บทความวิชาการ ดร.ศิรวัฒน์ ครองบุญ เรื่อง อหิงสา: การไม่นิยมความรุนแรงตามรัฐปรัชญาของมหาตมะ คานธี
อหิงสา: การไม่นิยมความรุนแรงตามรัฐปรัชญาของมหาตมะ คานธี
พระครูปลัดเถรานุวัตร สุเทวเมธี, ดร.* ดร.ศิรวัฒน์ ครองบุญ**
บทคัดย่อ
มหาตมะ คานธี บุรุษผู้ทรงศีลอย่างยิ่งยวด และยึดหลักความจริง ความถูกต้อง เป็นรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้นิยมแนวทางแห่งสันติและเสรีภาพ เป็นเสาหินที่เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง เป็นแหล่งกำเนิดของความบันดาลใจของประเทศชาติอินเดีย มีบทบาทอย่างสำคัญในการมอบอำนาจให้แก่คนที่อ่อนแอ ในสังคม มีอัจฉริยภาพในการเป็นผู้นำ ซึ่งส่งผลให้โลกทั้งใบเปลี่ยนแปลง มีบุคลิกภาพที่ยิ่งใหญ่ มีอำนาจบารมีในทางสร้างสรรค์ และเป็นผู้นำตราบจนวินาทีสุดท้ายในชีวิต โดยได้สร้างมาตรฐานให้กับทุกคน ที่พยายามจะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่กิจการใด ๆ ที่เป็นการกระทำร่วมกันของหมู่คณะ สอนวิธีสัตยาเคราะห์ คือ การต่อต้านโดยสันติ เป็นผู้นำประชาชนชาวอินเดียเข้าต่อสู้กับจักรวรรดิอันเกรียงไกรของอังกฤษได้สำเร็จ เรียกร้องเอกราชที่มีรากฐานทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง กลับคืนสู่ประเทศด้วยหลักการแห่งอหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนตนเอง สังคม และเพื่อนมนุษย์ ด้วยว่า การไม่นิยมความรุนแรงหรือการนิยมสันติเป็นกฎของมวลมนุษยชาติ เป็นการชำระคนให้บริสุทธิ์ เป็นพลังอำนาจที่สูงกว่าความรุนแรง เป็นสัญลักษณ์แห่งศีลธรรม เป็นพลังอำนาจทางจิตใจที่แข็งแกร่ง เป็นชัยชนะแบบสันติ วิธีการของสัตยาเคราะห์ เป็นอาวุธทางการเมือง คือ อาวุธแห่งสัจจะและความรัก ขบวนการสัตยาเคราะห์จะยึดมั่นอยู่แต่ในหลักแห่งอหิงสธรรม อุทิศตนและทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความถูกต้องและความยุติธรรม อยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความเมตตา ความเสมอภาค สมถะ ถ่อมตน เรียบง่าย ไม่ทะเยอทะยาน มีความหนักแน่น จริงใจ แนวคิดเกี่ยวกับสังคมใหม่ตามทัศนะของมหาตมะ คานธี ก็คือการสถาปนาสังคมที่ไม่นิยมความรุนแรง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับระบบประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ให้ขยายกว้างขวางออกไป อีกทั้ง มหาตมะ คานธีได้นำเอาหลักศาสนาและการเมืองมาปฏิบัติควบคู่กัน เพื่อใช้ในการนำสันติภาพ สมกับเป็นผู้ได้รับการขนานนามว่า “ศาสดาแห่งสันติวิธี”
คำสำคัญ: อหิงสา, รัฐปรัชญา, มหาตมะ คานธี
Abstract
Mahatma Gandhi a holy man extremely and realist, accuracy is the state snoop great enthusiast. TIA work of peace and freedom. Is the pillar that is a symbol of strength. Is the source of inspiration of the Indian nation Play a role as important in the mandate for the weak in the society, has the genius of leadership, which results in the world. Cards change with great personality. There is power in a creative way. Leadership and till the end of life. The standard for all. Trying to bring change to any business that is the act of mutual group method Satyagraha is against the peace. To lead the people of Indian origin to fight the powerful empire of England successfully claim independence with. From the base of political democracy stable. Returned to the country with the principles of nonviolence is not encroach oneself, society and human friends for no. Great violence or popular peace is the law of mankind. It is paid to pure. A power higher than violence, is the symbol of morality. A power stronger emotional victory is peace. The method of Satyagraha as political weapons. Ah. Weapons of truth and love. The Satyagraha will abide in the principle of Nonviolence is justified. Dedication and everything to the accuracy and justice, together with love, compassion, equality. Humble humility, simplicity, not ambitious, steadiness, sincerity, the concepts of the new society in the perspective of the Mahatma Khan). Color is to establish a society that doesn't like violence. Which is related to the democracy and economic decentralization and political, the Mahatma Gandhi, the political and religious practice together, for the peace, as expected from the fire. Been dubbed the "prophet of peace."
Keywords: Nonviolence, state philosophy, Mahatma Gandhi.
1.บทนำ
มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) มีชื่อเต็มว่า โมหันทาส กะรัมจันท์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1869 ณ เมืองโพธิปันคาร์ เมืองเล็ก ๆ ในแคว้นกาฐิยาวาท ท่านเกิดมาในวรรณะแพศย์ ซึ่งเป็นตระกูลที่เคยมีอาชีพในการค้าขายเครื่องเทศและเป็นตระกูลที่มีบทบาททางการเมืองมาโดยตลอด ท่านมีชีวิตเกิดมาเพื่อทำคุณประโยชน์แก่ผู้อื่นทั้งสิ้น ชีวิตของมหาตมะ คานธี เป็นชีวิตที่เรียบง่าย ประกอบไปด้วยเมตตา สัจจะ อ่อนน้อม และอหิงสา ความสับสนวุ่นวายยุ่งเหยิงในอินเดียขณะที่อังกฤษปกครอง ทำให้ท่านก้าวมามีบทบาทในการเรียกร้องเอกราชของอินเดีย ท่ามกลางปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขด้วยวิธีการรุนแรงหรือวิธีแห่งสงครามเสมอไป มนุษย์ยังมีทางเลือกอื่นช่วยในการลดปัญหาความรุนแรง ซึ่งท่านเรียกว่า หลักอหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียน เป็นวิธีที่ลดปัญหาความขัดแย้งได้ และท่านก็ได้นำวิธีดังกล่าวมาใช้เรียกร้องเอกราชให้กับอินเดีย หลักอหิงสาตามปรัชญาของมหาตมะ คานธี คือ ความไม่เบียดเบียน ซึ่งถือว่า เป็นหลักใหญ่และเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด โดยประกอบด้วยหลัก 4 ประการ คือ ความรัก ความอดทน ความกล้าหาญ ความบริสุทธิ์ และความซื่อสัตย์และความจริงใจ จะเห็นได้ว่า มหาตมะ คานธี เป็นผู้ที่มีอัจฉริยะทางการเมือง มีบุคลิกภาพที่ยิ่งใหญ่ มีอำนาจบารมีในทางสร้างสรรค์ มีความเป็นครูสอนในเรื่องความนิยมในความไม่รุนแรง สอนวิธีสัตยาเคราะห์ คือ การต่อต้านโดยสันติ เป็นผู้นำประกาศสงครามกู้อิสรภาพของอินเดีย เมื่อ ปี ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคกรรมกร (Labor Party) ในอังกฤษประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง และเข้าตั้งตั้งรัฐบาล รัฐบาลพรรคกรรมกรประกาศให้อิสรภาพแก่ประเทศอินเดีย ประเทศอินเดียจึงได้รับเสรีภาพ (Freedom) เมื่อเดือน สิงหาคม ค.ศ.1947 (พ.ศ.2490) ภายใต้การนำของมหาตมะ คานธี ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า มหาตมะ คานธี เป็นเสาหินที่เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง และเป็นแหล่งกำเนิดของความบันดาลใจของประเทศชาติ มีบทบาทอย่างสำคัญในการมอบอำนาจให้แก่คนที่อ่อนแอในสังคม อันเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นที่มีมาจากการแสวงหาความจริง อำนาจบารมีก็เกิดขึ้นมาจากความกล้าหาญ ความเข้มแข็งเกิดขึ้นมากจากความเสียสละเพื่อคนอื่น ซึ่งได้อุทิศชีวิตให้กับสิ่งที่เป็นเป้าหมายอันสูงส่ง หลักการเหล่านี้ คือ ความยิ่งใหญ่ของมหาตมะ คานธี ที่ยึดมั่นในค่านิยมที่ถูกต้อง (value-based leadership) กล่าวคือ เรื่องสัจจะ ความจริง อหิงสา ความไม่เบียดเบียน ทั้งสัจจะและอหิงสาล้วนเป็นปรัชญาด้านศีลธรรม จะเห็นได้ว่า ค่านิยมที่กล่าวมานี้ มีมาพร้อมกับมนุษย์ แต่สิ่งที่เป็นนวัตกรรมของมหาตมะ คานธี คือ การทดลองใช้ค่านิยมที่เชื่อมั่นว่าถูกต้อง ในขอบเขตที่กว้างมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ นำค่านิยมที่เคยยึดมั่นอยู่ภายในตัวเองออกไปสู่พื้นที่สาธารณะ เพราะหากไม่ยึดหลักอหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนกัน ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุความจริงได้ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า อหิงสา คือ ธรรมะ (กฎ) อันยิ่งใหญ่ ดังนั้น อหิงสา จึงเป็นวิถีทางเดียวเท่านั้นที่จะนำเราไปสู่เอกราช คนเราอยู่ได้ด้วยการสร้างสรรค์ มิใช่ด้วยการฆ่าผู้อื่น จะเห็นได้ว่า คำสอนของศาสนาไม่ใช่จะปรากฏให้เห็นในที่ทุกแห่งได้ เป็นต้นว่า คำสอนเกี่ยวกับอหิงสา จะปรากฏให้เห็นได้ก็ต่อเมื่อต้องเผชิญหน้ากับหิงสาเท่านั้น เพราะหิงสาเป็นอาวุธของผู้อ่อนแอ อหิงสาเป็นอาวุธของผู้เข้มแข็ง อหิงสามีอยู่ ณ ที่ใดโดยสมบูรณ์ ณ ที่นั้น ความไม่เคียดแค้นชิงชัง ก็ย่อมมีอยู่โดยสมบูรณ์เช่นเดียวกัน
หลักการแห่งอหิงสาของมหาตมะ คานธีนั้น ซึ่งเป็นนักปรัชญาฮินดูที่มีแนวคิดคว่า หากมีความเชื่อมั่นในศาสนาแล้ว จะทำให้คนเรารู้จักควบคุมตัวเอง รักผู้อื่น และทำตนเป็นประโยชน์แก่สังคมและมนุษยชาติอย่างบริสุทธิ์ ความคิดพื้นฐานที่นับว่าสำคัญที่สุดของมหาตมะ คานธี ก็คือ ความเชื่อว่าโลกสถิตอยู่ได้ด้วยหลักธรรม คือ สัจจะ อันหมายถึง ความจริง อะไรที่เป็นความดี ความถูกต้อง เป็นสัจจะทั้งสิ้น สัจธรรมเป็นพระเจ้าสูงสุด การบรรลุสัจธรรมอย่างสมบูรณ์ หรือการเป็นคนดีในทุกด้านนั้น มหาตมะ คานธี เห็นว่าต้องเข้าถึงหลักอหิงสาอย่างแท้จริงก่อน หากไม่มีอหิงสาก็ปฏิบัติตามให้สมบูรณ์ไม่ได้ หลักอหิงสานั้น คือ ความไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ปฏิบัติผิดต่อผู้อื่น ไม่ใช้ความรุนแรง เพราะการไม่กระทำอะไรรุนแรงนั้น เป็นศาสนาของทุกคน และการไม่นิยมความรุนแรงหรือการนิยมสันติเป็นกฎของมวลมนุษยชาติ เช่นเดียวกับการนิยมกระทำอะไรอย่างรุนแรงนั้น เป็นกฎของสัตว์ป่าที่ดุร้าย เพราะเหตุนี้ หลักอหิงสา จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งศีลธรรม (moral) และเป็นพลังอำนาจทางจิตใจที่แข็งแกร่งอีกด้วย แต่ถ้าหากนำเอาคตินิยมแบบมหาตมะ คานธีมาปรับใช้ ก็เป็นการดำเนินชีวิตตามแนวคิดที่พยายามสร้างความสมดุลอย่างกลมกลืน บนพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ที่มีคุณธรรม ไม่เบียดเบียนตนเอง สังคม และเพื่อนมนุษย์ อันจะทำให้คนทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และมหาตมะ คานธี กล่าวว่า ข้าพเจ้าทราบดีว่าคนทั้งผอง สามารถรับหลักการ (อหิงสา) มาปฏิบัติได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องยึดเป็นหลักความเชื่อ และโดยปราศจากความเข้าใจปรัชญาของมัน โดยทั่วไปแล้วคนจะไม่เข้าใจปรัชญาของทุกอย่างที่พวกเขาทำ (นรา สุภัคโรจน์, 2558, หน้า 312).
ดังนั้น มหาตมะ คานธี คือ วีรบุรุษผู้ต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพ จนอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ท่านเปลี่ยนความโกรธแค้นของประชาชนเป็นการให้อภัย และแม้จะถูกคุกคามเอาชีวิต ก็ยังคงยืนยันที่จะต่อสู้อย่างสงบ หลายครั้งช่วงเวลาที่เลวร้ายผ่านพ้นไปได้เพราะการมองโลกในแง่ดี จะเห็นได้ว่า คำกล่าวที่มีสัมมาคารวะของเมาท์แบตเตน สะท้อนพลังอำนาจภาวะผู้นำของมหาตมะ คานธี ทั้ง ๆ ที่คานธี ไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นทางการใด ๆ ปัจจุบัน พลังอำนาจดังกล่าวนี้ เรียกกันว่า “อำนาจอ่อน” (soft power) มหาตมะ คานธี มีเพียง 2 มือเปล่า แต่สามารถดำเนินการจนบรรลุเป้าหมาย ขณะที่กำลังทหารอาจจะทำไม่ได้ อะไรคือความลับของพลังอำนาจ แม้จะถูกลอบสังหารเมื่อ 70 กว่าปีมาแล้ว แต่ทำไม มหาตมะ คานธี ก็ยังคงสร้างแรงดลใจให้แก่ผู้คนนับล้าน ๆ คนทั่วโลก ผู้นำและรัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงหลายคนล้วนได้กำลังใจจากแบบอย่างของมหาตมะ คานธี ไม่ว่าจะเป็นมาร์ติน ลูเทอร์ คิง เนลสัน แมนเดลลา ทะไลลามะ และออง ซาน ซูจี เป็นต้น (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons).
- หลักสัจจธรรมที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ของมหาตมะ คานธี
มหาตมะ คานธี (ประยงค์ สุวรรณบุบผา, 2544, หน้า 163) ได้กำหนดหลักสัจจธรรมที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ ของการไม่นิยมความรุนแรงเอาไว้ 5 ประการ ดังนี้
- ความนิยมความไม่รุนแรง ถือได้ว่า เป็นการชำระคนให้บริสุทธิ์ สะอาด (Self-purification)
- พลังอำนาจ ความแข็งแกร่งของความไม่นิยมความรุนแรง เป็นสัดส่วนที่ถูกต้องกับความเป็นจริงต่อขีดความสามารถทางสติปัญญาของมวลมนุษย์โดยแท้
- ความไม่นิยมความรุนแรง เป็นพลังอำนาจที่สูงกว่าความรุนแรง
- ความไม่นิยมความรุนแรง ไม่ใช่เป็นความพ่ายแพ้ แต่เป็นความชนะแบบสันติ
- เป้าหมายอันสูงสุด ของความนิยมความไม่รุนแรงนั้น ถือเป็นชัยชนะที่มั่นใจได้ว่าดีที่สุด (Best victory) ที่ใดมีความรุนแรงเป็นเป้าหมายที่นั้น จะมีแต่ความพ่ายแพ้ที่ย่อยยับที่สุด
อหิงสา คือ การไม่เบียดเบียน เป็นหน้าที่อันสูงสุด และเป็นหัวใจของศาสนาทั้งปวง เป็นสิ่งจำเป็นกับสังคมทุกยุคทุกสมัย ตราบใดที่มนุษย์ยังตัดสินกันด้วยความรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่ บุคคลจะมีอหิงสาได้ก็ต่อเมื่อได้ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จนอยู่เหนืออารมณ์รัก เกลียด เหนือการยึดติด การมีความบริสุทธิ์ทั้งทางใจ คำพูด หลักอหิงสา เป็นพลังอำนาจ ใช้เป็นอาวุธต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ไม่ใช่เป็นเพราะเห็นว่า ประชาชนอ่อนแอ ไม่มีกำลังในการใช้อาวุธ แต่เป็นเพราะประวัติศาสตร์ได้สอนให้รู้ว่า การใช้กำลังและความเคียดแค้น มีแต่จะทำให้เกิดการใช้กำลังและความเคียดแค้นมากขึ้น การใช้กำลังจะไม่ทำให้เกิดความสงบสุข แต่จะทำลายความสงบสุขและทำให้เกิดความวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น อหิงสา จึงเป็นความถ่อมตนให้ถึงขีดสุด จนปราศจากตัวตน โดยในการต่อสู้จะไม่ตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง เพราะผู้ที่มีอหิงสา จะวางตัวเป็นกลางไม่ผูกพันกับพันธมิตรใด ๆ ทางการทหาร สามารถรับความช่วยเหลือได้จากมหาอำนาจทุกฝ่าย รวมทั้งต่อต้านนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของมหาอำนาจ ให้ความเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน ยอมรับความเท่าเทียมกันของเชื้อชาติและประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของขันติธรรมและศีลธรรม ตามแนวคิดทางศาสนา คือ การหลีกเลี่ยงความรุนแรง และไม่เบียดเบียนหรือเคารพในชีวิตของผู้อื่น ด้วยการขับเคลื่อนตามหลักอหิงสานี้ จึงทำให้อินเดียมีบทบาทที่เป็นอิสระจากการครอบงำจากมหาอำนาจ ในขณะเดียวกัน ก็เน้นการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยการเจรจาในเวทีระหว่างประเทศ มากกว่าการเผชิญหน้าทางการทหาร ดังนั้น เป้าหมายอันสูงสุด ก็คือ ทฤษฎีสัตยาเคราะห์ (Theory of Satyagraha) สำหรับต่อสู้กับความชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวง เช่น ความอยุติธรรม ความไม่บริสุทธิ์ และความไร้สัจจะ การต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์นี้ เป็นวิธีการต่อสู้ที่ได้ผล เพราะไม่ใช้ความรุนแรงหรือสิ้นเปลืองอาวุธ แต่เป็นการต่อสู้ที่ชอบธรรม จึงไม่มีผู้ประณาม มีแต่ผู้เห็นอกเห็นใจและเอาใจช่วยหรือให้ความสนับสนุน (ประยงค์ สุวรรณบุบผา, 2544, หน้า 163) ซึ่งมีความสอดคล้องกับการเรียกร้องความจริง ที่ว่า สัตยาเคราะห์ คือ การยืนกรานในความจริงและการยืนกรานเรียกร้องความจริงนี่เองที่เป็นอาวุธอันทรงพลังของผู้อุทิศตน ซึ่งหลักการนี้ช่วยให้ผู้นำทุกคนมุ่งอยู่กับสิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริง คือ วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายมากกว่าสิ่งที่ทำให้วอกแวก เช่น ความมขัดแย้งของนิสัยและอัตตา โดยการยึดกฎ 3 ข้อ ได้แก่ กฎข้อที่หนึ่ง การเพิกเฉยต่อกฎหมาย คือ จะต้องไม่มีความโกรธ กฎข้อที่สอง คือ การอดทนต่อความโกรธของศัตรู และกฎข้อที่สาม ยอมอดทนต่อการถูกศัตรูประทุษร้ายโดยไม่ตอบโต้ แต่จงอย่ายอมจำนนต่อความกลัว การถูกลงโทษหรืออะไรอื่นในทำนองเดียวกัน หรือต่อคำสั่งใด ๆ ที่มาจากโทสะ (นรา สุภัคโรจน์, 2558, หน้า 330).
ทฤษฎีสัตยาเคราะห์ ของมหาตมะ คานธีนั้น ไม่ใช่วิธีการเคลื่อนไหวที่ทรง “อำนาจสูงสุด” วิธีเดียว แต่เป็นความหลากหลายของวิธีที่อาจจะใช้วิธีเดี่ยว ๆ หรือประกอบกับวิธีอื่น ๆ ตามแต่สถานการณ์ เนื่องจากสภาพการณ์ที่ต่างกัน เรียกร้องการตอบสนองที่ต่างกัน บางครั้งความรุนแรงอาจได้ผลในสภาพการณ์ที่อหิงสาทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ต้องจ่ายราคาความทุกข์ทนของมนุษย์ที่สูงมากจนรับไม่ได้ (อลิสา สันตสมบัติ, 2557, หน้า 133). ในเมื่อความสัตย์จริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือเอกภาพรวมของสรรพชีวิต การที่จะให้ได้บรรลุถึงซึ่งความสัตย์จริงนั้นก็มีหนทางเดียว คือโดยการแผ่ความรักความเมตตาแด่เหล่าผู้คนทั้งมวล โดยวิธีไม่ใช้ความรุนแรง ดังนั้น อาวุธของนักสัตยาเคราะห์คือความไม่รุนแรง สัตยาเคราะห์ ในความหมายแคบซึ่งเป็นที่เข้าใจกันอยู่ทั่วไปจึงหมายความว่าเป็นการขัดฝืนความชั่วร้ายผ่านพลังแห่งจิตวิญญาณ (soul-force) หรือ ความไม่รุนแรง (non-violence)
มหาตมะ คานธี (ประยงค์ สุวรรณบุบผา, 2544, หน้า 164) ได้สรุปย่อความหมาย และสภาวะแห่งความสำเร็จของอหิงสาเอาไว้ว่า
- ความไม่รุนแรงเป็นกฎของมนุษยชาติ และเป็นกฎที่ยิ่งใหญ่สูงส่ง กว่าอำนาจแห่งความรุนแรงอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้
- ความไม่รุนแรงจะไม่มีประโยชน์อะไร ต่อบุคคลที่ไม่มีศรัทธาอย่างจริงใจในเทพเจ้าแห่งความรัก (The God of love)
- ความไม่รุนแรงสามารถให้การอารักขาบุคคลที่เกี่ยวข้อง และที่รักเกียรติ รักศักดิ์ศรีได้อย่างเต็มที่
- ปัจเจกชนแต่ละคน หรือประชาชาติที่ปฏิบัติตามหลักนิยมความไม่รุนแรง จะต้องเตรียมตัวเสียสละทุกสิ่งที่อย่าง เว้นแต่เกียรติยศเท่านั้นที่จะยอมเสียสละไม่ได้
จะเห็นได้ว่า การไม่ใช้ความรุนแรงของมหาตมะ คานธี เป็นสิ่งที่สถิตอยู่ในหัวใจมากกว่าสมอง การไม่ใช้ความรุนแรงไม่สามารถเป็นเพียงนโยบายเท่านั้น แต่ต้องเป็นความเชื่อและความปรารถนาอย่างรุนแรงด้วย เพราะผู้ที่มีความปรารถนาอย่างรุนแรงจะแสดงออกในทุกการกระทำ ซึ่งจะต้องทำโดยไม่ใช้ความรุนแรงหรือการบีบบังคับเท่านั้นจึงจะสำเร็จ การเริ่มใช้ความรุนแรงก็คือการใช้สิ่งที่ผิด หรือไม่จริงแท้ ซึ่จะรักษาไว้ได้ด้วยการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องเท่านั้น เพราะการไม่ใช้ความรุนแรงนั้น จะไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง ความเกลียดชัง และความประสงค์ร้ายต่อกันในที่สุด
ในฐานที่มหาตมะ คานธี ผู้ซึ่งใช้เวลาชั่วชีวิตต่อสู้กับความอยุติธรรมอย่างการเหยียดหยามเชื้อชาติในแอฟริกาใต้ การปกครองอินเดียของอังกฤษ และวิธีปฏิบัติทางสังคมอันน่ารังเกียจในสังคมของตนเอง แต่เดิมนั้นผู้คนอาศัยการถกเถียงอย่างเป็นเหตุเป็นผลและความรุนแรง เรียกร้องเหตุผลและ “พลังกาย” ตามลำดับ มหาตมะ คานธี พบว่า ทั้งสองวิธีไม่เป็นน่าพอใจในหลายระดับ และได้สำรวจวิธีที่จะอาศัย “พลังวิญญาณ” หรือ “พลังความจริง” โดยมหาตมะ คานธี ได้โน้มน้าวชาวแอฟริกาใต้ผิวขาวว่า คนผิวดำและคนเอเชียควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน โน้มน้าวผู้ปกครองชาวอังกฤษว่า ชาวอินเดียควรมีอิสระในการประกอบกิจการของตน (อลิสา สันตสมบัติ, 2557, หน้า 115).
มหาตมะ คานธี เข้าใจว่า แม้การโน้มน้าวให้บรรดาผู้สนับสนุนรักษาสัญญาที่จะไม่ใช้ความรุนแรง บนเส้นทางแห่งการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจะยากแล้ว แต่การทำให้พวกเขายอมสละความต้องการที่จะแก้แค้นที่สะสมมานานหลังจากที่ได้รับอิสรภาพตามเป้าหมายแล้ว จะเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า การสัญญาว่าจะไม่ใช้กำลังเมื่อไม่มีอำนาจจะให้ใช้เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การจะรักษาสัญญาเมื่อมีอำนาจอยู่ในมือก็เป็นอีกเรื่อง ดังนั้น นี่คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการรักษาสัญญาที่ให้ไว้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การรักษาสัญญาและจริยธรรมเท่านั้น แต่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายที่จะทำให้การปฏิสัมพันธ์หรือการสื่อสารที่สำคัญใด ๆ เป็นอัมพาตด้วย ดังนั้น มหาตมะ คานธี มีทัศนะว่าต่อบทบาทของตนเองว่า ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ก่อการและผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้รักษาเสถียรภาพด้วย งานของผู้นำคือ การจัดการกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ใช้เกิดความวุ่นวาย เพราะหากสัญญาไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาในการจัดการกับอนาคตได้แล้ว สัญญานั้นก็ไร้ค่า อนาคตคือหัวใจสำคัญของสัญญาหรือข้อตกลงใด ๆ ดังนั้น มหาตมะ คานธี จึงเน้นย้ำว่า “สำหรับข้าพเจ้า การไม่ใช้ความรุนแรงคือบัญญัติ และข้าพเจ้าจะต้องทำตามบัญญัติที่ข้าพเจ้าเชื่อ ไม่ว่าจะอยู่คนเดียวหรือมีคนอยู่ด้วยก็ตาม (นรา สุภัคโรจน์, 2558, หน้า 213).
การแบ่งขั้วระหวางวิธีการกับผลที่เป็นหัวใจของทฤษฎีว่าด้วยความรุนแรง ส่วนใหญ่นั้นผิด ในชีวิตมนุษย์ สิ่งที่เรียกว่า วิธีการไม่ได้ประกอบด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ไร้ชีวิต แต่เป็นการกระทำของมนุษย์ และโดยนิยามแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่อาจอยู่นอกขอบเขตอำนาจของศีลธรรม วิธีการต่อสู้เพื่อเป้าหมายไม่ได้อยู่ภายนอก แต่เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายนั้น ทุกก้าวย่างสู่เป้าหมายที่พึงปรารถนานั้นได้ก่อรูปก่อร่างคุณลักษณะของเป้าหมายและต้องเอาใจใส่อย่างยิ่งยวด ไม่เช่นนั้นแล้ว อาจจะบิดเบือนหรือทำลายเป้าหมายให้ย่อยยับ เป้าหมายไม่ได้ดำรงอยู่ที่ผล ของชุดการกระทำที่ออกแบบมาเพื่อให้เป้าบรรลุเป้าหมาย อนึ่ง การปฏิวัติโดยไม่ใช้ความรุนแรงไม่ใช่แผนการยึดอำนาจ หากแต่เป็นแผนการแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่จบลงด้วยการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ (อลิสา สันตสมบัติ, 2557, หน้า 120).
- วิสัยทัศน์ต่อสังคมไร้ความรุนแรง
มหาตมะ คานธี มีความเชื่อว่า สังคมมีความแตกต่างกัน มีประวัติศาสตร์และประเพณีที่แตกต่างกัน การแสวงหาต้นแบบหนึ่งเดียวที่ไม่เชื่อมโยงและอันตราย มีการผลิตซ้ำและเสริมความแข็งแกร่งให้กับเหตุผลนิยมแบบปฏิฐานนิยมของสังคมสมัยใหม่ และกระตุ้นให้เกิดแนวโน้มที่จะหล่อหลอมทุกสังคมในเบ้าหลอมอันเดียวกัน หลักการทั่วไปที่ใช้ในการปกครองสังคม คือ การให้สังคมนั้นมีอิสรเสรีที่จะบรรลุถึงสังคมที่ดีด้วยวิถีทางเฉพาะของตัวเอง หลักการดังกล่าวนี้ ได้มาจากทฤษฎีธรรมชาติมนุษย์ กล่าวคือ มนุษย์เป็นผู้พิทักษ์สรรพสิ่งที่พึ่งพากันและกัน และเป็น 4 มิติในธรรมชาติ ในทัศนะของมหาตมะ คานธี ความจริง เชิงภววิทยา มีหลักการดังนี้
หลักการแรก สังคมที่ดีควรบ่งบอกถึงจิตวิญญาณแห่งศรัทธาจักรวาล เนื่องจากมนุษย์ไม่ใช่ผู้เป็นนายหรือเป็นเจ้าของ แต่เป็นผู้พิทักษ์สรรพสิ่ง จึงควรจัดระเบียบชีวิตส่วนรวมให้เคารพในบูรณภาพ ความหลากหลายจังหวะ และสมดุลภายในของสรรพสิ่งนั้น
หลักการที่สอง เนื่องจากมนุษย์พึ่งพาอาศัยกัน สังคมที่ดีควรขัดขวางการเอาเปรียบขูดรีด การครอบงำ ความอยุติธรรม และความไม่เท่าเทียมทุกรูปแบบ ซึ่งทำให้ความรู้สึกของมนุษย์หยาบกระด้างขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และอาศัยความเท็จ เพื่อให้การดำรงอยู่นั้นดำเนินต่อไป ทั้งควรหาทางล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ ความสมานฉันท์ แล้วทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นสถานบัน
หลักการที่สาม เนื่องจากมนุษย์มีลักษณะเชิงจิตวิญญาณโดยธรรมชาติ สังคมที่ดีจึงควรช่วยให้มนุษย์พัฒนาอำนาจทางศีลธรรมและทางจิตวิญญาณ และสร้างเงื่อนไขสำหรับสวราช การปกครองตนเอง หรืออัตตาณัติ สำหรับมหาตมะ คานธีแล้ว สวราช หมายถึง สภาวะทั่วไปของสิ่งต่าง ๆ ที่ปัจเจกควบคุมตนเองได้อย่างมีศีลธรรม ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แยกแยะความแตกต่างและความขัดแย้งได้เอง และทำโดยปราศจากการบีบบังคับภายนอก ดังนั้น สวราช จึงมีสมมติฐานล่วงหน้าถึงความมีวินัยในตนเอง การควบคุมตนเอง ความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน
หลักการที่สี่ สังคมที่ดีควรเชิดชูพหุนิยมเชิงญาณวิทยา คือ การชื่นชมเหตุผล สหัชญาณ ศรัทธา ประเพณี ภูมิปัญญาร่วมที่สั่งสมมารุ่นต่อรุ่น และอารมณ์ ล้วนเป็นบ่อเกิดของความรู้อันทรงคุณค่า มีคุณูปการอันโดดเด่นในตัวเองและถอดแบบความซับซ้อนของชีวิตมนุษย์ สังคมที่ดีควรกระตุ้นให้เกิดการสนทนา การมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์ ไม่ยอมให้ใครคนใดคนหนึ่งรับบทบาทครองอำนาจนำหรือกลายเป็นผู้ชี้ขาดคนอื่น สำหรับมหาตมะ คานธี เหตุผลเป็นความสามารถสำคัญของมนุษย์ และการอ้างความรู้ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ควรผ่านการทดสอบของเหตุผล แต่ไม่ให้ความหมายว่า ความสามารถอื่น ๆ ของมนุษย์ควรเลียนแบบ หรือทำงานและตรวจสอบว่าการอ้างความรู้นั้นสมเหตุสมผลหรือไม่
หลักการสุดท้าย เนื่องจากปัจเจกแต่ละคนมี สวภาพ (swabhãva) หรือการประกอบสร้างทางศีลธรรมและทางจิตวิทยาแตกต่างกัน และจัดการกับเงื่อนไขชีวิตด้วยวิธีเฉพาะของตนเอง สังคมที่ดีควรให้พื้นที่มากที่สุดแก่อัตตาณัติส่วนบุคคล สังคมที่ดีควรเคารพ “ความจริง” หรือบูรณภาพของแต่ละบุคคล และอนุญาตให้พวกเขามีอิสรภาพที่จะวางแผนชีวิตตนเอง มีอิสระที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด เนื่องจากชีวิตมนุษย์เหลื่อมซ้อนกันและมนุษย์แต่ละคนเป็นผู้ดูแลเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีหน้าที่ชี้ให้เห็นข้อจำกัดของกันและกันด้วยจิตวิญญาณแห่งความเอื้ออาทรและความรัก และให้ความช่วยเหลือตามแต่ที่มีคนต้องการ (อลิสา สันตสมบัติ, 2557, หน้า 161-164).
ระบบที่ชั่วร้ายนั้นไม่ต่างจากปีศาจ และเราจำเป็นต้องคว่ำบาตรทั้งระบบอย่างสิ้นเชิง หากเรายอมสละตำแหน่งกับยศศักดิ์ที่ระบบอังกฤษมอบและให้การคุ้มครองแก่เราเสียเอง พร้อมทั้งความมั่งคั่งที่ได้จากการขายสินค้าอังกฤษ ระบบนั้นจะต้องล่มสลายในที่สุด สวราช หรือ อัตตภิบาล ที่แท้จริง คือ ความมุ่งมั่นและอุทิศตัวเต็มที่ในการยืนด้วยลำแข้งตนเอง ดังนั้น ผู้อ่อนแอให้อภัยไม่เป็น การให้อภัยเป็นคุณสมบัติของผู้เข้มแข็ง (เอื้อยจิตร บุนนาค, 2555, หน้า 106-107).
ครั้งหนึ่ง มหาตมะ คานธี เดินทางโดยรถไฟจากเมืองเดอร์บัน นิคม Natal มีบัตรโดยสารรถไฟชั้น 1 เมื่อรถไฟเดินทางถึงเมืองหนึ่ง เจ้าหน้าที่รถไฟก็มาบอกให้มหาตมะ คานธี ต้องย้ายไปอยู่ที่ห้องเก็บสัมภาระ แต่ท่านปฏิเสธที่จะย้ายชั้นโดยสาร ในที่สุดก็ถูกไล่ลงจากรถไฟ ท่านจึงได้เขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติว่า “มันเป็นปริศนาที่ลี้ลับต่อข้าพเจ้ามาตลอดว่า คนเราเกิดความรู้สึกว่าตัวเองมีเกียรติศักดิ์ศรีได้อย่างไรโดยการเหยียดหยามเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มหาตมะ คานธี ตระหนักในภารกิจบางอย่าง โดยเขียนไว้ว่า “หากเป็นไปได้ ข้าพเจ้าจะพยายามขจัดต้นเหตุของมัน และยอมทุกข์ยากในการทำในสิ่งนี้ จะหาทางขจัดปัดเป่าในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อทำลายอคติทางผิวพันธุ์” เหตุการณ์ที่ประสบด้วยตัวเองในครั้งนี้ มหาตมะ คานธี ไม่ได้มองว่าเป็นการเหยียดหยามเป็นการส่วนตัว แต่เป็นปัญหาทั่วไป และจะต่อสู้ในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ทัศนะนี้สะท้อนความรู้สึกที่ฝังลึกอยู่ในตัวของมหาตมะ คานธี เกี่ยวกับเมตตาธรรม หลักการสำคัญข้อหนึ่งของอหิงสานั่นเอง เพราะเหตุนี้ มหาตมะ คานธี จึงเรียกวิธีการต่อสู้แบบอารยะขัดขืนนี้ว่า สัตยาเคราะห์ (Satyagraha) ที่หมายถึง พลังจิตใจที่เกิดจากการมีวินัยในตัวเอง การรู้จักควบคุมตัวเอง และการทำตัวเองให้บริสุทธิ์ และนักสัตยาเคราะห์ (Satyagrahi) จึงเป็นบุคคลผู้ซึ่งนับถือบูชาพระผู้เป็นเจ้า (a man of God)
สัตยาเคราะห์ในความหมายแคบมีหลากหลายรูปแบบ ในขั้นพื้นฐานสัตยาเคราะห์เป็นการเรียกร้องให้ฝ่ายตรงข้ามใช้เหตุผลและจิตสำนึก โดยที่ผู้เรียกร้องเป็นฝ่ายยอมสละตนให้เป็นผู้รับทุกข์ทรมานเสียเอง แรงจูงใจให้ทำเช่นนี้ ก็เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามได้เปลี่ยนความคิดและเปลี่ยนแปลงตนเอง ทำให้เขากลับมาเป็นพันธมิตรและเป็นเพื่อนโดยสมัครใจอย่างเต็มใจ แนวทางนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า การเรียกร้องด้วยศีลธรรมไปยังหัวใจและจิตสำนึกนั้น ในฐานะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน จะมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผล มากกว่าการเรียกร้องที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการข่มขู่ เพื่อให้เกิดภัยอันตราย การบาดเจ็บต่อร่างกาย หรือภัยจากการใช้ความรุนแรง ในความเห็นของมหาตมะ คานธี ที่จริงแล้วความรุนแรง ไม่มีวันที่จะเอาชนะความบาปหยาบช้าเลวร้ายใด ๆ ได้เลย มันเพียงได้แต่กดทับเอาไว้ได้ระยะหนึ่ง แล้วบาปหยาบช้าเหล่านั้น ก็จะผุดกลับขึ้นมาอีก คราวนี้จะเพิ่มพลังบาปหยาบช้าขึ้นอีกเท่าตัว ในทางตรงกันข้าม การไม่ใช้ความรุนแรง จะเป็นการหยุดบาปหยาบช้านั้นได้จบสิ้น เพราะผู้ทำบาปหยาบช้านั้นได้ถูกเปลี่ยนไปแล้วโดยพลานุภาพของความไม่รุนแรง ที่สำคัญนักสัตยาเคราะห์ จะยังร่วมมือกับคนบาปหยาบช้าเฉพาะในส่วนที่เป็นกิจกรรมดี เพราะนักสัตยาเคราะห์ มิได้มีความเกลียดชังต่อตัวบุคคลนั้น ตรงกันข้าม นักสัตยาเคราะห์ มีแต่มิตรภาพที่จะหยิบยื่นให้กับเขา ด้วยการให้ความร่วมมือกับเขา ทำเฉพาะในเรื่องที่ไม่เป็นบาปหยาบช้าเลวร้าย นักสัตยาเคราะห์ ก็จะประสบความสำเร็จในการฉุดเขาให้พ้นจากการกระทำที่เป็นบาปหยาบช้าและเลวร้าย สัตยาเคราะห์ในทางการเมืองในรูปแบบของการดื้อแพ่ง ไม่เชื่อฟังแบบผู้เจริญหรือผู้มีอารยะธรรม (Civil Disobedience) แปลว่า “การดื้อแพ่งอย่างผู้เจริญ” หรือที่เรียกันทั่วไปในประเทศไทยว่า “อารยะขัดขืน” สัตยาเคราะห์ในรูปแบบนี้เองที่ท่านมหาตมะ คานธี มีชื่อเสียงโด่งดังมาก เป็นคำเรียกท่านมหาตมะคานธี ในแบบแผนประเพณีการแสดงความเคารพผู้อาวุโส หมายความถึง การที่มวลมหาชนกระทำกิจกรรมดื้อแพ่งสัตยาเคราะห์พร้อมกันด้วยวิธีไม่ใช้ความรุนแรง เป็นการต่อต้านรัฐบาล เมื่อวิธีการต่อสู้ด้วยการเจรจาและวิธีทางรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ
สัตยาเคราะห์ หรือการขัดฝืนโดยไม่ใช้ความรุนแรง ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับพวกชาวตะวันตกที่เป็นนักสันติวิธีและพวกต่อต้านสงคราม นักสันติวิธีชาวตะวันตกที่ผ่านมามักจะทำไม่สำเร็จ เพราะเขาเหล่านั้นคิดเพียงว่าสามารถต่อต้านขัดฝืนสงครามได้ด้วยการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อ และการต่อต้านโดยใช้จิตสำนึกพื้นฐาน และการจัดกระบวนวิธีตกลงรอมชอมความขัดแย้งเท่านั้น แต่ท่านมหาตมะ คานธี แสดงให้เห็นว่า ถ้าจะให้การไม่ใช้ความรุนแรงสัมฤทธิ์ผล จำต้องมีความพยายามเชิงสร้างสรรค์ ทุกด้านของวิถีชีวิต ทั้งด้านส่วนตัว สังคม เศรษฐกิจ และด้านการเมือง ทุกด้านที่ว่านี้ต้องมีการบริหารจัดการ จัดทำรูปแบบใหม่ให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ได้ว่า การที่จะเป็นคนรักสันติไม่ใช้ความรุนแรงได้นั้น จะต้องทำเช่นไรในชีวิตประจำวัน ให้รู้จักจัดการงานในชีวิตตนให้เกิดความร่วมมือกับผู้อื่นโดยยึดสันติวิธีเป็นพื้นฐาน แล้วจึงจะได้บังเกิดพลังเข้มแข็งพอเพียง และเกิดความเป็นผู้มีคุณค่าที่หลากหลาย ทำให้พร้อมที่จะทำกิจกรรมที่ไม่ใช้ความรุนแรงต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามที่ใช้ความรุนแรงจัดการกับปัญหาขัดแย้ง (สมเกียรติ อ่อนวิมล, 2556)
