ผ่าตัดต้อหินเป็นอย่างไร? ไขข้อสงสัยการรักษาต้อหินก่อนการผ่าตัด
โรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นอีกหนึ่งโรคที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ป่วยในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เพราะการมองเห็นถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต หากผู้ป่วยเสียการมองเห็นจากโรคต้อหิน อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ป่วยได้ ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดต้อหิน สามารถช่วยทำให้ผู้ป่วยหายจากการเป็นต้อหินได้ และหากรู้ตัวก่อนก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้โดยเร็วก่อนที่จะสายเกินไป
บทความนี้จะกล่าวถึงโรคต้อหิน และการผ่าตัดต้อหิน 2 วิธี ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน รวมถึงการดูแลตนเองหลังการผ่าตัดต้อหิน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเตรียมตัวได้อย่างถูกวิธี
รู้จักกับโรคต้อหิน
โรคต้อหิน คือโรคชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นกับดวงตา ซึ่งมีผลทำให้ดวงตาของผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือหากไม่เข้ารับการผ่าตัดต้อหินอย่างถูกต้องอาจถึงขั้นตาบอดถาวรได้ โดยโรคต้อหินนี้ เกิดขึ้นจากความเสียหายของเส้นประสาทตา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งข้อมูลจากจอตาไปยังสมองเพื่อแปลงให้เป็นภาพนั่นเอง อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุโดยเฉพาะความดันลูกตาสูง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคต้อหินมักจะไม่ได้สังเกตว่าตนเองมีอาการ กว่าจะพบว่าตนเองเป็นโรคต้อหินก็อาจจะสูญเสียการมองเห็นไปแล้วบางส่วน อย่างไรก็ดีการผ่าตัดต้อหินจะไม่สามารถทำให้การมองเห็นที่สูญเสียไปกลับมาได้ แต่สามารถยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายของเส้นประสาทตาต่อไปได้
วิธีการผ่าตัดต้อหิน มีทั้งหมด 2 วิธี ได้แก่
1. Trabeculectomy
Trabeculectomy คือ วิธีการผ่าตัดต้อหินที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน โดยวิธีการผ่าตัดต้อหินแบบ Trabeculectomy เป็นการเจาะรูลงไปบริเวณตาขาว (sclera) เพื่อทำการลดความดันลูกตา (intraocular pressure) โดยจะมีน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา (aqueous humor) ระบายออกมาจากรูที่เจาะไว้ ซึ่งจะชะลอความเสียหายหรือยับยั้งการสูญเสียการมองเห็นที่อาจเกิดขึ้นได้
2. Aqueous Shunt Surgery
Aqueous Shunt Surgery คือ วิธีการผ่าตัดต้อหินเพื่อลดความดันของลูกตาอีกวิธีหนึ่ง ที่แพทย์สามารถใช้ในกรณีที่วิธี Trabeculectomy ไม่ได้ผล หรือไม่สามารถลดความดันลูกตาให้ถึงระดับที่เหมาะสมได้ โดยวิธี Aqueous Shunt Surgery เป็นการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในลูกตา ให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาได้ถูกระบายออกมาตามท่ออุปกรณ์ที่แพทย์ได้ทำการวางไว้บนลูกตานั่นเอง
ผ่าตัดต้อหินอันตรายไหม
การผ่าตัดต้อหินแบบใหม่ในปัจจุบัน ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยและมีการทิ้งรอยแผลไว้ขนาดเล็กเท่านั้น แต่ในบางกรณีการผ่าตัดต้อหินอาจส่งผลกระทบให้เกิดผลข้างเคียงได้หลังการผ่าตัด ดังนี้
- มีเลือดออกในดวงตา
- เกิดการติดเชื้อในดวงดา
- อาการตาแดง ตาบวม ดวงตาปวด
- ความดันลูกตาผิดปกติ โดยอาจสูงหรือต่ำเกินไป
โดยหากผู้ป่วยศึกษาการผ่าตัดต้อหินและวิธีการดูแลตนเองหลังการผ่าตัดอย่างละเอียดแล้ว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้พบกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากการผ่าตัดต้อหิน นอกจากนี้ก็ควรเลือกโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้ชำนาญและประสบการณ์ในด้านการผ่าตัดต้อหิน มีความพร้อมที่จะรักษาผู้ป่วยไม่ให้โรคต้อหินกลับมาทำลายการมองเห็นได้อีก
วิธีดูแลตนเองหลังผ่าตัดต้อหิน
หลังจากการผ่าตัดต้อหิน เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อน หรือสร้างความเสียหายในขณะที่ดวงตากำลังอยู่ในช่วงเวลาการฟื้นฟูหลังผ่าตัด มีวิธีดูแลตนเองดังนี้
- ห้ามไม่ให้น้ำหรือฝุ่นเข้าตา
- หลีกเลี่ยงการใช้สายตามากเกินไป
- ให้หยอดยาตามที่แพทย์ได้สั่งไว้ให้ครบตามที่กำหนด
- งดการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก เช่น การยกของที่มีนำ้หนักมาก การออกกำลังกายบางชนิด รวมไปถึงการไอหรือจามแรงๆ
- งดการสัมผัสตา หรือขยี้ตาไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งโดยปกติแพทย์จะมีการติดที่ครอบตาไว้ให้เพื่อป้องกันดวงตาอยู่แล้ว ไม่ควรแกะออกนอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง
- หากมีอาการผิดปกติก่อนวันนัดหมาย ควรรีบเข้าพบแพทย์ในทันที
ผ่าตัดต้อหินพักฟื้นกี่วัน ต้องนอนโรงพยาบาลไหม
สำหรับผู้ป่วยโรคต้อหิน อาจสงสัยว่าการผ่าตัดต้อหิน พักฟื้นกี่วัน โดยปกติแล้วผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากการผ่าตัดต้อหิน แต่จำเป็นต้องใส่แผ่นปิดตาไว้ตลอดระยะเวลาพักฟื้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก่อนที่จะเข้าพบแพทย์ตามกำหนดการที่ได้นัดหมาย
ผ่าตัดต้อหินราคาเท่าไหร่
การผ่าตัดต้อหินอาจมีราคาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลและระยะโรคของผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้นผู้ที่เป็นต้อหินควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อประเมินวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดของผู้ป่วย
ผ่าตัดต้อหินห้ามกินอะไร
การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลเสียต่อการฟื้นตัวของดวงตาได้ ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านี้หลังการผ่าตัดต้อหิน
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เนื้อสัตว์ที่มีความเหนียว แข็ง หรือย่อยยาก
- อาหารรสจัด ฉุน เผ็ดจัด หรือมีเครื่องเทศมาก
ทั้งนี้ ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ไม่กรอบหรือแข็งจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่เกิดอาการท้องผูก ซึ่งจะทำให้ต้องเบ่งอุจจาระและใช้แรงผลักมากจนเกินไป
สรุป
การผ่าตัดต้อหิน ถือเป็นวิธีการรักษาต้อหินที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน สามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายของเส้นประสาทตาและช่วยหยุดการสูญเสียการมองเห็นจากต้อหินได้ แต่ไม่สามารถทำให้การมองเห็นที่สูญเสียไปแล้วกลับมาเหมือนเดิมได้ อย่างไรก็ดี หากพบว่าตนเองเป็นโรคต้อหิน ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้โรคต้อหินทำลายความสามารถในการมองเห็นได้อีกต่อไป