พระเกจิดัง
หลวงพ่อพรหม ถาวโร
วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
หลวงพ่อพรหม ถาวโร เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2426 ณ ตำบลบ้านแพรก อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บุตรนายหมี นางล้อม โกสะลัง
อุปสมบท
เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดเขียนลาย ต.บ้านแพรก อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ. 2447 ได้รับฉายา “ถาวโร” โดยมีหลวงพ่อถมยา วัดเขียนลาย เป็นอุปัชฌาย์ และได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาขอมจนชำนาญ และเริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
หลวงพ่อพรหม เคยเล่าให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ท่านเริ่มศึกษาวิชาไสยศาสตร์และคาถาอาคม จากอาจารย์ซึ่งเป็นฆราวาส ชื่ออาจารย์พ่วง หลังจากอุปสมบทแล้ว จึงได้ศึกษาอสุภกรรมฐาน สมถกรรมฐาน วิปัสสนา จากหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ไม่ทราบวัดอยู่ประมาณ 4 ปี ใน พรรษาที่ 5 อาจารย์พ่วง ซึ่งเป็นอาจารย์คนแรกได้พาไปฝากอาจารย์ปู่วอน ซึ่งเป็นฆราวาส ศึกษาวิชาแขนงต่าง ๆ เป็นเวลา 5 ปีเต็ม กระทั่งอาจารย์ปู่วอนถึงแก่กรรม ซึ่งต่อมาท่านได้นำกระดูกมาเก็บไว้ที่วัดช่องแค จากนั้นไม่ได้ไปศึกษาวิชากับอาจารย์ท่านใดโดยตรงอีกเลย โดยอ้อมนั้น อาจมีการแลกเปลี่ยนวิชากับอาจารย์รุ่นพี่ และรุ่นเดียวกันระหว่างธุดงค์ เช่น หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ เป็นต้น
ท่านเคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า อาจารย์พ่วงเป็นศิษย์หลวงปู่มา วัดบางม่วง ซึ่งเป็นสาย พระอาจารย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ส่วนอาจารย์ปู่วอน ซึ่งเป็นฆราวาส เป็นศิษย์หลวงปู่นิล วัดแควป่าสัก จ.เพชรบูรณ์ หลวงปู่แสง วัดมณีชลขันธ์ จ.ลพบุรี และ อาจารย์เพ็งซึ่งเป็นฆราวาส อาจารย์ทั้งสามท่านเป็นพี่น้องกัน และหนึ่งในสามท่าน คือ หลวงปู่แสงเป็นอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง
เดินธุดงค์
หลวงพ่อพรหม จะเดินธุดงค์ทั้งเส้นทางใกล้และไกล โดยหลวงพ่อเคยเดินธุดงค์ไปประเทศพม่าถึงเมืองร่างกุ้ง และได้มีโอกาสที่มนัสการพระเจดีย์ชะเวดากอง และเดินธุดงค์ผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ ผ่านเทือกเขาน้อยใหญ่ และธุดงค์อยู่ในประเทศพม่าเป็นเวลานาน จึงเดินทางกลับประเทศไทยทางด่านแม่ละเมา จ.ตาก และเดินเรื่อยๆไปจนถึงเขาช่องแค ต.พรหมนิมิตร อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เกิดฝนตกหนัก หลวงพ่อพรหม ได้หลบเข้าไปอยู่ในถ้ำซึ่งเป็นถ้ำเล็กๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่หลวงพ่อพรหม เห็นว่าเป็นที่วิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญธรรม จึงเริ่มปลูกต้นไม้แห่งศรัทธาลง ณ. ช่องเขาแห่งนี้
ขณะที่หลวงพ่อพรหมจำศีลปฏิบัติธรรมอยู่นั้น ที่วัดช่องแคมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่แล้ว 2 รูป แต่ยังไม่มีเจ้าอาวาส ภายในวัดยังไม่มีเสนาสนะใดๆ บริเวณวัดรกร้าง
วัดช่องแค
ต่อมาชาวบ้านในแถวนั้นซึ่งมีความนับถือเลื่อมใสหลวงพ่อได้นิมนต์ให้หลวงพ่อพรหมลงมาจำพรรษาข้างล่าง คือวัดช่องแคในปัจจุบัน หลวงพ่อพรหม จึงเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดช่องแค โดยที่ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคที่ดินเพิ่มขึ้น หลวงพ่อพรหมได้เริ่มต้นสร้างวัดจากวัดที่รกร้างไม่มีเสนาสนะใดๆ เมื่อปี พ.ศ.2460 มาเป็นวัดที่มีกุฏิ ศาลาการเปรียญ โรงครัว ซึ่งส่วนหนึ่งของทรัพย์สินมาจากการขายสมบัติส่วนตัวและมรดกของหลวงพ่อเอง ต่อมาเมื่อทางวัดจะสร้างโบสถ์ ซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์สูง คณะกรรมการของวัดจึงขอ อนุญาติหลวงพ่อสร้างวัตถุมงคลขึ้น
หลวงพ่อพรหม ชอบระฆัง การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อจึงมีรูประฆังและกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหลวงพ่อพรหรม
หลวงพ่อพรหม ถาวโร เมื่อมาจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องแคแล้ว ไม่ได้ย้ายไปอยู่วัดใดอีกเลย ตลอดระยะเวลา 58 ปี ท่านลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2514 รวมเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องแคเป็นเวลา 54 ปี (พ.ศ. 2460 – 2514) เพื่อให้พระปลัดแบงค์ ธมฺมวโร เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน ตลอดเวลาที่จำพรรษาอยู่วัดช่องแค ได้สร้างคุณประโยชน์โดยการทำนุบำรุงศาสนา รักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ ภายในวัด ให้การอุปถัมภ์โรงเรียนวัดช่องแค ซึ่งตั้งอยู่ในวัด
มรณภาพ
จนกระทั่งมรณภาพลงเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2518 เวลา 15.00 น. ณ โรงพยาบาลบ้านหมี่ จ.ลพบุรี รวมอายุ 91 ปี 71 พรรษา
สังขารไม่เน่าไม่เปื่อย
หลังจาก หลวงพ่อพรหม มรณภาพแล้วคณะกรรมการวัดได้บรรจุศพของท่านไว้ในโลงแก้ว อยู่บนศาลาการเปรียญ ศพของท่านไม่เน่าเปื่อย มด ไร มอด และแมลง ไม่ได้รบกวนทำลายชิ้นส่วนใดในร่างกายของท่านแม้แต่น้อย คล้ายกับหลวงพ่อนอนหลับอยู่ แม้ว่าท่านจะมรณภาพมานานแล้วก็ตาม