ทุรคาบูชาเริ่มแล้ว
เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วง วันที่ 1 - 9 ของเดือนอัศวิน ตามปฏิทินของฮินดู จะเป็นช่วงเวลาของเทศกาลนวราตรี ที่ชาวฮินดู ลัทธิศักติ จะจัดมีการจัดพิธีบูชา เฉลิมฉลอง เพื่อเป็นการรฦกถึงและสดุดีมหาวีรกรรมของมหิงษาสุรมรรทินี ตลอดระยะเวลา 9 วัน
แต่ในขณะเดียวกัน ในพื้นที่ของรัฐเบงกอลตะวันตก, รัฐอัสสัม, รัฐตรีปุระ และ รัฐโอฑิศา รวมถึงบังกลาเทศ และ เนปาล ก็มีการจัดเทศกาล ทุรคาบูชา เป็นเทศกาลสำหรับบูชา เฉลิมฉลอง เพื่อรฦกถึงมหิงษาสุรมรรทินี ที่เทียบเท่ากับเทศกาลนวราตรีเช่นกัน
แต่เทศกาลทุรคาบูชานี้ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 ของเดือนอัศวิน หรือ 5 วันหลังจากเริ่มเทศกาลนวราตรีมาแล้ว และจะจัดพิธีบูชาเทวีทุรคาและเทวีในลัทธิศักติไปจนถึงวันที่ 9 ของเดือนอัศวิน และจะจัดพิธีแห่เทวรูปเทวีทุรคาปราบมหิงษาสูรกันในคืนที่ 10 ของเดือนอัศวิน เช่นเดียวกับเทศกาลนวราตรี ซึ่งในปี 2566 นี้ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม ไปจนถึง วันที่ 23 ตุลาคม และจัดขบวนแห่เฉลิมฉลองในวันที่ 24 ตุลาคม 2566 โดยพิธีบูชาองค์เทพเพื่อขออนุญาตเริ่มพิธีได้จัดขึ้นไปแล้วในวันที่ 19 ตุลาคม
กิจก็จะเริ่มตั้งแต่ 1 วันก่อนถึงวันทุรคาบูชา จะมีการทำพิธีทรงน้ำเทวรูป สาธยายมนต์บูชา ทำการขออนุญาตต่อองค์เทพเพื่อเริ่มเทศกาล โดยในแต่ละวันก็มีการทำพิธีบูชาเช้าและเย็น มีการบูชาโฮมัม หลังจากเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนาแล้วก็จะมีการแสดงดนตรี นาฏศิลป์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองแก่ชัยชนะและสดุดีความกล้าหาญของพระแม่ทุรคา
ในวันสุดท้ายของงานจะมีการจัดขบวนแห่เทวรูปเทวีมหิษาสุรมรรทินีอย่างอย่างใหญ่ โดยชาวบ้านนิยมปั้นเทวรูปจากดินเหนี่ยวแล้วทาสี ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม และจะทำการบูชาตลอดช่วงเทศกาล
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีแห่ก็จะมีการนำรูปปั้นของเทวีมหิษาสุรมรรทินีไปลอยน้ำเป็นการทรงเสด็จกลับเทวโลก
ในปี 2021 องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้รับรองให้เทศกาลทุรคาบูชาของโกลกาตา ในเบงกอลตะวันตก ให้เป็นตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญทางศาสนาที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ควรแก่การเราทุกคนทั่วโลกจะให้ความสำคัญในการช่วยกันสงวนรักษาและส่งเสริมให้คงอยู่