ห้องพระไม่ควรอยู่ชั้นล่างจริงหรือ?
ห้องพระไม่ควรอยู่ชั้นล่างจริงหรือ?
คำถาม : ถ้าบ้านไหนไม่สามารถวางพระที่พื้นที่ชั้นบนได้ จะสามารถทำห้องพระไว้ชั้นล่างได้หรือไม่?
คำตอบ : ถ้ามีความจำเป็นจริงๆ ก็สามารถทำได้
พุทธศาสนิกชนคนไทย นิยมจัดห้องพระไว้ในบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมักจะเอาไว้ชั้นบนของบ้าน เพราะถือว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นของสูง เราที่เป็นมนุษย์ไม่ควรอยู่สูงกว่า
แต่การจะนำสิ่งศักด์สิทธิ์มาไว้ชั้นล่างต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการเลือกตำแหน่ง เพราะจะหาตำแหน่งที่เหมาะสมได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากโดยปกติบริเวณชั้นล่างมักจะพลุกพล่าน มีการเดินเข้าเดินออก มีการทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น ทำอาหาร ดูทีวี พูดคุยกัน ดังนั้นการจะหามุมสงบๆ ได้นั้นแทบไม่มี ห้องพระต้องการความสงบเป็นอย่างยิ่ง ยกเว้นถ้าเป็นบ้านหลังใหญ่ก็คงพอจะมีมุมสงบเงียบให้สามารถทำได้บ้าง
สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาสำหรับการทำห้องพระชั้นล่าง คือ ห้องชั้นบนที่ตรงกับห้องพระด้วย
ถ้าเหนือห้องพระเป็นห้องน้ำ หรือห้องนอน (พระตรงกับเตียง) ถือเป็นข้อห้าม เพราะไม่สมควร ต้องหาห้องที่ว่างหรือไม่มีคนอยู่จะดีที่สุด เช่น ระเบียงชั้นบน ตรงกับห้องโถง ก็พอจะอนุโลมได้
อีกกรณีหนึ่งที่สามารถทำได้ คือ การแยกส่วนของห้องพระออกจากตัวบ้าน ซึ่งลักษณะนี้จะตัดผลกระทบที่เกิดจากชั้นบนไปเลย แต่คงไม่เหมาะกับบ้านที่มีพื้นจำกัด
การวางหิ้งพระในบ้าน
หลักการเช่นเดียวกับห้องพระ แต่เลือกตำแหน่งได้ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องใช้พื้นที่ในการจัดวางมากเท่าห้องพระ
จุดที่เหมาะสมในการวางหิ้งพระชั้นล่าง ส่วนใหญ่นิยมวางในห้องรับแขกส่วนหน้าบ้าน มากกว่าตั้งไว้หลังบ้าน เพราะตามข้อบัญญัติหนึ่งในตำราฮวงจุ้ยกล่าวว่า เวลาเดินเข้าบ้านจะต้องเห็นสิ่งที่เป็นมงคลก่อน เมื่อเดินเข้าบ้านแล้วมองเห็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าของบ้านย่อมรู้สึกดีกว่ามองเห็นสิ่งอื่น
แต่การวางในลักษณะตรงกับทางเข้าบ้านจะต้องไม่มากเกินไป เพราะอาจจะผิดฮวงจุ้ยได้ เนื่องจากพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพลังหยิน ยิ่งมีมากอาจจะสกัดโชคลาภไม่ให้เข้าบ้านได้เช่นกัน
เพราะฉะนั้น อย่าวางพระมาก ถ้าพระมากก็ควรทำเป็นห้องพระแยกเป็นสัดส่วนจะดีที่สุด
เครดิตภาพ : Fio_05