สายสิญจน์ขาดทำอย่างไร ควรเก็บไว้หรือทิ้งได้
หลายๆคนอาจจะเคยตั้งคำถามหรือแอบคิดลึกๆในสมองของตัวเองว่า สายสิญจน์ขาดทำอย่างไร ควรเก็บไหวหรือทิ้งได้เปิดมาก็ขอเฉลยจากมุมมองความคิดของผู้เขียนเลยนะครับว่า ทิ้งเถอะครับ โดยดั้งเดิมประเทศไทยของเรานั้นมีศาสนาที่นับถือกันเป็นหลักหรือนับถือกันส่วนใหญ่ก็คือ พุทธศาสนา
เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้นนิยามความเชื่อของการผูกสายสิญจน์คือ ผู้ที่รับการผูกสายสิญจน์ จะเชื่อว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีกำลังใจในการใช้ชีวิตที่มากขึ้น รู้สึกเหมือนมีบางสิ่งบางอย่างปกป้อง คุ้มครองในขณะที่ได้รับการผูก ซึ่งความเป็นจริงตามแก่นแท้ของศาสนาพุทธไม่มีพิธีการผูกสายสิญจน์แต่อย่างใด ผูกข้อต่อแขน พิธีสู่ขวัญต่างๆ นั้นล้วนแต่เป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ ที่ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ตีความหมายและนิยามผสมปนเปกับศาสนาพุทธไปแล้วจริงๆ
หากคุณนับถือศาสนาพราหมณ์หรือครูบาอาจารย์ที่คุณยึดมั่นถือมั่นได้มอบสายสิญจน์ให้กับคุณ แล้วคุณมีอยู่แล้วสบายใจแม้ว่าสายสิญจน์จะขาด หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณว่าจะนำไปบูชาต่อหรือวางไว้บนหิ้งที่สุดแล้วก็ตามแต่ แต่สำหรับผู้เขียนที่ซึ่งเป็นผู้ที่นับถือในศาสนาพุทธ และมักนำหลักธรรมคำสอนมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันเสมอ ได้มองว่าควรทิ้งหากขาดหรือไม่รับมาตั้งแต่ทีแรก เพราะด้วยความที่ตัวผู้เขียนเองไม่ยึดติดในสิ่งของหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอีกเหตุผลมากไปกว่านั้นคืออาจจะทำให้รกบ้าน หรือเกิดเชื้อราทำให้สกปรก
อีกกรณีหนึ่งหากคุณเป็นคนกลางๆที่ไม่ได้อินกับศาสนาขนาดนั้น แต่เคยได้รับสายสิญจน์จากผู้ใหญ่ที่คุณนับถือ ด้วยความที่ผู้ใหญ่หรือคนโบราณก็มีความเชื่อในแบบของคนสมัยก่อน ยกตัวอย่างเพื่อไม่ให้สับสน อย่างพ่อของผู้เขียนเคยได้รับสายสิญจน์จากคุณแม่ของท่าน ซึ่งเป็นย่าแท้ๆของผู้เขียน โดยสายสินจณ์นั้นย่าของผู้เขียนถักมากับมือของตัวเองเพื่อมอบให้กับพ่อของผู้เขียน ซึ่งพ่อของผู้เขียนก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ก็ยังเก็บสายสิญจน์นั้นไว้อย่างดีด้วยเหตุผลที่มีคุณค่าทางจิตใจที่แม่ตั้งใจให้ เหมือนกับของชำร่วยอื่นๆ ในขณะที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นไปในทางความเชื่อ