มหาตมะ คานธี เป็นผู้นำที่ยึดมั่นค่านิยมหลักเรื่องสัจจะความจริง และอหิงสา ไม่เคยยอมประนีประนอมในหลักการนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน สัจจะและอหิงสาล้วนเป็นปรัชญาด้านศีลธรรม โดยเชื่อว่าตัวเองไม่ได้มีอะไรใหม่มาเผยแพร่แก่โลก ค่านิยมเหล่านี้ มีมาพร้อมกับมนุษย์เรา แต่สิ่งที่เป็นนวัตกรรมของมหาตมะ คานธี คือ การทดลองใช้ค่านิยมที่เชื่อมั่นว่าถูกต้อง ในขอบเขตที่กว้างขวางมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ นำค่านิยมที่เคยยึดมั่นอยู่ภายในตัวเองออกไปสู่พื้นที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม มหาตมะ คานธี เห็นว่า การปฏิวัติของชาวอินเดียนั้นจะแตกต่างไปจากการปฏิวัติของชาวฝรั่งเศสหรือรัสเซีย นั่นคือ “ถึงแม้ว่า การต่อสู้ของพวกเขาจะเป็นการต่อสู้เพื่อประชาชน ก็ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง...ประชาธิปไตยของข้าพเจ้าหมายถึงการที่ทุกคนได้เป็นนายของตนเอง” (Dhiman, Satinder. 2015)
- พุทธวิธีการบริหารโดยการไม่ใช้ความรุนแรง
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรัก ความเมตตา อหิงสา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แม้กระนั้น ในสมัยพุทธกาลก็มีประเด็นข้อพิพาทบาดหมางกันอยู่หลายเรื่อง ดังที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก เล่ม 6 จุลวรรค ภาค 1 กัมมขันธกะ ตัชชนียกรรมที่ 1 เรื่องภิกษุพวกพระปัณฑุกะและพระโลหิตกะ หน้าที่ 1-3 ใจความว่า พระปัณฑุกะและพระโลหิตกะ เป็นผู้ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ด้วยตนเอง ได้เข้าไปหาภิกษุพวกอื่นที่ร่วมก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ด้วยกัน แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ผู้นั้น อย่าได้ชนะพวกท่าน พวกท่าน จงโต้ตอบถ้อยคำให้แข็งแรง เพราะพวกท่านเป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม คงแก่เรียน และสามารถกว่าเขา อย่ากลัวเขาเลย แม้พวกผม ก็จักเป็นฝักฝ่ายของพวกท่าน โดยวิธีนั้น ความบาดหมาง ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเพิ่มพูน แผ่กว้างออกไป พระพุทธเจ้าทรงมีหลักการบริหารการไม่ใช้ความรุนแรงระหว่างบุคคลในคณะสงฆ์ โดยทรงชี้ให้เห็นว่า การกระทำของพระปัณฑุกะและพระโลหิตกะ ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เป็นโมฆบุรุษ เพราะไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว จึงทรงแสดงโทษและคุณแล้วให้ทำตัชชนียกรรม คือวีธีลงโทษด้วยการตำหนิโทษไว้ เป็นกรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงขู่ เป็นสังฆกรรมประเภทนิคคหกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสงฆ์ทำการตำหนิโทษภิกษุผู้ก่อความทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์ เป็นผู้มีอาบัติมากและคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร
เรื่องพระนางสามาวดี (อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่ 2 ที่ทรงอภิเษกกับพระเจ้าอุเทน ซึ่งพระเจ้าอุเทนมีพระเหสี 3 พระองค์ คือ พระนางสามาวดี พระนางวาสุลทัตตา และพระนางมาคันทิยา พระนางสามาวดี มีศรัทธาในพระรัตนตรัย แต่พระนางมาคันทิยา เป็นมิจฉาทิฏฐิ ได้กราบทูลให้พระเจ้าอุเทนเข้าใจในตัวนางสามาวดีผิด หาว่านางฝักใฝ่บุคคลภายนอก จนพระเจ้าอุเทนทรงเชื่อ และพยายามจะฆ่านางสามาวดีด้วยธนู แต่พระนางก็แผ่เมตตาให้ ด้วยอำนาจแห่งการแผ่เมตตานั้น ทำให้พระเจ้าอุเทนได้สติและทิ้งธนู ในกาลต่อมา นางมาคันทิยาร่วมมือกับอา เผาปราสาทของนางสามาวดี พร้อมตำหนักของหญิงบริวาร ทำให้นางสามาวดีและหญิงบริวารเสียชีวิตในกองเพลิงทั้งหมด พระเจ้าอุเทน ทรงทราบความจริงว่า พระนางสามาวดีและหญิงบริหารถูกใส่ร้าย และถูกฆ่า จึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตนางมาคันทิยากับอา โดยการฝังครึ่งตัวเอาฟางคลุม จุดไฟเผาทั้งเป็น แล้วเอาไถเหล็กไถกลบอีกทีหนึ่ง ส่วนนางมาคันทิยาให้ตัดเนื้อโยนเข้ากองไฟทีละชิ้น พระพุทธเจ้าทรงมีหลักการบริหารความความรุนแรงระหว่างบุคคล ในเรื่องพระนางมาคันทิยานี้ โดยทรงชี้ให้เห็นว่า ความอิจฉาริษยา ความโกรธ ความผูกอาฆาต ซึ่งนางมาคันทิยาได้ผูกอาฆาตไว้ ส่งผลให้ตนเองได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง ตรงกันข้ามกับพระนางสามาวดี ที่ยึดมั่นในพระรัตนตรัย เจริญเมตตา ไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ย่อมส่งผลดี เป็นความสุข ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เรื่องสงครามแย่งน้ำ สงครามน้ำเป็นสงครามเกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างชาวศากยะและโกลิยะ ที่อ้างสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากรน้ำ ในแม่น้ำโรหิณี การนำประเด็นเรื่อง “ชาติพันธุ์” ของกษัตริย์แต่ละฝ่ายมาเป็น “ตัวช่วย” สถานการณ์ความขัดแย้งอันจะนำไปสู่ความรุนแรงนั้น ได้ขยายวงจากกรรมกรไปสู่อำมาตย์ เสนาบดี และกษัตริย์ของทั้งสองแคว้น จึงทำให้กษัตริย์ทั้งสองแคว้นตัดสินใจนำ “กำลังรบ” ทั้งทางบกและทางน้ำเพื่อทำสงครามระหว่างกัน พุทธวิธีการบริหารความรุนแรงด้านชาติพันธุ์วรรณนานี้ จะเห็นได้ว่า ในขณะที่ “สงครามน้ำ” กำลังดำเนินไปอยู่นั้น พระพุทธเจ้าทรงวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงทรงพบว่า ประเด็นความขัดแย้งคือเรื่องน้ำ และโยงไปถึงเรื่องชาติพันธุ์วรรณนา สิ่งที่ทำหน้าที่ชักใยอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมดังกล่าวก็คือตัณหา ทิฏฐิ และมานะที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเมฆหมอกของอวิชชา พระพุทธเจ้าทรงใช้กลยุทธ์การโน้มน้าว (Persuasion) ให้ความสำคัญกับการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลเสียที่จะเกิดขึ้นแก่คู่กรณี และโน้มน้าวให้คู่กรณีได้เห็นถึงความสำคัญของความสามัคคี (พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php).
