มะแฟน พรรณไม้พื้นบ้านสรรพคุณเป็นยา
มะแฟน ผลจะมีลักษณะค่อนข้างกลมมน มีร่องแบ่งเป็นพู ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่ามะแฟนเพราะผลของ มะแฟนจะเป็นลูกคู่ติดกันเหมือนลูกแฝด สามารถนำมาทำอาหารทานได้
หรือชื่อเรียกอื่นๆ แฟนส้ม (เลย) ส้มแป้น (นครราชสีมา) ค้อลิง (ชัยภูมิ) มะแทน (ราชบุรี) กะโปกหมา กะตีบ (ประจวบคีรีขันธ์) ปี (ภาคเหนือ) มะแฟน (ภาคกลาง) พี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ฟีแซ พีแซ ผี (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ตะพีเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง) ไฮ่ม่าดี้ (ปะหล่อง) เจี้ยนต้องแหงง (เมี่ยน)
ต้นมะแฟน จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 10-30 เมตร เรือนยอดค่อนข้างทึบ เป็นพุ่มกลมในช่วงบน ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดโต ๆ
ใบมะแฟน ใบเป็นใบประกอบ เป็นช่อแบบขนนก ช่อใบติดเรียงสลับ แต่ละแขนงมีใบย่อยประมาณ 3 -11 ใบ ติดตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ยกเว้นใบยอดช่อจะเป็นใบเดี่ยว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-13 เซนติเมตร เนื้อใบหนา
ใบอ่อนมีขนขึ้นประปราย เมื่อแก่ขนจะหลุดออกเป็นใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมองเห็นเส้นใบเป็นรูปตาข่ายได้ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร
ดอกมะแฟน ออกดอกเป็นช่อกระจายอยู่ตามบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง ในแต่ละช่อจะมีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศ ลักษณะของดอกมีกลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ
โคนกลีบรองกลีบดอกติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ปลายแยกออกเป็นแฉกเล็ก ๆ 5 แฉก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ มีขนด้านนอก
ดอกเป็นสีขาว สีเขียวอ่อน หรือสีเหลืองอ่อน กลางดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 10 อัน และมีเกสรเพศเมีย 1 อันขนาดสั้นกว่ากลีบดอก
ผลมะแฟน ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมมน มีร่องแบ่งเป็นพูประมาณ 2-4 พู ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร เปลือกผลเป็นสีแดง สีเขียว สีเหลือง เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง พอแก่แล้วเป็นสีดำ ภายในผลมีเนื้อนุ่มสีขาวและมีเมล็ด เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลมแข็ง
ประโยชน์ของมะแฟน
มะแฟน เป็นสมุนไพรพื้นบ้านมักใช้รากแก้ไข้ ถอนพิษ ไข้กลับไข้ซ้ำ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษตานซาง ถอนพิษผิดสำแดง ผล รักษาแผลในปาก
ใบอ่อนและผลรับประทานได้ผลดิบมีรสเปรี้ยวและผลสุกจะมีรสหวาน
ส่วนลำต้นเนื้อไม้มีความเหนียวนิยมนำมาใช้ทำเสาที่พักอาศัย กระดาษพื้นบ้าน ประตูไม้ วงกบ โต๊ะนั่ง รวมถึงใช้ทำอุปกรณ์ใช้ทางการเกษตร
สรรพคุณ
รากสดหรือรากแห้งนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้พิษซาง พิษตานซาง ถอนพิษผิดสำแดง และเป็นยาถอนพิษต่าง ๆ
รากนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ ถอนพิษไข้กลับไข้ซ้ำ กระทุ้งพิษไข้หัว ไข้เหนือ
ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ
ผลมีสรรพคุณเป็นยารักษาแผลในปาก
ช่วงเวลาการออกดอก
ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ออกผลในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม
เอกสารอ้างอิง
1 หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม) “ม ะ แ ฟ น” หน้า 625-626
2 โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน) “ม ะ แฟ น” อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์) [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [02 พ.ย. 2014]
LOMA🐬🐬
อ้างอิงจาก: หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม) “ม ะ แ ฟ น” หน้า 625-626
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน) “ม ะ แฟ น” อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์) [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [02 พ.ย. 2014]