ขมิ้น
ชื่อภาษาอังกฤษ : Curcuma,Turmeric
ชื่อวิทาศาสตร์ : Curcuma longa L.
วงศ์ : Zingiberaceae
ชื่ออื่น : ขมิ้นแกง ขมิ้นหัว ขมิ้นหยวก ( เชียงใหม่ ) ขมิ้นชัน ตายอ สะยอ ระเมียด (เขมร สุรินทร์ )
ลักษณะ
พรรณไม้ล้มลุกจำพวกเดียวกับขิง มีหลากหลายพันธุ์ ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน มีเหง้าสีเหลืองเขมอยู่ใต้ดินเป็นข้องอไปมาคล้ายขิง เปลือกเหง้าเรียบและบาง ลำต้นสูงประมาณ 60-70 ซม. ใบเลี้ยงเดี่ยวสีเขียวขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายหอกกว้าง 10 ซม. ยาว 30-40 ซม. ปลายใบแหลมมีก้านใบยาว ใบงอกงามดีในหน้าฝนและร่วงโรยไปในหน้าแล้ง เหลือแต่เหง้าที่ยังคงอยู่ เมื่อเจอฝนใหม่ก้จะแตกหน่อเป็นต้นใหม่ โตขึ้นมีดอกออกเป็นช่อใหญ่สีขาวหรือสีเขียวอ่อน กลีบดอกเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ สวยงามมาก
ขมิ้นขึ้นได้ทั่วไปในดินร่วนชุยที่มีความชื้น การระบายน้ำดี อากาศร้อน มีแสงแดด ขยายพันธุ์ด้วยเหง้าตัดเป็นท่อนมีตาประมาณ 2 ตา ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนซึ่งน้ำยังไม่มาก ปลูกได้ 7 วัน ขมิ้นจะงอกลำต้นออกมาให้เห็น ใช้เวลาประมาณ 7 เดือน ใบขมิ้นจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง พอถึงเดือนที่ 9 ก็ขุดเหง้ามาใช้ได้
ใช้เป็นอาหาร
ส่วนของเหง้าสดที่โตเต็มที่จะมีรสชาติดีกว่าขมิ้นอ่อน นิยมทำเป็นเครื่องเทศปรุงอาหารให้มีสีเหลืองและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว อาหารปักษ์ใต้มักจะมีขมิ้นเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น น้ำยาปลา ต้มปลา แกงปลา แกงไตปลา ปลาทอด ใส่ข้าวเหนียวกลอยให้มีสีเหลืองน่ากิน ทางอีสานนิยมทุบเหง้าขมิ้นใส่ต้มปลาดับกลิ่นคาวปลา นอกจากนี้ยังมีขมิ้นผงไว้ใส่แทนขมิ้นสด และขมิ้นผงเป็นเครื่องเทศที่นิยมของคนเชื้อสายแขก เช่น อินเดีย เนปาล
คุณประโยชน์
เหง้าขมิ้นมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ร้อยละ 5 ได้แก่ Zingberene. Borneol, Turmerone มีสารที่ให้สีเหลืองเรียกว่า curcumin มีประมาณร้อยละ 2-5
ขมิ้นเป็นยารักษาโรคตั้งแต่สมัยโบราณมา ใช้ทารักษากลากเกลื้อน ลดการอักเสบของผิวหนัง รักษาแผลพุพอง ชันตุบนกระหม่อมทารก ทาแผลริดสีดวงทวาร ใช้ทารักษาแผลสดก็ได้ ลดอาการคันจากพิษสัตว์กัดต่อย โดยใช้ผงขมิ้นที่บดเก็บไว้ได้นานเอามาโรยแผล หรือเอาเหง้าสดมาฝนกับน้ำแล้วใช้ทาวันละ 3 ครั้ง
ขมิ้นมีสาร camphoric acid และ diethanolamine ช่วยในการขับน้ำดี ลดการทำลายเซลล์ตับ เหมาะกับคนไข้โรคตับ ขมิ้นชันใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับปัสสาวะ ด้วยการหั่นเป็นชิ้นบางตากแดดจัดแล้วบดเป็นผงละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอน กินครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 3 ครั้ง มีการสกัดขมิ้นทำเป็นเครื่องสำอางบำรุงผิวพรรณ ทำสบู่ เป็นส่วนผสมของยาสีฟันสมุนไพร