- บทสรุป
มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) เป็นรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ยึดหลักความจริง นิยมแนวทางแห่งสันติและเสรีภาพ เป็นเสาหินที่เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง เป็นแหล่งกำเนิดของความบันดาลใจของประเทศชาติอินเดีย มีบทบาทในการมอบอำนาจให้แก่คนที่อ่อนแอในสังคม มีอัจฉริยภาพในการเป็นผู้นำสอนวิธีสัตยาเคราะห์ คือ การต่อต้านโดยสันติ เป็นผู้นำประชาชนชาวอินเดียเข้าต่อสู้กับจักรวรรดิอันเกรียงไกรของอังกฤษได้สำเร็จ เรียกร้องเอกราชที่มีรากฐานทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย กลับคืนสู่ประเทศด้วยหลักการแห่งอหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนตนเอง สังคม และเพื่อนมนุษย์ ยึดหลัก การไม่นิยมความรุนแรงหรือการนิยมสันติเป็นกฎของมวลมนุษยชาติ เป็นการชำระคนให้บริสุทธิ์ เป็นพลังอำนาจที่สูงกว่าความรุนแรง เป็นสัญลักษณ์แห่งศีลธรรม เป็นพลังอำนาจทางจิตใจที่แข็งแกร่ง หลักอหิงสา คือ การไม่เบียดเบียน เป็นหน้าที่อันสูงสุด และเป็นหัวใจของศาสนา เป็นสิ่งจำเป็นกับสังคมทุกยุคทุกสมัย ตราบใดที่มนุษย์ยังตัดสินกันด้วยความรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่ บุคคลจะมีอหิงสาได้ก็ต่อเมื่อได้ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จนอยู่เหนืออารมณ์รัก เกลียด เหนือการยึดติด การมีความบริสุทธิ์ทั้งทางใจ คำพูด หลักอหิงสา เป็นพลังอำนาจ ใช้เป็นอาวุธต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ส่วนสัตยาเคราะห์ หรือการขัดฝืนโดยไม่ใช้ความรุนแรง ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับพวกชาวตะวันตก ที่เป็นนักสันติวิธีที่ต่อต้านสงคราม นักสันติวิธีชาวตะวันตกที่ผ่านมามักจะทำไม่สำเร็จ เพราะคิดเพียงว่าสามารถต่อต้านขัดฝืนสงครามได้ด้วยการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อ และการต่อต้านโดยใช้จิตสำนึกพื้นฐาน และการจัดกระบวนวิธีตกลงรอมชอมความขัดแย้งเท่านั้น แต่ท่านมหาตมะ คานธี แสดงให้เห็นว่า ถ้าจะให้การไม่ใช้ความรุนแรงสัมฤทธิ์ผล จำต้องมีความพยายามเชิงสร้างสรรค์ ทั้งด้านส่วนตัว สังคม เศรษฐกิจ และด้านการเมือง
มหาตมะ คานธี เป็นผู้นำที่ยึดมั่นค่านิยมหลักเรื่องสัจจะความจริง และอหิงสา ไม่เคยยอมประนีประนอมในหลักการนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน สัจจะและอหิงสาล้วนเป็นปรัชญาด้านศีลธรรม หลักอหิงสา มีพื้นฐานมาจากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา คือ หลักอหิงสา หรืออวิหิงสา คือ การไม่เบียดเบียน ซึ่งตามหลักพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้า ทรงมีพุทธวิธีบริหารโดยไม่ใช้ความรุนแรง เช่น เรื่องภิกษุพวกพระปัณฑุกะและพระโลหิตกะ เรื่องพระนางสามาวดี และเรื่องสงครามแย่งน้ำ ระหว่างชาวศากยะและโกลิยะ ซึ่งได้มีการนำประเด็นเรื่อง “ชาติพันธุ์วรรณนา” เข้ามาเป็นประเด็นความขัดแย้งอันจะนำไปสู่ความรุนแรง มหาตมะ คานธี ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล แต่ได้พัฒนาเป็นการเรียกร้องการปกครองตนเองหรือสวราช ซึ่งรวมถึงการปฏิเสธตำแหน่งและเหรียญตราบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลอังกฤษ การคว่ำบาตรกฎหมายศาล สถาบันการศึกษา สภา การเลือกตั้ง สิ้นค้านำเข้า โดยเฉพาะผ้า และทุกงานของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังปฏิเสธไม่เข้าเกณฑ์ทหาร มหาตมะ คานธี ได้ส่งเสริมโครงการการศึกษาแห่งชาติอินเดีย และอุตสาหกรรมในครัวเรือนของอินเดีย โดยเฉพาะการปั่นด้ายและทอผ้า เพื่อทดแทนสิ่งที่ถูกคว่ำบาตรไป การไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวอินเดียจนแพร่กระจายไปทั่วประเทศ มันได้นำชาวอินเดียเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกัน สั่นคลอนจักรวรรดิอังกฤษไปถึงแก่น ในปี ค.ศ.1921 ชาวอินเดียได้มอบสมญา “มหาตมา” หรือที่แปลว่า “จิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่” ให้กับโมหันทาส คานธี ผู้คนพากันเคารพประดุจนักบุญ พระผู้ช่วยให้รอด หรือพระเจ้าที่กลับชาติมาเกิด ในที่สุดความหวัง ความปรารถนา และอิสรภาพที่ถวิลหา จึงได้มาอย่างภาคภูมิ ด้วยสภาวะของความเป็นผู้นำการทวงอิสรภาพครั้งนี้ ทำให้คนอินเดียไม่ลืมคุณูปการของบุรุษผู้ได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งประชาชาติของอินเดีย” และได้รับการขนานนามว่า “ศาสดาแห่งสันติวิธี” และที่สำคัญในธนบัตรของอินเดียทุกใบจึงน้อมนำรูปท่านมหาตมะ คานธี เป็นอนุสรณ์ให้ชาวภารตะได้รำลึกถึงความดีของท่าน และเพื่อให้เป็นแบบอย่างของมนุษย์ผู้เสียสละอย่างแท้จริง