ทำไมสลอธเคลื่อนไหวช้า?
ทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่าเจ้าสลอธนั้นได้ชื่อว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เคลื่อนไหวได้อย่าเชื่องช้า แม้แต่คำว่าสลอธเองก็ยังถูกใช้เปรียบเปรยคนที่เกียจคร้านเพราะโดยธรรมชาติสลอธมักถูกมองว่าเป็นสัตว์จอมขี้เกียจ มันจะอยู่ติดกับที่และใช้เวลาไปกับการนอนประมาณ 15 - 20 ชั่วโมงต่อวัน
ในปัจจุบันสลอธมีอยู่ประมาณ 2 ประเภทคือ สลอธ 2 นิ้ว (Megalonychidae) และสลอธ 3 นิ้ว (Bradypodidae) ความเร็วของสลอธใน 1 ชั่วโมงเคลื่อนที่ได้ประมาณ 4.82 เมตรเท่านั้น
สาเหตุที่สลอธเคลื่อนไหวช้า
- ระบบย่อยอาหารทำงานช้า
เพราะอาศัยอยู่บนต้นไม้สลอธเลยกินใบไม้ที่มีสารอาหารต่ำเป็นหลัก แถมยังใช้เวลาในการย่อยอาหารประมาณหลายวันซึ่งยังไม่เป็นที่ชัดเจนเท่าไหร่แต่อาจใช้เวลาตั้งแต่ 5 - 7 วันหรือมากกว่านั้น พวกมันเลยต้องค่อย ๆ พัฒนาตัวเองเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ โดยการสกัดเอาสารอาหารจากใบไม้ที่กินให้ได้มากที่สุดและพยายามใช้พลังงานให้น้อยเข้าไว้นั่นก็คือเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยลงนั่นเอง
- มีมวลกล้ามเนื้อต่ำ
โดยปกติทั่วไปสลอธมีมวลกล้ามเนื้อไม่มากจึงไม่ค่อยเผาผลาญแคลอรี่เท่าไรหรือก็คือระบบเผาผลาญทำงานในอัตราที่ต่ำมากนั่นเอง ถึงแม้ว่าจะมีกล้ามเนื้อไม่มากนักแต่กล้ามเนื้อพวกนั้นก็มีความแข็งแรง ช่วยให้เจ้าสลอธยึดเกาะกับต้นไม้ได้อย่างสบาย ๆ แถมทนต่อความเมื่อยล้าได้ดีมาก ๆ อีกต่างหาก
- สายตาไม่ดี
สลอธมีภาวะ “Rod monochromacy” ทำให้พวกมันตาบอดสี มองเห็นได้ไม่ดีในที่ ๆ แสงสลัวและตาบอดสนิทในเวลากลางวันที่แสงจ้า แน่นอนว่ามันไม่สามารถหนีเอาตัวรอดจากนักล่าได้เหมือนสัตว์ชนิดอื่น ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นที่สนใจของนักล่าแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอันตรายอะไรเกิดขึ้น เจ้าสลอธเลยต้องอาศัยการพรางตัวเพื่อเอาตัวรอด ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นขนของสลอธบางตัวมีสีเขียวนั่นก็เพราะพวกสาหร่าย มอส ตะไคร่น้ำมาเกาะติดอาศัยอยู่ซึ่งช่วยให้มันพรางตัวเอาตัวรอดจากนักล่าได้
จากปัจจัยด้านบนที่เราได้บอกไปทำให้สลอธต้องปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอดไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงาน เคลื่อนไหวช้า ๆ เพื่อเอื้อต่อกระบวนการเผาผลาญและเนื่องจากมันอาศัยอยู่ในป่าฝนร้อนชื้น เจ้าสลอธเลยไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานจำนวนมหาศาลเพื่อรักษากล้ามเนื้อและสร้างความอบอุ่นเลยทำให้ประหยัดพลังงานและดำเนินชีวิตไปอย่างช้า ๆเหมือนที่ทุกคนได้เห็นกันนั่นเอง…