กาลเวลา กลืนกินชีวิต
***กาลเวลา หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิต ให้พึงระลึกถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ในทางพระพุทธศาสนาคือ อนิจจัง ทุกสิ่งอย่างมีการเกิดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ แล้วดับไป ทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
กาลเวลาคือผู้กลืนกินเวลาของชีวิตที่มีเกิด ดับตลอดเวลา จึงต้องตระหนักรู้และพัฒนาปัญญาของตัวเองตลอดเวลาให้รู้เท่าทันธรรมชาติตามความเป็นจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
ลองนึกย้อนมองดูตัวเอง พบว่าสังขารที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาที่เดินหน้าไป ไม่มีเหน็ดเหนื่อย เรียวแรงเคยแข็งขันก็เสื่อมถอยลง แค่ยกขาสวมกางเกงก็ยุ่งยากลำบากแสน ติดนิ้วเท้าต้องนั่งลงปลดแกะมิฉะนั้นอาจล้มลงเพราะขาดสมดุลย์ทางร่างกาย ทรงตัวไม่ได้ง่ายดายอย่างเก่าก่อน
เคยได้ยินและได้ฟังถึงตัว"กาล"หรือ "เกียรติมุข "รูปปูนปั้นที่ประดับเหนือทางเข้าอาคารหรือโบราณสถาน เพราะมีหน้าตาคล้ายสิงห์จึงเรียกอีกอย่างว่า"สิงหมุข"ลองสังเกตจาก หน้าสัตว์ประหลาดที่อยู่เหนือทางเข้าของโบราณสถานในอินโดนิเซีย - บาหลี จะเห็น"บารอง"หรือ"เกียรติมุข-หน้ากาล"ดังกล่าว
ความเชื่อในเรื่องหน้ากาลนี้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากฮินดู-อินเดียที่แพร่หลายเข้ามาทางเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีรูปแบบ-ความเชื่อ-ศิลปะที่แตกต่างกันไปตามรสนิยม
การเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา จึงต้องรู้จักปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลง รู้เท่าทันปัจจุบัน เรียนรู้จากอดีตหรือประวัติศาสตร์ โดยมี แนวคิดจากปรัชญา และศาสนา เพื่ออยู่กับปัจจุบันและรู้ทันอนาคต
กาลเวลา คือผู้กลืนกินชีวิต โดยแท้
อย่าปล่อยให้ผ่านไป ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะถ้าผ่านไปแล้วไม่มีวันที่จะหวนคืนกลับมาได้อีก เช่นเดียวกับสายน้ำที่ไม่มีวันไหลกลับ