ชะคราม หรือ ช้าคราม
ถ้าพูดถึงชะคราม คิดว่าอาจจะเป็นชื่อพืชที่ไม่ค่อยคุ้นหู หรือ ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนสำหรับบางท่าน แต่อาจจะมีบ้างท่านที่รู้จักและเคยทาน ชะคราม เป็นพืชรสเค็ม ที่จำกัดที่เติบโต ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยทั่วไปถ้าห่างจากทะเล เรามาทำความรู้จัก ชะครามกันเพิ่มเติมนะคะ
ชะคราม หรือ ช้าคราม เป็นพืชล้มลุก พบทั่วไปตามชายฝั่งทะเล ที่น้ำเค็มขึ้นถึง ในไทยพบมากที่จังหวัดสมุทรสาครสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรี
เป็นพืชทนเค็ม กิ่งก้านอวบน้ำ ใบแคบยาว พองกลม ปลายแหลมมีนวลจับขาว จำนวนมาก สีเขียวอมฟ้า ใบมีรสเค็ม ออกดอกตามซอกใบ
ชะคราม ใช้เป็นดัชนีชี้วัดความเค็มของดินได้ โดยชะครามที่ขึ้นในดินเค็ม ใบออกสีม่วงแดง ส่วนต้นที่ขึ้นในดินจืด ใบจะออกสีน้ำเงิน
สำหรับชนิดที่มีสีเขียวสดหรือสีเขียวอมม่วงในฤดูแล้งจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วงอ่อนๆ
เนื่องจากเป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตได้ง่ายในดินเค็ม ใบของชะครามจึงดูดเอาความเค็มจากดินมาเก็บไว้ เมื่อใบแก่ขึ้นเรื่อยความเค็มก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
เวลาเก็บชะครามมาปรุงอาหารจึงควรเลือกใช้ใบอ่อน นำมาล้างน้ำให้สะอาด ก่อนที่จะนำมากินต้องทำให้สุกก่อนโดยรูดเฉพาะใบ เหมือนรูดใบชะอม แล้วต้มคั้นน้ำทิ้งไป 2-3 ครั้ง เพื่อให้ลดความเค็มลงก่อนนำไปทำอาหาร
เนื่องจากผักชะครามเป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่เค็มจึงดูดเกลือไว้ในลำต้นทำให้มีธาตุไอโอดีนสะสมอยู่มาก สามารถป้องกันโรคคอพอกได้ นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณตามตำรับยาไทยว่าช่วยบำรุงรักษารากผม แก้ผมร่วงได้ และมีสารอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็ง
สรรพคุณ
ใบสดหรือปรุงสุกแล้วมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ กระตุ้นระบบประสาท รักษาโรคโกโนเรียและโรคคอพอก รวมทั้งช่วยบำรุงสายตา แก้อาการตามัว
น้ำต้มใบชะครามหรือขยำใบสด สำหรับใช้ภายนอก สามารถใช้รักษากลาก เกลื้อน แก้อาการผื่นคัน ลดอาการบวมของแผล และช่วยลดอาการปวดจากพิษแมลงกัดต่อย
ใบชะครามคั้นผสมกับน้ำมะพร้าว ใช้สำหรับทาแก้อาการพิษจากยางต้นตาตุ่มหรือยางพิษจากต้นไม้ต่าง ๆ ได้
ใบชะครามดูดเกลือจากดินมาเก็บไว้ จึงทำให้มีรสชาติเค็ม และมีธาตุไอโอดีนสะสมอยู่ นอกจากจะสามารถป้องกันโรคคอพอกได้แล้วยังมีสรรพคุณใช้รักษารากผม แก้ผมร่วงได้ โดยนำใบและลำต้นมาสกัดเป็นยาสระผมได้ด้วย
ราก นำมารับประทานเป็นยาบำรุงกระดูก แก้พิษฝีภายใน ดับพิษในกระดูก แก้น้ำเหลืองเสีย ผื่นคัน แก้โรคผิวหนังและเส้นเอ็นพิการ
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลผลการวิจัยจากต่างประเทศพบว่า ชะครามมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ด้วย
ใบชะครามสามารถนำมาทำอาหารทานได้หลายเมนู ไม่ว่าจะ ยำ แกงส้ม ต้มราดกะทิ เมนูทอด หรือ เมนูขนมหวาน วันนี้มาบอกสตูรทำ เมนูยำใบชะครามกุ้งสด
ยำใบชะครามกุ้งสด
ใบชะคราม
กุ้งขาว
หมูสับรวนสุก
หัวกะทิเคี่ยวข้นสำหรับราด
ถั่วลิสงคั่ว
หอมแดงเจียว
พริกขี้หนูแห้งทอดหรือคั่ว
น้ำยำ
เตรียมใบชะครามโดยเด็ดใบชะครามเอาแต่ส่วนยอด แล้วนำลงต้มในน้ำเดือดให้สุกนุ่มประมาณ 2 นาที ตักขึ้นแช่น้ำเย็นให้หายร้อน ขยำใบชะครามกับน้ำเบาๆเพื่อล้างความเค็มออก ทำเช่นนี้ 2 –3 ครั้ง แล้วบีบน้ำออกให้แห้ง ใส่จานพักไว้
เตรียมกุ้งลวกโดยล้างกุ้งให้สะอาด แกะเปลือก เด็ดหัวไว้หาง ผ่าหลังดึงเส้นดำออก ลวกกุ้งในน้ำเดือดบนไฟกลางพอสุก ตักใส่ถ้วย พักไว้
ทำน้ำยำโดยผสมน้ำพริกเผา น้ำปลา น้ำตาลมะพร้าว น้ำมะนาว และหัวกะทิต้มสุกลงในอ่างผสม คนให้น้ำตาลละลาย พักไว้
ใส่กุ้งลวก เนื้อหมูสับรวนสุก และน้ำยำคลุกให้เข้ากัน ใส่ใบชะครามลวก ถั่วลิสงคั่ว หอมแดงเจียว และพริกแห้งทอดหักเป็นชิ้นๆ คลุกเคล้าให้เข้ากัน
จัดเสิร์ฟโดยตักยำชะครามลงในจาน โรยถั่วลิสงคั่ว หอมแดงเจียว ราดด้วยหัวกะทิเคี่ยว ข้น ตกแต่งด้วยพริกขี้หนูแห้งทอด
LOMA 🐬🐬
จารุพันธ์ ทองแถม. พืชมหัศจรรย์โลกวิกฤติ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2555 หน้า 219
ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี