AI ทำอะไรกับ"Confirmation Bias"
Confirmation Bias หรือ พฤติกรรมความเอนเอียงเพื่อนยืนยัน คือพฤติกรรมที่เชื่อในสิ่งที่จะมายืนยันในความเชื่อที่เรามีอยู่แล้วก่อนหน้า หรือการพยายามหาข้อมูลต่างๆที่ตรงความเชื่อของเราเพื่อยืนยันว่า เนี่ย!ฉันคิดถูก
เราจะเห็นพฤติกรรมแบบนี้ชัดเจนได้จากมุมมองทางการเมือง ใครมีมุมมองการเมืองในเรื่องไหน ถ้ามีข้อมูลไปในมุมมองทางเดียวกันที่คิดไว้แล้ว ก็จะเปิดประตูต้อนรับข้อมูลนั้น และเชื่อข้อมูลนั้นเป็นจริงเพื่อตอกย้ำความคิดเดิมให้หนักแน่นขึ้น แต่ปัญหาคือถ้ามีความคิดผิดตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ก็จะทำให้เชื่อสิ่งผิดๆมากกว่าเดิม
Confirmation Bias มองอีกทางคือ ปรากฎการณ์การทำงานของภูมิต้านทานความผิดหวังที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เราเสียใจมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งภูมิต้านทานความผิดหวังของเราจะเริ่มทำงานเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นมีความคลุมเครือในเหตุการณ์
แล้ว AI หรือปัญญาประดิษฐ์ของโซเซียลมีเดียนั้นเข้ากันได้กับ Confirmation Bias คือถ้ามันจับได้ว่าเราสนใจเรื่องไหน มีปฏิสัมพันธ์กับเรื่องไหนเป็นพิเศษ มันจะดึงดูดและจัดสรรข้อมูลนั้นๆเรียงหน้ากระดานมาให้เห็นอยู่ตลอด ส่วนสิ่งที่เราไม่สนใจก็จะค่อยๆหายไป หากเราไม่กลั่นกรองตรวจสอบให้ดี เราก็จะถูกตอกย้ำด้วยข้อมูลที่เราเชื่ออยู่แล้ว
ถ้าเรามีแนวโน้มเป็น Confirmation Bias เราควรทำอย่างไรดี เพราะการมีพฤติกรรมความเอนเอียงนี้อาจนำเราไปสู้การหลงผิด หรือการทะเลาะวิวาทกับผู้ที่เห็นต่างจากเราได้
ที่จริงก็มีวิธีที่พอจะช่วยเราได้อยู่ แต่ผู้ที่มีพฤติกรรมความเอนเอียงนี้จะต้องหมั่นทำตามดังนี้
หนึ่ง มีสติ รู้เท่าทันตัวเองว่าตอนนี้เรากำลังมีอคติกับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่าคิดว่าตัวเองไม่อคติเพราะทุกคนล้วนมีอคติกันทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับว่าเรื่องอะไรที่เรามีอคติ
สอง ก่อนตัดสินใจ หรือปักใจเชื่อในความคิดของตัวเอง ควรเปิดรับข้อมูลให้รอบด้าน ที่สำคัญต้องสนใจ ใส่ใจ ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเชื่อของตัวเอง
สาม อย่าตั้งคำถามที่ตอกย้ำความเชื่อของตัวเอง ควรตั้งคำถามทั้งในข้อดีและข้อเสียของเรื่องนั้นๆ มองภาพประกอบรวมๆ ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง
จะเห็นได้ว่าทั้งสามข้อนั้นจะได้ผลก็ต่อเมื่อตัวผู้ที่มีพฤติกรรมความเอนเอียงนี้ มีสติ คิดรอบครอบ ค้นหาข้อมูลให้มากขึ้น ก็จะหลุดพ้นจากความขัดแย้งต่างๆที่จะตามมาจากพฤติกรรมความเอนเอียงได้
อ้างอิงจาก: หนังสือทำไมเป็นคนแบบนี้