ลูกประ
ลูกประ เป็นภาษาถิ่น ตามพจนานุกรมจะเรียกว่า ลูกกระ หลายๆ คนที่ไม่ใช่คนใต้ อาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก มีลักษณะคล้ายลูกยางพารา เวลาสุกก็จะแตกตกลงพื้นเช่นเดียวกันกับลูกยางพารา พบได้มากในภาคใต้
ลักษณะของลูกประ
ต้น ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ลำต้นตรง สูงประมาณ 20-40 เมตร เรือนยอดแผ่กิ่งก้านกว้าง เปลือกสีน้ำตาลเข้มมียางใสสีขาวๆ ที่เปลือก เปลือกหนาประมาณ 1.5-3 ซม.
ใบ ใบเดี่ยวรูปใบมน ใบอ่อนออกสีชมพูเป็นมัน ใบแก่สีเหลืองอมเขียวหรือสีน้ำตาลเป็นไม้ที่ผลัดใบตลอดปี ก้านใบยาวประมาณ 6-8 ซม. หลังใบเรียบเป็นมันสีเข้มกว่าด้านท้องใบเส้นแขนงใบมีประมาณ 12-14 คู่ เห็นได้ชัดทางด้านท้องใบ ขนาดกว้างประมาณ 4-5.5 ซม. ยาว 18-20 ซม.
ดอก สีขาวนวลหรือสีครีมออกเป็นช่อ ดอกตัวเมียขนาดกว้างประมาณ 0.5 ซม. ดอกตัวผู้ขนาดกว้างประมาณ 0.5-0.75 ซม. รังไข่สีชมพูอ่อนหรือชมพูแดงและมีคราบเกสรตัวเมียเหลือติดอยู่ประมาณ 3 ก้าน
ผล ผลประมาณ 4.5-6 ซม. ผลกลมยาวสีชมพูอมเหลืองอ่อน เป็นพวงห้อยย้อยตามลำต้นยาวประมาณ 3-15 ซม. ผลหนึ่งมี 3 เมล็ด ผิวแข็งสีน้ำตาลเป็นมันเลื่อม
เมล็ดประ มีเปลือกหุ้ม ลักษณะเป็นพู มี 3 พู ภายในมี 3 เมล็ด รูปร่างแบบรีๆ ผลอ่อนเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่จะเป็นสีดำปนน้ำตาล โดยมีเปลือกแข็งหุ้มผิวมัน
ขณะที่เนื้อข้างในจะเป็นสีขาวนวล และเมล็ดจะแตกกระเด็นไปได้ไกลเหมือนกับเมล็ดยางพารา เมล็ดประ เมื่อกะเทาะเปลือกออกมาแล้วบางคนบอกว่ามีลักษณะคล้ายๆ เม็ดขนุน
ประ เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่และสูงมาก เมล็ดประ ส่วนมากมักนิยมนำมาทำเป็นอาหารโดยการ ต้ม ดอง คั่ว เมล็ดประดอง และเมล็ดประแกงกะทิ แกงส้ม แกงไตปลา นั้นอร่อยมากๆ ซึ่งรสชาติของเมล็ดประ นั้นจะคล้ายคลึงกับถั่วอัลมอนด์ แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า มีความมันอร่อย
เมล็ดประ หากนำไปคั่วหรืออบแห้ง ก็จะมีราคาขยับขึ้นไปอีก และนอกจากนั้นยังนำไปปรุงอาหารคาวได้หลายอย่าง เนื่องจากมีรสชาติหวาน มัน ประกอบกับการที่หามาได้ยาก แค่ปีละ 1 ครั้ง จึงกลายเป็นผลผลิตพื้นบ้านที่มีทั้งคุณค่าและราคา
เมล็ดปากนอกจะสามารถนำมาทำอาหาร หรือนำมาทำเป็นของทานเล่นอื่นๆ ยังสามารถนำมาผลิตเป็นเครื่องดื่มคือ นมประ ได้ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่แพ้นมสัตว์
เพราะเมล็ดประมีองค์ประกอบของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย ที่น่าสนใจคือมีไขมันดีทั้งโอเมก้า ๓ และโอเมก้า ๖ ซึ่งปรกติจะพบในปลาทะเล จึงเป็นอีกความพิเศษของเมล็ดประที่พบในพืชชนิดนี้
ถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้แพ้สารฮีสทามีนในอาหารทะเล และปรกติหากมีโอเมก้าชนิดใดมากเกินจะไม่ส่งผลดี แต่ในเมล็ดประมีสัดส่วนของโอเมก้าทั้งสองชนิดในปริมาณที่พอดีกัน ผู้แพ้นมสัตว์จึงดื่มนมประได้ แม้จะให้โปรตีนน้อยกว่าแต่ก็ทดแทนด้วยไขมันจำเป็น ช่วยป้องกัน อัลไซเมอร์ได้ด้วย
LOMA🐬🐬
อ้างอิงจาก: ภูมิปัญญาไทย
สารคดี สกสว.
ดร. จตุพร คงทอง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช