+++ เมืองแพร่แห่ระเบิด +++
หากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ใครที่พูดคำว่า “เมืองแพร่แห่ระเบิด” ต่อหน้าคนเมืองแพร่ถือเป็นวลีล้อเลียนดูถูก ชวนให้ทะเลาะวิวาท ไม่ว่าจะล้อเลียนในกลุ่มคนที่มีเพื่อนหรือมีญาติเป็นคนเมืองแพร่เองหรือคนต่างจังหวัดทักทายคนเมืองแพร่ด้วยสำนวนนี้ คนเมืองแพร่เองบางคนก็รู้สึกงง บางคนเฉยๆ บางคนรู้สึกตลกขบขัน บางคนรู้สึกอาย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะโกรธ ซึ่งก็แล้วแต่ละบุคคลและสถานการณ์ คนเมืองแพร่เมื่อไปอยู่ต่างจังหวัดมักจะถูกถามเรื่องเมืองแพร่แห่ระเบิดอยู่เสมอ แล้วต่างคนก็ต่างเล่าประวัติไปต่างๆนาๆ แต่งเติมเสริมเรื่องจนผิดเพี้ยนไปจากเรื่องราวที่ถูกต้องเกี่ยวกับคำว่าเมืองแพร่แห่ระเบิด
ตำนานเมืองแพร่แห่ระเบิด เป็นเรื่องจริงโดยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ คือมีชาวบ้านไปพบลูกระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อสกัดการเดินทางของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จำนวน 3 ลูกเป็นระเบิดที่ด้าน(ไม่ระเบิด) จึงได้บรรทุกลูกระเบิดด้วยล้อเกวียนเดินตามกันมาเป็นขบวนยาว ผ่านหน้าบ้านใครต่างก็เดินเข้ามาสมทบเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงบ้านแม่ลานเหนือ ชาวบ้านยิ่งออกมาดูกันมากขึ้นและได้นำฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ มาแห่เข้าวัด ทำการถวายลูกระเบิดให้เป็นสมบัติของวัดเพื่อใช้เป็นระฆัง ระเบิดลูกที่ 2 ขบวนแห่นำไปถวายที่วัดศรีดอนคำ ต.ห้วยอ้อ และระเบิดลูกที่ 3 ขบวนแห่นำไปถวายที่วัดนาตุ้ม ต.บ่อเหล็กลอง จนถึงปัจจุบัน โดยทางวัดได้ทำเป็นระฆังและสร้างหอระฆังสูงไว้เป็นที่เก็บ แต่ด้วยความดังและเป็นของเก่าตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้มาขอซื้อโดยเสนอราคาให้ถึง 1 ล้านบาท แต่ชาวบ้านเห็นว่าเป็นมรดกตกทอดที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ให้ลูกหลานได้เล่าขานสืบๆต่อกันไปจึงมีมติไม่ขายและทำลูกกรงเหล็กดัดล้อมไว้กันหาย
แม้ว่าตำนานการพบและแห่ระเบิดที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ จะไม่ใช่ที่มาของคำกล่าวล้อเลียน “เมืองแพร่แห่ระเบิด” แต่หลักฐานลูกระเบิดที่พบอยู่ในปัจจุบัน กลับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แสดงถึงภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน ตลอดจนแสดงถึงความเชื่อศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนภายในท้องถิ่น ตลอดจนถึงผู้สนใจที่จะมาศึกษาเที่ยวชมได้ และที่สำคัญ คำว่าคนเมืองแพร่แห่ระเบิดก็จะไม่เป็นคำพูดล้อเลียนคนเมืองแพร่อีกต่อไป
อ้างอิงจาก: https://pixabay.com/th/photos/4295762,
https://pixabay.com/th/search/สงคราม