"โรงงานมักกะสัน" อู่ซ่อมรถไฟใหญ่ที่สุดในประเทศอายุ 108 ปี
โรงงานมักกะสัน
อู่ซ่อมรถไฟใหญ่ที่สุดในประเทศอายุ 108 ปี
โรงงานมักกะสัน หรือ Makkasan Workshop เริ่มสร้าง พ.ศ. 2450 สร้างเสร็จ พ.ศ. 2453 แรกเริ่มไม่ได้ใหญ่โตขนาดทุกวันนี้ แต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 – 2488) โรงงานเสียหายเพราะถูกระเบิดหลายจุด เมื่อสงครามสงบจึงสร้างขึ้นใหม่ มีอาคารเก่าที่ไม่โดนระเบิดหลงเหลือเพียงไม่กี่หลัง
ความสำคัญอย่างหนึ่งของโรงงานมักกะสัน คือเป็นหลักฐานว่าประเทศเราเคยสร้างรถไฟโดยสารเองได้ และเป็นเครื่องบ่งบอก ‘ยุคเฟื่องฟู‘ ของกิจการรถไฟบ้านเรา
บรรยากาศการทำงานในโรงงานมักกะสันยุคปัจจุบันยังคงรูปแบบเดิมไว้หลายอย่าง เช่น ใช้เสียงหวอ (เหมือนเสียงสัญญาณเตือนภัยก่อนระเบิดลงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2) บอกเวลาเข้างานและเวลาพัก พนักงานยังต้องตอกบัตรแบบสมัยเก่า และยังเห็นบรรยากาศของโรงงานยุคเก่าทั้งตัวสถาปัตยกรรมของอาคาร รวมถึงการตกแต่งด้านใน
โรงงานมักกะสันทำอะไร
ตลอดระยะเวลา 108 ปี โรงงานมักกะสันทำ 2 หน้าที่ คือหนึ่ง เป็นศูนย์ซ่อมรถจักรดีเซล รถดีเซลราง และรถโดยสาร สอง เป็นศูนย์ผลิตส่วนประกอบต่างๆ ของรถไฟ เช่น แท่งห้ามล้อ ยาง ซีลยาง ฝาครอบโคมไฟ
ราว 50 ปีที่แล้วโรงงานมักกะสันเป็นโรงงานรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ปัจจุบันทำหน้าที่แค่ซ่อม ไม่ได้ผลิตอีกแล้ว
เราเริ่มผลิตตู้โดยสารรถไฟเองใน พ.ศ. 2510 ก่อนหน้านี้ต้องนำเข้าทั้งหัวรถจักรและตู้โดยสารจากประเทศอย่างญี่ปุ่น อังกฤษ เบลเยียม และเยอรมนี พันเอกแสง จุละจาริตต์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยในขณะนั้น มีแนวคิดว่าประเทศไทยน่าจะผลิตรถไฟเองได้ที่โรงงานมักกะสัน (จากที่เคยผลิตแต่ชิ้นส่วนต่างๆ) โดยเรียนรู้ด้วยวิธีการ Reverse Engineering หรือเรียนรู้จากการถอดส่วนต่างๆ ของรถไฟฝรั่งและญี่ปุ่นออกมาศึกษา
โรงงานมักกะสันเคยผลิตรถ ต.ญ. (ตู้ใหญ่) คือตู้เหล็กที่บรรทุกสินค้า และรถ บ.ท.ค. (รถบรรทุกน้ำมันข้น-คนรถไฟบอกว่า ไม่เรียก บ.ท.ข. แต่เรียก บ.ท.ค.) ไว้บรรทุกน้ำมันเตาส่งไปตามโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งช่วงนั้นอุตสาหกรรมไทยกำลังเติบโต จึงใช้รถไฟขนวัตถุดิบต่างๆ
รถไฟไทยเคยขนทั้งสินค้าอุตสาหกรรมอย่างน้ำมันเตา สินค้าเกษตร (เช่น สับปะรดจากประจวบคีรีขันธ์) และสินค้าอุปโภคบริโภค (เช่น น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง) แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้น้ำมันเตาแล้ว ส่วนสินค้าเกษตรถูกส่งทางรถยนต์มากกว่า (เพราะเร็วกว่า) จึงเหลือแค่การขนส่งสินค้าที่ไม่เน่าเสียเท่านั้น
พื้นที่โรงงานมักกะสันมีขนาด 356.25 ไร่ ประกอบด้วย 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ซ่อมรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ ศูนย์ซ่อมรถโดยสาร ศูนย์ซ่อมรถจักร และศูนย์แผนงานและการผลิต) สามารถซ่อมรถจักรและรถโดยสารได้ราวเดือนละ 12 คัน และดัดแปลงรถไฟตามนโยบายประจำปีได้ ด้วยฝีมือของบุคลากรเพียง 200 กว่าคน
หน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์โรงงานมักกะสัน
เมื่อ 50 ปีที่แล้ว การรถไฟฯ คือหน่วยงานเกรดเอที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาทำงาน วิศวกรต้องจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังหรือจากประเทศเยอรมนีเท่านั้น เป็นยุคที่การรถไฟเฟื่องฟู โรงงานมักกะสันมีคนงานหลายหมื่นคน จนเกิดสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ซึ่งต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ ที่คนงานพึงมีพึงได้
จุดเปลี่ยนที่ทำให้โรงงานมักกะสันเข้าสู่ยุคขาลงคือ พ.ศ. 2526 รัฐบาลมีคำสั่งให้ยุติการสร้างรถทุกชนิด เนื่องจากมองว่าซื้อถูกกว่าผลิตเอง และเริ่มตามเทคโนโลยีต่างประเทศไม่ทัน จุดเปลี่ยนอีกครั้งคือ พ.ศ. 2541 รัฐบาลสั่งให้ลดบุคลากร หากมีพนักงานออก 100 คน ให้รับแทนได้ 5 คน พนักงานการรถไฟฯ ในปัจจุบันจึงลดจากสามหมื่นคนเหลือประมาณหมื่นคน ส่วนพนักงานโรงงานมักกะสันก็เหลือเพียงสองร้อยกว่าคน
ภาพข้อมูล:The Cloud
The Magazine on Cloud about
Local •Creative Culture • Better Living
และคุณ Werapong Ch