เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก
การทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF เป็นวิธีการรักษาโรคมีบุตรยากด้วยวิธีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ในหลอดทดลอง จากนั้นจึงนำตัวอ่อนที่ได้มาเพาะเลี้ยงต่อจนอายุ 3-5 วัน จึงนำกลับเข้าสู่ร่างกายฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการฝังตัวและตั้งครรภ์ต่อไป
เด็กที่เกิดจากวิธีทำเด็กหลอดแก้ว จะแตกต่างจากเด็กทั่วไปหรือไม่? โดยการวิจัยของ ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย กล่าวคือ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน พบว่า ไม่มีความแตกต่างใดจากทารกที่เกิดโดยวิธีธรรมชาติ มีอัตราความพิการแต่กำเนิดไม่แตกต่างกัน แต่อาจจะมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า ซึ่งสิ่งนี้คงจะต้องเป็นว่าที่คุณพ่อ คุณแม่ ในการประคบประหงม โดยค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 – 100,000 บาทขึ้นไป
ที่มาของคำว่าหลอดแก้ว มาจากคำว่า "In Vitro" เป็นภาษาละตินแปลว่า "ภายนอกสิ่งมีชีวิต" ซึ่งก็สามารถให้ความหมายในทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า อยู่ภายในแก้ว หรือภายในหลอดทดลองนั่นเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วทั้งแก้วและหลอดทดลองต่างไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับการทำเด็กหลอดแก้ว
เด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก
วันที่ 25 กรกฎาคม 2521 นับเป็นวันถือกำเนิดของเด็กหลอดแก้วคนแรกของโลก โรงพยาบาล Royal Oldham Hospital เมืองโอลด์แฮม ประเทศอังกฤษ เป็นทารกเพศหญิง ชื่อ “หลุยส์ บราวน์” (Louise Joy Brown)
ผู้ซึ่งเป็นบุตรของ นางเลสลีย์ บราวน์ (Lesley Brown) แม่ผู้ให้กำเนิด และนั่นเป็นประวัติศาสต์สำคัญที่ทำให้ศาสตราจารย์ เซอร์ โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด (Prof Sir Robert Edwards) ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาผู้ให้กำเนิดเด็กหลอดแก้ว ศาสตราจารย์ เซอร์ โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด ทำการทดลองวิจัยนี้จนสำเร็จโดยมีทีมงานร่วมคนสำคัญคือ ดร.แพทริค สเต็ปโต (Dr. Patrick Steptoe) ณ คลินิกบอร์นฮอล์ (bourn hall) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
หลายคนเข้าใจผิดว่าเด็กหลอดแก้วก็คือการผสมเทียม ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ เด็กหลอดแก้วแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการผสมเทียม เพราะการผสมเทียม (Articial Insemination) หมายถึง การฉีด "เชื้ออสุจิ" เข้าไปในช่องคลอดหรือมดลูก โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ช่วยเหลือ จะมีการปฏิสนธิหรือไม่ ยังไม่ทราบ และหากมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ก็เป็นการปฏิสนธิภายในร่างกาย ในขณะที่การทำเด็กหลอดแก้วทำขึ้นเพื่อให้การปฏิสนธิภายนอกโดยการนำเอา "ไข่" ของสตรีออกมาภายนอกร่างกายแล้วมาผสมกับ "เชื้ออสุจิ" ในหลอดแก้วทดลอง เพื่อให้มี บรรยากาศภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเกิดขึ้นและดำรงชีวิตของ "ตัวอ่อน" ได้