คนเป็นหนี้บัตรเครดิตควรรู้ ทำไมเราถึงไม่ควรหยุดจ่ายบัตร
ใช้บัตรเครดิตเกินตัว จนเป็นหนี้บัตรเครดิต กลายเป็นปัญหาที่หลายคนหนักใจ โดยเฉพาะคนที่ติดหนี้บัตรเครดิตหลายใบ จึงเลือกที่จะจ่ายขั้นต่ำ หรืออาจถึงขั้นเลิกจ่าย เพื่อรอประนอมหนี้ในตอนท้าย แต่จะใช่ทางที่ดีสุดจริงหรือ แล้วทำไมเราถึงไม่ควรหยุดจ่ายบัตรเครดิต หากติดหนี้บัตรเครดิตแล้วจะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง? มาหาคำตอบเกี่ยวกับข้อเสียของการหยุดจ่ายบัตรเครดิตได้ ในบทความนี้ ช่วยให้คุณรู้ถึงข้อเสีย และไม่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องจากสถาบันทางการเงินในอนาคตได้
ทำไมเราถึงไม่ควรหยุดจ่าย หนี้บัตรเครดิต
สำหรับใครที่เป็นหนี้บัตรเครดิตหลายใบ จนเริ่มจ่ายไม่ไหว อาจคิดว่าการหยุดจ่ายบัตรเครดิต เป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด แต่บอกไว้เลยว่าการคิดแบบนั้นเป็นเรื่องที่ผิด เพราะถ้าเราหยุดจ่ายบัตรเครดิตเมื่อใด อาจโดนทวงหนี้จากธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการส่งเอกสารทวงหนี้ โทรศัพท์ทางเบอร์ส่วนตัว หรือที่ทำงาน เรียกได้ว่าถูกติดตามทุกช่องทาง นอกจากนี้สถานะทางการเงินของเราจะกลายเป็นบุคคลที่มีหนี้เสีย และติดเครดิตบูโร ทำให้ยื่นขอสินเชื่อ หรือทำธุรกรรมทางการเงินในอนาคตได้ยาก
ไม่จ่ายบัตรเครดิตกี่เดือนโดนฟ้อง
หากเรายังเพิกเฉย และไม่ยอมจ่ายหนี้บัตรเครดิต แม้จะถูกติดตามทวงหนี้แล้ว สถาบันทางการเงินหรือบริษัทบัตรเครดิต จะส่งเอกสารเพื่อยื่นฟ้อง เรียกร้องให้เราจ่ายบัตรเครดิต หากเรายังไม่ยอมจ่ายบัตรเครดิต แม้จะมีหมายศาล หรือไม่ยอมชำระเงินตามที่ตกลงกับบริษัทเครดิต ทางบริษัทสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอยึดทรัพย์หรือฟ้องล้มละลายได้ แล้วเป็นหนี้บัตรเครดิตเท่าไหร่ถึงโดนฟ้อง? ติดหนี้บัตรเครดิต อายุความกี่ปี? หากเรามีหนี้ค้างชำระกับธนาคารตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป ธนาคารก็สามารถยื่นฟ้องได้แล้ว ซึ่งในส่วนของอายุความจะมีทั้งหมด 2 ปี หากเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลหรือหนี้ที่มีการผ่อนชำระเป็นงวดจะมีอายุความ 5 ปี เรียกได้ว่าอาจมีผลต่อสถานะการเงินในอนาคตได้
เป็นหนี้บัตรเครดิต แก้ไขอย่างไร?
- รวมหนี้เป็นก้อนเดียว : สำหรับใครที่เป็นหนี้บัตรเครดิตหลายใบ ควรศึกษาเงื่อนไขและสินเชื่อการรวมหนี้จากสถาบันการเงินที่ไว้ใจได้ โดยจะมีคลินิกแก้หนี้ หรือรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ที่ช่วยให้เราสามารถจัดการปัญหาทางการเงินได้ไม่ยาก
- ปรับพฤติกรรมการใช้เงิน : ระหว่างช่วงที่เป็นหนี้บัตรเครดิต เราควรลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น งดการใช้จ่ายหรือรูดผ่านบัตรเครดิตก่อน เพราะนอกจากจะทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มแล้ว ยังทำให้เราไม่สามารถหมุนเงิน หรือจ่ายบัตรเครดิตในส่วนนี้ได้
- เจรจาประนอมหนี้กับธนาคาร : อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เราสามารถขอลดหย่อน หรือผ่อนผันการจ่ายหนี้บัตรเครดิตกับธนาคารได้ ดีกว่าการหยุดจ่ายบัตรเครดิตโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน : หากมีปัญหาทางการเงินและหนี้สิน จนไม่สามารถจัดการได้ เราควรมีสติและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอคำแนะนำทางการเงิน
- หยุดการค้ำประกันให้ผู้อื่น : การค้ำประกันสินเชื่อทางการเงิน เพื่อกู้หรือเงินก้อน มีแต่จะเพิ่มหนี้สินให้แก่ตัวเราเอง อีกทั้งยังทำให้เราเสี่ยงต่อการถูกฟ้อง หากอีกฝ่ายไม่จ่ายเงินได้
- หารายได้เสริม เพื่อช่องทางการเงิน : นอกจากการประหยัด จะช่วยให้เรามีเงินเหลือเพียงพอแล้ว การหารายได้เสริมเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เราสามารถหมุนเงิน และจ่ายหนี้เร็วขึ้น
5 ผลกระทบที่ต้องเจอ ถ้าไม่จ่ายหนี้บัตรเครดิต
ถูกติดตามทวงถามหนี้ แน่นอนว่าสิ่งแรกที่เราจะเจอเมื่อผิดนัดชำระหนี้ คือการถูกทวงหนี้จากธนาคาร มีทั้งแบบส่งข้อความมา และเจ้าหน้าที่ติดต่อมาเอง งานนี้บอกเลยว่ายังไงก็หนีการทวงหนี้ไม่พ้นค่ะ เพราะธนาคารมีช่องทางการติดต่อของเราครบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ หรือโทรศัพท์ที่ทำงาน
ติดเครดิตบูโร เมื่อค้างชำระหนี้เป็นเวลานาน ธนาคารจะส่งเรื่องไปยังเครดิตบูโร หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อเป็นการบันทึกประวัติทางการเงินให้สถาบันการเงินอื่นเข้ามาตรวจสอบต่อไป และแน่นอนว่าหากมีประวัติเสียติดค้างอยู่ในเครดิตบูโร ก็จะทำให้ขอสินเชื่อหรือเครดิตประเภทอื่นยากขึ้นด้วย
ถูกธนาคารฟ้องร้อง หากการค้างชำระหนี้เลยเถิดมาเรื่อยๆ ก็จะมาถึงขั้นตอนการยื่นฟ้องต่อศาล หนี้บัตรเครดิตถือว่าเป็นคดีแพ่ง ถึงแม้โทษอาจจะไม่ได้หนักถึงขั้นติดคุก แต่ก็ทำให้เราต้องเสียเวลาและยุ่งยากกับการเดินทางไปที่ศาลเพื่อทำการไกล่เกลี่ย หรืออาจต้องมีการจ้างทนาย ที่ทำให้เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาค่ะ และที่แย่ที่สุดคือการถูกฟ้องล้มละลาย ในกรณีที่มีหนี้มากกว่า 1 ล้านบาท และไม่สามารถชำระคืนได้
โดนยึดทรัพย์ หรืออายัดเงินเดือน ถ้าเราไม่ยอมจ่ายหนี้ภายใน 30 วันหลังฟังคำพิพากษา ธนาคารก็จะมีสิทธิ์ยึดทรัพย์สินของเรา ซึ่งก็สามารถโดนยึดได้ตั้งแต่เงินในบัญชี ของมีค่าต่างๆ ไปจนถึงบ้านและที่ดินเลยค่ะ ส่วนใครเป็นพนักงานบริษัท หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ก็อาจโดนอายัดเงินเดือนด้วย เพราะธนาคารสามารถตรวจสอบได้ว่าเราทำงานที่ไหน
เกิดความเครียด ด้วยผลกระทบทั้งหมดที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ท้ายที่สุดก็จะทำให้ตัวเราเกิดความเครียดขึ้นจนส่งผลต่อทั้งร่างกายและสภาพจิตใจ ยิ่งไปกว่านั้นก็อาจทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวแย่ลงอีกด้วย
คลายข้อสงสัย ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ใครจะรับผิดชอบหนี้ต่อ?เคยสงสัยกันไหมคะว่า ถ้าสมมุติเรามีภาระหนี้อยู่จำนวนหนึ่ง แล้วดันเกิดเหตุไม่คาดฝัน หรือเกิดเสียชีวิตไปก่อนที่จะทำการชำระหนี้ ใครจะมารับผิดชอบหนี้ของเราต่อ หรือหนี้จะกลายเป็นโมฆะหรือไม่ ผู้เขียนขอแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้ค่ะ
-
กรณีแรก บิดาหรือมารดาเป็นเจ้าของบัตรเครดิต บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องรับภาระต่อ แต่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบเกินกว่ามรดกที่ได้รับ เช่น นาย A ติดหนี้บัตรเครดิตเป็นจำนวน 200,000 บาท ต่อมาเมื่อนาย A เสียชีวิต นาย B ที่เป็นบุตร ได้รับมรดกจากนาย A มาทั้งหมด 100,000 บาท ดังนั้นนาย B ก็จะรับผิดชอบภาระหนี้แทนนาย A เป็นจำนวนเงินทั้งหมด 100,000 บาท
-
กรณีที่สอง คู่สมรสเป็นเจ้าของบัตรเครดิต หากหนี้บัตรเครดิตเกิดขึ้นหลังจากที่จดทะเบียนสมรส คู่สมรสต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้แทน ถ้าหนี้ก้อนนั้นเกิดจากการใช้จ่ายร่วมกันระหว่างสมรม เพราะนับว่าเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างคู่สมรส
-
กรณีสุดท้าย เป็นผู้ถือบัตรเสริม ต้องร่วมกันรับผิดชอบภาระหนี้ เนื่องจากบัตรเสริมและบัตรหลักใช้วงเงินร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเสริมอีกนิดว่าหนี้บัตรเครดิตมีอายุความเพียงแค่ 2 ปี นับตั้งแต่การชำระหนี้ครั้งล่าสุดค่ะ
จากผลกระทบทั้งหมดที่ผู้เขียนได้นำมาแชร์กันในบทความนี้ ก็หวังว่าจะทำให้หลายคนที่คิดเบี้ยวหนี้ได้กลับมาคิดใหม่อีกทีนะคะ เพราะสิ่งที่ตามมาแต่ละอย่างก็ค่อนข้างจะสาหัสพอสมควร ทางที่ดีควรหาทางแก้ปัญหาโดยการติดต่อเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกันจะเป็นการดีที่สุดค่ะ -
https://www.checkraka.com/money/article