ตำนานที่มาของ “ปูเฮเกะ” ปูหน้าคนของญี่ปุ่น.??
ใกล้สิ้นเดือนกรกฎาคมแล้ว เอาเรื่องเกี่ยวกับ “ปู” มาเล่าสู่กันฟังซักเรื่องดีกว่า
ปูเฮเกะ (Heikegani) หรือบางครั้งก็เรียกว่า ปูซามูไร เป็นปูชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Heikeopsis japonica เป็นปูพื้นเมืองที่พบได้ในทะเลทางตอนใต้ของญี่ปุ่น มีขนาดเล็ก ส่วนมากจะไม่เกิน 1.2 นิ้ว และที่เป็นจุดเด่นของปูชนิดนี้คือ ลวดลายบนกระดองที่มีลักษณะคล้ายกับหน้าคน หรือหน้ากากซามูไรแบบญี่ปุ่น จึงกลายเป็นที่มาของชื่อนี้
ตำนานเกี่ยวลวดลายบนกระดองปูชนิดนี้เล่ากันว่า มีที่มาจากสงครามเก็นเป (Genpei War) ระหว่างกลุ่มของตระกูลไทระ (Taira) หรือฝ่ายเฮเกะ (Heike) กับตระกูลมินาโมโตะ (Minamoto) หรือฝ่ายเกนจิ (Genj) ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1180 และสิ้นสุดลงหลังจากการรบที่สมรภูมิอ่าวตันโนะอุระ (Dan-no-ura) เมื่อปี 1185 โดยฝ่ายมินาโมโตะได้รัชัยชนะ ซึ่งเมื่อรู้ตัวว่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แน่นอนแล้ว โทกิกะ (Taira no Tokiko) เสด็จย่าของจักรพรรดิอันโตคุ (Antoku) วัย 6 ขวบ จึงตัดสินใจอุ้มจักรพรรดิน้อยกระโดดลงทะเลเพื่อไม่ให้ถูกฝ่ายมินาโมโตะจับตัวได้ ส่วนบรรดานักรบซามูไรของฝ่ายไทระที่เหลืออยู่เมื่อเห็นจักรพรรดิน้อยสวรรคต จึงตัดสินใจพลีชีพตามเสด็จจักรพรรดิน้อยด้วยการกระโดดลงทะเลไปด้วยกันทั้งหมด ฝ่ายมินาโมโตะจึงได้ครองอำนาจอย่างเด็ดขาด มินาโมโตะ โยริโตโมะ ผู้นำของตระกูลมินาโมโตะ จึงได้ตั้งตัวเป็นโชกุนคนแรกของญี่ปุ่น
ในตำนานเล่าขานกันต่อมาว่า จักรพรรดิอันโตคุก็ได้รับยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งสายน้ำ ส่วนวิญญาณบรรดาซามูไรที่พลีชีพตามเสด็จนั้นก็ยังคงไม่ไปไหน แต่ยังคงวนเวียนในท้องทะเลแห่งนั้นเพื่อรอเวลากลับมาแก้แค้นให้ได้ ดังนั้นต่อมาเมื่อมีชาวประมงไปพบปูประหลาดที่มีกระดองรูปร่างคล้ายหน้าคน พวกเขาจึงเชื่อกันว่าพวกมันคือบรรดาซามูไรของฝ่ายเฮเกะที่สิงสถิตในร่างปูนั่นเอง จนกลายเป็นเรื่องเล่าขานกันต่อมาจนถึงทุกวันนี้
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การที่ปูชนิดนี้มีกระดองคล้ายหน้าคน น่าจะเกิดจากการคัดเลือกโดยมนุษย์เอง กล่าวคือในตอนแรก ลวดลายดังกล่าวนี้ก็คงจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญตามธรรมชาติเพียงไม่กี่ตัว แต่เมื่อคนจับขึ้นมาและเชื่อว่าเป็นปูที่มีวิญญาณซามูไรสิงอยู่จึงปล่อยคืนทะเลไม่กล้านำมารับประทาน ก็จะทำให้ปูที่มีกระดองแบบนี้รอดพ้นจากการถูกมนุษย์จับกินมากกว่าปูที่มีกระดองเป็นแบบอื่น เมื่อเวลาผ่านไปก็จะทำให้ปูชนิดนี้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมานั่นเอง