บำบัดอาการปวดเมื่อย ฉบับศาสตร์จีน (ครอบแก้ว Cupping Therapy)
ครอบแก้ว (Cupping Therapy) คืออะไร...
ครอบแก้ว (Cupping Therapy) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนเป็นการรักษาบำบัดอาการปวดเมื่อยแบบแพทย์จีนโบราณ วิธีการคือ จะนำถ้วยแก้วแบบเฉพาะมาวางไว้ที่บนผิวหนัง จากนั้นจะใช้ความร้อนเพื่อให้แก้วดูดผิวหนังหรือกล้ามเนื้อขึ้น อุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่ใช้จะทำมาจากกระจก ไม้ไผ่ เครื่องเคลือบดินเผาและยางที่ทำจากซิลิคอน การบำบัดด้วยวิธีนี้จะทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดี และบรรเทาอาการปวดเมื่อย
ครอบแก้วมี 2 ประเภท คือ
- การครอบแบบแห้ง เป็นเพียงเทคนิคการดูดชั้นผิวหนังเท่านั้น
- การครอบแบบเปียก อาจเกี่ยวข้องกับการดูดชั้นผิวหนัง และควบคุมการตกเลือดด้วย
การครอบทั้ง 2 ประเภทนี้ แพทย์จะทำการวิเคราะห์อาการ และเลือกประเภทการครอบที่เหมาะสมให้กับผู้บำบัด ระหว่างการครอบแพทย์จะมีการใส่สารไวไฟ เช่น แอลกอฮอล์ สมุนไพรลงบนสำลีก้อนหรือกระดาษเฉพาะแล้วทำการจุดไฟ เพื่อนำไปวนภายในแก้วครอบ จากนั้นจะนำไปวางไว้บนหลังเพื่อเป็นการดูดเนื้อแต่ละจุด ซึ่งเรียกว่า ระบบสุญญากาศ แพทย์จะทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที ความร้อนจากไฟและสมุนไพรจะช่วยบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การดึงแก้วครอบออกจากผิวหนังจะมีอาการเจ็บเล็กน้อย และเกิดเป็นรอยสีแดงอมม่วงในบริเวณที่ถูกครอบ หรือมีสีของรอยที่เข้มชัดเจนนั่นคือจุดที่มีอาการปวดเมื่อย มีสารพิษในร่างกาย หรือสามารถบ่งบอกถึงโรคที่กำลังเป็นอยู่ได้ รอยที่เกิดขึ้นนี้จะหายเองภายในระยะเวลาประมาณ 2 อาทิตย์
ประโยชน์ของการครอบแก้ว
- อาการปวดหัวไมเกรน เวียนหัว
- กล้ามเนื้ออ่อนล้า
- เส้นเลือดขอด
- โรคไขข้อเสื่อม
- ระบบไหลเวียนของเลือด
- โรคโลหิตจาง
- อาการนอนไม่หลับ
- ผู้ที่มักเป็นลมอยู่บ่อยครั้ง
- โรคซึมเศร้า
- การฟื้นฟูอาการเจ็บปวดจากการเล่นกีฬา
ผลข้างเคียงจากการบำบัดด้วยการครอบแก้ว
- มึนงง หรือเกิดอาการเวียนศรีษะในระหว่างการรักษา
- เหงื่อออกและคลื่นไส้หลังการรักษา
- ผิวหนังบริเวณที่ครอบมีรอยช้ำและมีเลือดคลั่งบนผิวหนัง แต่สามารถจางหายเองได้ตามระยะเวลา
ครอบแก้วไม่เหมาะกับใคร
- เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี ควรบำบัดด้วยวิธีอื่นที่เหมาะสม โดยต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
- ผู้สูงอายุ เพราะผิวจะมีความบอบบางและค่อนข้างอันตราย
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
- ผู้ที่กำลังมีประจำเดือน
- ผู้ที่มีแผลสดบริเวณผิวหนังและแผลยังไม่สมานกันดี
- ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุรุนแรง
- ผู้ที่มีความผิดปกติของอวัยวะภายใน