บัวบก
บัวบก
ชื่อภาษาอังกฤษ : Asiatic pernywort
ชื่อวิทยาศาตร์ : Centella asiatica (L.) Urban
วงศ์ : Umbelliferae
ชื่ออื่น : ผักแว่น (ใต้ จันทบุรี ตะวันออก) ผักหนอก (ภาคเหนือ) ปะหนะเอขาเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ฮักคัก (จีน)
ลักษณะ
ต้นบัวบกเป็นไม้ล้มลุกที่เลื้อยทอดไปตามพื้นดิน งอกงามบนดินชื้นแฉะ มีอายุหลายปี ใบเดี่ยวสีเขียวรูปไต ขอบหยักเป็นคลื่น ก้านใบยาว มีรากงอกออกมาตรงข้อของลำต้น ใบงอกเป็นกระจุกออกจากข้อเหมือนกับราก ชูขึ้น 3-5 ใบ ออกดอกสีม่วงแดงเข้มเป็นช่อเล็กๆ ที่ซอกใบ 2-3 ดอก ผลมีลักษณะแบน บัวบกมีอายุยืนยาวหลายปี
ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด หรือตัดเอาไหลหรือเหง้าบางส่วนให้มีข้อและรากติดมาด้วยลงปลูกในหลุมตื้นๆ รดน้ำให้ชุ่มทุกวันจนกว่าจะเจริญงอกงามดี เป็นพืชที่ขึ้นง่ายเลื้อยแผ่ไปทั่ว ไม่ค่อยมีแมลงรบกวนแต่ควรมีแสงแดดพอสมควร
ใช้เป็นอาหาร
ทั้งต้นและใบบัวบก มีรสมันและกรอบ กินเป็นผักสดกับน้ำพริกปลาร้า หลน ลาบ กินกับผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว หรือลวกกินกับขนมจีนน้ำยา หรือนำมายำ ที่นิยมกันมากคือทำเครื่องดื่มน้ำใบบัวบกเย็นชื่นใจ ขายกันทั่วทั้งเมือง ทราบกันดีว่าช่วยแก้ช้ำใน คลายร้อนได้ดี และมีคุณค่าสารอาหารสูง
คุณประโยชน์
มีสารกลุ่ม saponins ประกอบด้วย asiatic acid madecassid asiaticoside centelloside ซึ่งต้านการออกซิเดชัน ลดการอักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เป็นหนอง ช่วยสมานแผลและกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมา บัวบกมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ในทุกส่วน มีสารที่มีรสขม มีสารไกลโคไซด์ มีวิตามินเอสูงมาก มีธาตุแคลเซียม และสารอื่นๆ
สรรพคุณทางยามีดังนี้ ทั้งต้นและใบสดนำมาต้มน้ำดื่ม แก้ฟกช้ำได้ ลดการอักเสบ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้สดชื่น แก้อ่อนเพลีย ลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ
ตำพอกรักษาแผลสดวันละ 3-4 ครั้ง ช่วยสมานแผลทำให้รอยแผลเป็นเล็กลงและนิ่มลง ฆ่าเชื้อราตามผิวหนังได้ด้วย รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก และนำมาสกัดทำครีมทาผิวหนังแก้อักเสบ การตำพอกแผลต้องระวังการติดเชื้อโรคแบคทีเรียหรือพยาธิด้วย ควรล้างให้สะอาดดีก่อนตำพอกแผล
ข้อควรระวัง ผู้ที่ดื่มน้ำบัวบกปริมาณมากหลายแก้วในทีเดียว จะส่งผลให้มีอาการใจสั่น มึนงง อยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วอาการจะทุเลาลงเอง การดื่มเช้าแก้ว เย็นแก้ว ให้ผลดีต่อร่างกายตามสรรพคุณที่กล่าวมา