กว้าง ปลายกิ่งโค้งต่ำ ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 2 - 15 เมตร ลำต้นและกิ่งใหญ่ ๆ เปลื่อกสีเหลืองอมเทา แตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศกระจายห่าง ๆ ผิวขรุขระเล็กน้อย มีหนามแหลม กิ่งอ่อนมีหนามแหลมตามซอกใบ ยาว 2 - 4 เซนติเมตร กิ่งแก่ ๆ มักจะไม่มีหนาม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ เรียงชิดเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ขนาดของใบค่อนข้างเล็ก รูปไข่กลับโคนใบสอบแคบ ปลายใบกลม แผ่นใบมีทั้งแบบบางคล้ายกระดาษ และหนา ขอบใบค่อนข้างเรียบหรือจักใกล้ปลายใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1 - 3 เซนติเมตรและ่ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร เส้นแขนงใบมีประมาณ 4 - 6 คู่ ผิวใบเกลี้ยงหรืออาจมีขนหนานุ่มท้งสองด้าน ใบอ่อนและเส้นกลางใบขเป็นสีแดงอมส้ม และมีก้านใบเป็นสีเขียวหรือแดง ดอก ออกเป็นแบบช่อกระจะสั้น ๆ บริเวณซอกใบ และปลายกิ่งที่โคนช่อมีใบประดับ บางทีมีหนาม และในแต่ละช่อมีดอกย่อยน้อย ดอกย่อย เป็นดอกขนาดเล็ก สีขาว เป็นแบบแยกต่างต้น มีกลีบดอก 5 - 6 กลีบ รูปไข่ ปลายมน ยาว 1.5 มิลลิเมตร ด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง ด้านในและที่ขอบมีขนแน่น ก้านดอกยาว 3 - 5 เซนติเมตร ผล มีทั้งผลเดี่ยวหรือออกเป็นพวง เล็ก ๆ บริเวณกิ่ง ลักษณะของผลเป็นรูปกลม หรือรี ลักษกณะชุ่มน้ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.7 - 1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อผลสุกจะเปลี่่ยนเป็นสีแดงคล้ำ จนถึงดำ ภายในผลมีเมล็ดรูปร่างกลมเล็ก ๆ ประมาณ 5 - 8 เมล็ด
ผลตะขบป่าสามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้ ซึ่งผลสุกจะมีรสหวานอมฝาดโดยเฉพาะเด็กตามชนบทสมัยก่อนจะนำผลสุกมาคลึงกับฝ่ามือ ให้นิ่มเสียก่อนแล้วค่อยรับประทานจะมีรสหวานอร่อย ผลสุกมีวิตามินซีสูง ส่วนเนื้อไม้ใช้เป็นโครงสร้างในการก่อสร้างบ้านเรือน เช่น ขื่อ คาน เสา ไม้กระดาน และสามารถทำเครื่องใช้ในครัวเรือนได้ดีด้วย เช่นสากกระเบือ เป็นต้น