ที่มาของ “แฟรงเกนสไตน์” นวนิยายวิทยาศาสตร์กึ่งสยองขวัญเรื่องยิ่งใหญ่!
วันที่ 30 สิงหาคม เป็นวันครบรอบวันเกิดของแมรี กอดวิน (Mary Godwin) ฟังชื่อนี้แล้วคนส่วนใหญ่คงไม่รู้จัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อหลังแต่งงานของเธอที่เปลี่ยนมาใช้นามสกุลตามสามีว่า แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักดีในฐานะนักเขียนนิยายผู้ให้กำเนิดนวนิยายอมตะเรื่อง “แฟรงเกนสไตน์” (Frankenstein) นั่นเอง
เมื่อพูดถึงนิยายเรื่องแฟรงเกนสไตน์แล้ว บางคนที่ไม่ได้อ่านหรือไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ก็อาจจะเข้าใจผิดไปว่า แฟรงเกนสไตน์เป็นสัตว์ประหลาดเสียเอง ซึ่งความจริงไม่ใช่ แฟรงเกนสไตน์ หรือชื่อเต็ม ๆ คือ ดร.วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ เป็นชื่อของตัวเอกที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ที่สร้าง “สิ่งมีชีวิต” ที่เป็นตัวสัตว์ประหลาดเรื่อง ซึ่งไม่ปรากฏชื่อในเรื่อง แต่เรียกกันทั่วไปว่า สัตว์ประหลาดของแฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein’s Monster) โดยนำมาจากเศษชิ้นส่วนของมนุษย์มาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน จึงทำให้ตามตัวของ “สัตว์ประหลาด” ดังกล่าวเต็มไปด้วยรอยเย็บแผลเป็นทางดังที่เห็นในสื่อ จากนั้นจึงใช้ไฟฟ้า (ซึ่งเวลานั้นยังเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่มาก) กระตุ้นให้มันมีชีวิตขึ้นมา
แฟรงเกนสไตน์ เป็นผลงานเรื่องแรกในชีวิตของแมรี เชลลีย์ ซึ่งเธอเขียนขึ้นในปี 1816 ขณะที่อายุไม่ถึง 20 ปีด้วยซ้ำ (แมรีเกิดปี 1797) และเหตุจูงใจที่ทำให้เธอเขียนนิยายเรื่องนี้ขึ้นก็แปลกมาก กล่าวคือ ในเวลานั้นแมรีและเพอร์ซี เชลลีย์ (Percy Shelley) คู่รักของเธอได้แวะไปเยี่ยมลอร์ดไบรอน (Lord Byron) กวีผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้นที่เจนีวา แต่ปรากฎว่าในช่วงเวลานั้นเจนีวาเกิดมีฝนตกอยู่ตลอดเวลา ลอร์ดไบรอนจึงชวนแมรีกับเพอร์ซีเขียนนิยายแนวสยองขวัญเพื่อฆ่าเวลาในระหว่างที่ออกไปเที่ยวนอกบ้านไม่ได้ แต่ปรากฏว่าพอเอาเข้าจริง ลอร์ดไบรอนกับเพอร์ซีกลับเบี้ยวไปเฉย ๆ มีแต่แมรีคนเดียวเท่านั้นที่เขียนนิยายออกมา และนิยายเรื่องนั้นก็คือเรื่องแฟรงเกนสไตน์นั่นเอง โดยชื่อ “แฟรงเกนสไตน์” นั้น มีหลายคนสันนิษฐานว่าเป็นชื่อปราสาทแห่งหนึ่งในเยอรมันที่แมรีกับเพอร์ซีเคยไปท่องเที่ยวมา
แฟรงเกนสไตน์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1818 โดยในการพิมพ์ครั้งแรกนั้นไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียนไว้ ทำให้ผู้อ่านจำนวนมากคิดว่าผู้เขียนเป็นผู้ชาย และถึงแม้ว่าในการพิมพ์ครั้งต่อมาจะได้มีการระบุชื่อผู้เขียนก็ตาม แต่ก็ยังมีหลายคนคิดว่าเป็นนามปากกาใหม่ของนักเขียนชายคนใดคนหนึ่งอยุ่ดี มีบางคนถึงกับคิดว่านิยายเรื่องนี้เป็นฝีมือของเพอร์ซีด้วยซ้ำ
หลังจากความสำเร็จของแฟรงเกนสไตน์แล้ว แมรีก็ได้เขียนนิยายและหนังสืออื่น ๆ อีกหลายเรื่อง แต่ก็ไม่มีเล่มใดที่จะประสบความสำเร็จเทียบเท่ากับนิยายเรื่องแฟรงเกนสไตน์ ซึ่งได้กลายเป็นนิยายอมตะที่มีการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่น้อยกว่าร้อยครั้ง และถูกแปลออกเป็นภาษาต่าง ๆ อย่างน้อย 67 ภาษา (รวมถึงภาษาไทยด้วย) และยังได้มีการนำมาดัดแปลงเป็นสื่อรูปแบบอื่นไม่ว่าจะเป็นละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ อีกหลายครั้ง รวมถึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ และยังเป็นแรงบันดาลให้กับนักเขียนนิยายจำนวนมากที่สร้างสรรค์ตัวละครในแนวคล้ายคลึงกันในนิยายอีกหลายเรื่องด้วย
รูป https://globalnews.ca/news/3034468/frankenstein-predicted-key-biology-concept-study-says/