"มะตะบะ" คืออะไร? และมาจากไหน?
"มะตะบะ" ภาษาอังกฤษเรียกว่า Murtabak อาหรับจะเรียกว่า “มาตาบัค” ไม่ได้เป็นอาหารดั้งเดิมของอินเดียเสียทีเดียว แต่เป็นอาหารของชาวอาหรับ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ มะตะบะเค็ม และ มะตะบะหวาน และเป็นการประยุกต์ขึ้นมาภายหลัง โดยการนำแป้งสาลีมาห่อเนื้อสัตว์ที่ผสมคลุกเคล้ากับเครื่องเทศแล้วนำไปทอด ด้วยส่วนผสมที่ลงตัว ทำให้กลายเป็นของว่างจานโปรดของทั้งชาวมุสลิมและคนทั่วไป สาเหตุที่ขายดีมากในเดือนรอมฎอนนั้น เนื่องจากชาวมุสลิมจะซื้อไปรับประทานช่วงหลังละศีลอด หรือแก้บวชนั่นเอง
มะตะบะเค็ม คือ โรตีที่ใส่ใส้เนื้อสัตว์หรือผักต่างๆ ที่ปรุงรสสุกแล้ว ไส้มะตะบะเค็มมักจะมีการผสมเครื่องเทศเป็นหลัก เช่น ผงกะหรี่ กระชาย รากผักชี ที่นำมาโขลกรวมกัน แล้วนำลงกระทะ ผัดให้หอม ตามด้วยเนื้อสัตว์ที่สับละเอียด เติมเครื่องปรุงรส เช่น เกลือ น้ำตาลทราย จากนั้น จึงนำผักต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ ผัดให้เข้ากัน อาจเป็นมันฝรั่ง หรือมะระ หอมหัวใหญ่ แครอท ซึ่งหั่นและต้มสุกแล้ว แล้วนำไปใส่ในแป้งโรตี ห่อให้มิด ทอดพอสุก หั่นเป็นชิ้น รับประทานกับ เครื่องเคียงคือ อาจาด มีส่วนผสมของ แตงกวา หอมแดงซอย พริกขี้หนูหั่น น้ำส้มสายชูและ น้ำตาลทราย
มะตะบะหวาน คือ โรตีที่ใส่ใส้กล้วยหอมและลูกเกด วิธีทำในการห่อเหมือนมะตะบะเค็ม พอทอดสุกแล้ว ยกลง หั่นเป็นชิ้นเล็กพอดีคำ ราดด้วยนมข้นหวาน โรยด้วยน้ำตาลทราย
อ้างอิงจาก: คลังวิกิ