หลอด-แก้วกระดาษ..ไม่ได้รักษ์โลกอย่างที่คิดวิจัยเผย พบ "สารเคมีอมตะ"
วิจัยล่าสุดเผย “แก้วกระดาษ” และ “หลอดกระดาษ” มี “สารเคมีอมตะ” ที่เรียกว่า PFAS เคลือบผิวอยู่ ย่อยสลายยากไม่แพ้พลาสติก แถมมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์และสัตว์
- หลอดกระดาษ-แก้วกระดาษ ถูกนำมาใช้ในร้านค้าร้านอาหารมากขึ้น เพราะเชื่อว่าย่อยสลายได้ง่ายกว่าหลอดและแก้ว “พลาสติก”
- แต่จากงานวิจัยล่าสุดพบว่า “แก้วกระดาษ” และ “หลอดกระดาษ” มี “สารเคมีอมตะ” เคลือบพื้นผิวอยู่
- สารเคมีอมตะ หรือ PFAS ย่อยสลายได้ยากไม่แพ้พลาสติก รวมถึงอาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ได้อีกด้วย
แน่นอนว่า “พลาสติก” เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ “สิ่งแวดล้อม” เพราะย่อยสลายยาก และก่อให้เกิดขยะสะสมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use) ที่ใช้กันตามร้านค้า ร้านอาหาร
ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนมากหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ เพื่อทดแทนพลาสติกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นถุงกระดาษ แก้วกระดาษ หลอดกระดาษ จานกระดาษ เป็นต้น
ด้วยความที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติ หลายคนจึงคิดมองว่าน่าจะไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้มากเท่ากับพลาสติก แต่จากงานวิจัยล่าสุดพบว่า แก้วกระดาษ และ หลอดกระดาษ มีสารประกอบ PFAS สังเคราะห์ หรือที่เรียกว่า “สารเคมีอมตะ” มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า สารเปอร์และโพลีฟลูออโรอัลคิล (Perfluoroalkyl Substances) เคลือบอยู่บนพื้นผิว เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ไม่อ่อนตัวง่ายเมื่อเปียกน้ำ แม้ว่าสารดังกล่าวจะพบในปริมาณต่ำ แต่หากสะสมไปนานๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้
“สารเคมีอมตะ” หรือ “PFAS” เป็นหนึ่งในสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น นิยมใช้อย่างแพร่หลายใน “บรรจุภัณฑ์อาหาร” เนื่องจากช่วยป้องกันความชื้นและดูดซึมไขมันได้ดี รวมทั้งพบได้ในของใช้ทั่วไป เช่น กระดาษห่ออาหาร เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
แม้ว่าสาร PFAS ที่ตรวจพบบนบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากกระดาษจะอยู่ในระดับที่ต่ำจนไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่หากได้รับสารดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพได้ เช่น คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งในอวัยวะต่างๆ และภาวะครรภ์เป็นพิษ
อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่มาจากสารเคมีอมตะก็คือ พวกมันยังคงตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหลายปี แม้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะหมดอายุการใช้งานไปแล้วก็ตาม รวมถึงอาจสร้างสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อแมลงบางชนิดอีกด้วย