ประวัติอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ตามตำนานโบราณ
อำเภอบรบือ อยู่ในจังหวัดมหาสารคาม กึ่งกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย เป็นเส้นทางผ่านออกสู่จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร ร้อยเอ็ด ยโสธร นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ชื่อบรบือ เป็นชื่อที่แปลกกว่าบ้านอื่นเมืองใด ไม่มีคำแปล หรือความหมายในพจนานุกรมฉบับใดทั้งสิ้น
ความเป็นมาชื่ออำเภอนี้ สามารถแยกจากที่มาได้ 3 ประการ ดังนี้
1.มาจากตำนานเล่าลือจากโบราณ ชื่ออำเภอบรบือ ตามตำนานโบราญ จากการบอกเล่าสืบต่อกันมา นานหลายชั่วอายุคน ทั้งผู้ที่เคยพำนักอาศัย ในเขตบ้านเมืองนี้ในอดีต เล่าว่า ในสมัยก่อน มีลูกควายประหลาดอยู่ตัวหนึ่ง มีรูปร่างใหญ่โต ผิดกว่าควายทั้งปวง นิสัยดุร้ายขวิดควายพ่อ ควายแม่ และควายตัวอื่นๆ ขวิดแม้กระทั่งผู้คน ควายทรพีตัวนี้วิ่งมาจากทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอ ทำความเสียหายให้แก่ผู้คนเรือกสวนไร่นาตามรายทาง ชาวบ้านก็เลยตามไล่ บ้างก็มีปืน ดาบ หอกแหลน หลาวตามมาถึงทื่แห่งหนึ่ง ก็ถามชาวบ้านแถวนั้นว่า “เห็นควายไปทางได๋” ชาวบ้านบอกว่า ไปกำพี้ บ้านนั้นก็เลยมีชื่อว่าบ้านกำพี้ (ภาษาอีสาน ก้ำแปลว่าทาง พี้ คือทางนี้ ) พวกที่ตามก็เดินมาตามมทางที่ชี้ให้ จนถึงหนองบัว ปรากฏว่าได้มาบดดินปืนขึ้นใหม่คือบดมาด (มาดก็คือกำมะถัน) บ้านนั้นก็เลยถูกเรียกว่าเป็นบ้านบดมาด คือบ้านบัวมาศในปัจจุบัน นอกนั้นก็ลงไปอาบน้ำในลำห้วย บ้างก็ตัดไม้มาทำหลาว หอก ห้วยนั้นจึงได้ชื่อว่าห้วยคันหอก (คันก็คือ ด้าม) ในทุกวันนี้
เนื่องจากควายตัวผู้มีรูปร่างใหญ่โตแข็งแรง การตามล่าจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก พวกที่ตามมาต้องฝ่าฟันความรกหนาของป่าไม้ แกะรอยมาเรื่อยๆ โดยตามรอยควายไปจนมืดค่ำ จนถึงหนองน้ำแห่งหนึ่ง คนก็เลยเรียกว่าห้วยเชียงคำ (ภาษาอีสาน เรียกว่าคำ มาจากคำว่าเชียงคลำรอยตีนควายนั่นเอง) ที่บ้านดอนก่อ จวบจนรุ่งเช้าจึงได้ไปทันที่ริมหนองบ่อ ซึ่งมันได้วิดดินขึ้นมากลายเป็นโนนหนองบ่อ แล้วก็นอนเกลือกโคลนตมที่ โนนควาย กลายเป็นหลุมใหญ่โต คนเรียกว่าบวกควายนอน (บวก ก็คือปลัก) ชาวบ้านยิงถูกสายบือ (สะดือ) หลุดลงที่ตรงนั้น แต่มันก็สามารถวิ่งหนี ตะเกียกตะกายไปทางซำแฮด โคกกลาง ก็เลยถูกจับได้ล่ามเชือกไว้ที่โคกล่าม แต่ก็สะบัดหลุดวิ่งหนีไปจนถึงหนองน้ำใหญ่และตายลงที่ตรงนั้น มีกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่ว คนเรียกว่าบึงกุย (กุย แปลว่าเหม็นซาก) ในเขตอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคามในปัจจุบันนี้
ตรงจุดที่สะดือหลุด (สายบือหลุด) นั้น คือที่มาของชื่อ บ่อสายบือ อันเพี้ยนมาเป็นบรบือ ในกาลสมัยต่อมานั่นเอง
2.ชื่ออำเภอบรบือ ตามการแปลความหมายภาษา ในสมัยการปฎิรูปการปกครองท้องที่ พ.ศ.2440 รัชกาลที่5 ได้แต่งตั้งข้าราชกาลจากส่วนกลางมาเป็นสมุหเทศาภิบาลประจำมณฑล ข้าหลวงต่างพระเนตร พระกรรณมาดูแลหัวเมืองต่างๆ ซึ่งบ้างก็ถูกยุบเป็นจังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน ตำบล ตามความเจริญของบ้านเมือง หรือความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของเมืองนั้นๆ
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ สมัยนั้น การศึกษายังไม่ทั่วถึง และเจริญรุ่งเรืองเหมือนปัจจุบัน ชาวบ้านในท้องถิ่น ยังเป็นคนป่าคนดง จะหาคนรู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ พูดภาษากลางได้ก็ไม่ปรากฏ การสื่อภาษาระหว่างเจ้านายที่มาจากส่วนกลา งกับผู้อยู่ในท้องถิ่นอีสาน จึงเป็นเรื่องยาก การแปลความหมาย จึงค่อนข้างสับสน
เมื่อเจ้านายในสมัยนั้น มาตรวจราชการ ได้ถามชาวบ้าน ที่อยู่ในละแวกนี้ว่า บ้านนี้ชื่อใด มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ชาวบ้านได้เล่าเรื่องตามตำนาน ที่ได้เล่าสืบต่อกันมา จากโบราญตามตำนาน เจ้านายก็ได้ถามว่า สถานที่ตั้งบ้านนี้ แต่ก่อนมีชื่อว่ากระไรหรือ
--ชาวบ้านก็ตอบว่า “บวก...นอน ขะน่อย” (ขะน่อย=ขอรับ)
--เจ้านายสงสัย บวก คืออะไร?
--ชาวบ้านก็พยายามอธิบายว่า บวก คือที่สำหรับควายนอนเล่นโคลนตม แต่อธิบายไม่ถูก
--เจ้านายจึงพูดว่า “คงจะเป็น หนองน้ำละซิท่า?
-- ชาวบ้านก็อธิบายว่า “บ่แม่นขะน่อย หนองกะเอิ้นว่าหนอง ขะน่อย” (เอิ้น แปลว่าเรียก)
--เจ้านาย จะเรียกปลัก ชาวบ้านก็ว่า บ่แม่นปัก (ด้วยความที่ฟังกันไม่รู้เรื่อง)
ท่านคงถามไปถามมา ก็คงเป็นลักษณะบ่อน้ำ ชาวบ้านก็คงว่าน่าจะใช่ (ความจริง ชาวอีสานเรียกบ่อน้ำ ว่า ส่างน้ำ) เจ้านายสรุปว่า “ถ้าเช่นนั้นก็คือ บ่อกระบือ นั่นเอง ถ้าจะเรียกว่า บ้านบ่อกระบือ น่าจะถูกต้อง และเป็นการรักษาประวัติชื่อบ้าน ไว้เป็นการดีนะ”
ชาวบ้านไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คำเรียกชื่อควาย เรียกว่ากระบือนั้น เขียนเช่นใด อ่านว่าอย่างไร ได้ยินเช่นนั้นก็เลยว่า “เพิ่นเอิ้นบ้านเฮาว่า...บอ-กระ-บือ หมู่เจ้าจื่อไว้เด้อเฮา” ซึ่งก็เรียกกันมาเรื่อยๆ แม้จนสมัยต่อมา มีผู้รู้หนังสือ อ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ ก็ยังเรียกเพี้ยนต่อมาว่า บอระบือ หรือ บรบือ ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า ผู้เขียน ได้เขียนตามสำเนียงเสียงที่เพี้ยน ฟังไม่ชัดมานี่เอง
3.ชื่ออำเภอบรบือ ตามสถานที่อันมีทรัพยากรธรรมชาติ เลื่องลือ ระบือไกล จังหวัดมหาสารคามแรกตั้งขึ้นนั้น มีอยู่ 2 อำเภอคืออำเภออุทัยสารคาม (อำเภอเมืองมหาสารคาม) และอำเภอปัจจิมสาราม ซื่งอยู่ติดกันมาก
พ.ศ.2453 พระพิทักษ์นรากร เจ้าเมืองวาปีปทุม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระเจริญราชเดช (อุ่น ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) ข้าหลวง กำกับราชการเมืองมหาสารคาม ได้พิจารณาเห็นว่า ตัวเมืองที่ตั้งอำเภอทั้งสอง มีราษฎรอยู่หนาแน่นพอ ได้เห็นสมควร ขยายเมืองออกไปอีก จึงได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขอย้ายอำเภอปัจจิมสารคาม ไปตั้งที่บ้านค้อ ใกล้โนนหนองบ่อ ห่างลงไปทางทิศใต้ ประมาณ 25 กิโลเมตร เพราะมีน้ำท่า ข้าวปลาอาหาร อุดมสมบูรณ์ดี น่าจะมีโอกาสเจริญเติบโต ไปในภายภาคหน้า และต่อมา เปลี่ยนชื่ออำเภอปัจจิมสารคาม เป็นอำเภอท่าขอนยาง โดยเอาชื่อเมืองท่าขอนยาง ที่ถูกยุบลงเป็นตำบล มาตั้งเป็นอนุสรณ์ที่บ้านค้อนี้ เพราะไม่มีชื่อหมู่บ้านเดิม ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมควรเป็นชื่ออำเภอ
พ.ศ.2457 หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด ในขณะนั้น ได้มาตรวจราชการ ที่อำเภอท่าขอนยางใหม่นี้ เห็นว่ามีหนอง บ่อ มีข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์ มีบ่อแร่เหล็ก เกลือสินเธาว์ ซึ่งมีการค้า ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันมากมาย บ้างก็มาจับปลา แล้วเอาเกลือหมักทำเป็นปลาร้า ปลาจ่อม ใส่เกวียนไปค้าขายทางไกล ชื่อเสียงเลื่องลือระบือไปทั่ว ยิ่งได้ทราบจากตำนานโบราณ ที่บอกเล่าสืบต่อกันมานานว่า ในอดีต มีควายทรพีรูปร่างใหญ่โต นิสัยดุร้าย ชาวบ้านได้ตามล่าควายตัวนี้ จนมาถึงหนองบ่อ ซึ่งมันได้ขวิดดิน กลายเป็นโนนหนองบ่อ แล้วก็ไปนอนเกลือกโคลนตมที่โนนควาย กลายเป็นหลุมขนาดใหญ่ ชาวบ้านได้ยิงถูกสะดือ หลุดลงที่ตรงนั้น ตรงที่จุดสะดือหลุด คือที่มาของบ่อสายบือ
ในสมัยการปฎิรูปการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2440 รัชกาลที่ 5 ได้มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ มาตรวจราชการที่ท้องที่แห่งนี้ ได้ถามชาวบ้านที่อยู่ระแวกนี้ ถึงประวัติความเป็นมา ในสมัยนั้น การสื่อภาษากลางกับชาวบ้าน ค่อนข้างสับสน เจ้านายจึงเรียกชื่อบ้านว่า บ้านบ่อกระบือ ซึ่งก็เรียกกันมาเรื่อยๆ จนเรียกเพี้ยนต่อมาว่า บ่อระบือ-บอระบือ หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ จึงเห็นว่า อำเภอนี้ น่าจะใช้ชื่อว่า อำเภอบ่อระบือ แทนนามท่าขอนยาง เพื่อเป็นเอกลักษณ์ศักดิ์ศรีที่แท้จริง
พ.ศ.2460 พระสารคามคณาภิบาล (พร้อม ณ นคร) ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้มองเห็นว่าที่ว่าการอำเภอบรบือ ตั้งอยู่ที่บ้านค้อ อยู่ห่างจากเส้นทางที่ตัดใหม่ คือถนนแจ้งสนิท อันเริ่มจากอำเภอบ้านไผ่ ไปจังหวัดอุบลราชธานี จึงกราบทูลขออนุญาตเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย ขอย้ายที่ว่าการอำเภอบรบือหลังใหม่ มาตั้งอยู่ที่บ้านบรบือ ริมถนนแจ้งสนิท เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอบรบือ ในปัจจุบันนี้