ทำทานอย่างไร...ให้ได้บุญมาก
ทำทานอย่างไร...ให้ได้บุญมาก
วันเข้าพรรษา...นับเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่ง เป็นวันซึ่งพระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดฤดูฝนโดยไม่ไปค้างแรมที่อื่นเป็นระยะเวลาสามเดือน สำหรับปีนี้วันเข้าพรรษาตรงกับ วันพุธ ที่ 2 แรม 1 ค่ำ เดือน 8 (หลัง) ปีเถาะ
ในวันเข้าพรรษาทุกปี...พุทธศาสนิกชนมักไปร่วมกิจกรรมกันที่วัด ไม่ว่าจะตัดหญ้า และทำความสะอาดบูรณะสถานที่ต่างๆ ภายในวัด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พระภิกษุสงฆ์ที่จะอยู่จำพรรษา รวมถึงการถวายทานอื่นๆ เช่น ตักบาตร ถวายหลอดไฟ ถวายเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน กระทั่งบางวัดยังมีกิจกรรมหล่อเทียนพรรษาในช่วงวันเข้าพรรษาอีกด้วย
สำหรับปีนี้...เหลืออีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเข้าพรรษาแล้ว เพื่อให้การทำบุญของทุกท่านได้มีผลบุญมากเต็มกำลัง บทความนี้จึงขอนำเสนอว่า “ทำบุญอย่างไร...จึงจะได้บุญมาก”
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า “ทาน” นั้นแปลว่า “การให้” ไม่ว่าจะเป็นการให้พระสงฆ์ ให้ขอทานหรือยาจก หรือการให้กับคนทั่วๆ ไป ต่างก็เรียกว่าเป็นการให้ “ทาน” ส่วนคำว่า “บุญ” นั้นคือผลผลิตที่เกิดจากการให้ “ทาน”
ฉะนั้นแล้วผลบุญจะเกิดมากน้อยย่อมขึ้นอยู่กับการให้ทาน และการให้ทานที่บริสุทธิ์จนเกิดอานิสงส์ใหญ่จึงต้องประกอบพร้อมด้วย “สัมปทาคุณ 4 ประการ”
“สัมปทา 4” คือ ความพร้อมแห่งองค์ประกอบ 4 ประการ ซึ่งจะทำให้ทานที่บริจาคไปแล้วมีผลยอดเยี่ยม ซึ่งมีดังนี้
- วัตถุสัมปทา ความพร้อมแห่งวัตถุ หมายถึง ผู้รับ(ปฏิคาหก) หรือทักขิไณยบุคคล เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยคุณธรรม ท่านมีคุณธรรมสูงมากเท่าใดย่อมทำให้ทานที่บริจาคไปยิ่งมีผลมากขึ้นตามไปด้วย
[...สำหรับคำกล่าวที่ว่าการทำบุญกับผู้มีศีลธรรม คุณธรรม จะได้ผลบุญมากนั้น ในสมัยพุทธกาลมีเรื่องเล่าอยู่ว่า
คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ควรทำบุญในที่ใด”
พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า “ควรทำในที่ที่ตนเลื่อมใส”
พระเจ้าปเสนทิโกศลฟังแล้วก็ทูลถามต่อไปว่า “แล้วควรทำบุญกับผู้ใดจึงจะมีผลบุญมาก”
พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสตอบว่า “ถ้าต้องการผลมากก็ต้องทำกับผู้มีศีลธรรม หากทำกับผู้ที่ไม่มีศีลธรรมจะมีผลบุญมากนั้นไม่มี” และทรงตรัสอธิบายเปรียบเปรยเช่นต้นข้าวในนา “หากนาข้าวมีต้นหญ้าเป็นโทษ ปลูกข้าวในนาที่มีต้นหญ้ามากมาย ต้นข้าวย่อมไม่งอกงามเพราะจะถูกต้นหญ้าเบียดเบียนฉันใด การทำบุญให้ทานกับผู้ที่เพียบแปล้ไปด้วย ราคะ โทสะ โมหะ ย่อมไม่มีผลบุญมากฉันนั้น ส่วนการทำบุญให้ทานกับท่านผู้ปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ย่อมได้รับอานิสงส์ผลบุญจนประมาณมิได้...” ]
- ปัจจัยสัมปทา ความพร้อมแห่งปัจจัย หมายถึง สิ่งของที่ทายกนำมาทำบุญนั้น ได้มาในทางบริสุทธิ์ ชอบธรรม
- เจตนาสัมปทา ความพร้อมแห่งเจตนา หมายถึง มีเจตนาดี เจตนาเพื่อสงเคราะห์ อนุเคราะห์ หรือบูชาคุณด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิได้หวังลาภยศหรือชื่อเสียง และมีเจตนาดีนั้นควรพร้อม 3 กาลคือ
3.1. ปุพพเจตนา เจตนาที่จะบริจาคเกิดขึ้นในครั้งแรก มีความบริสุทธิ์ เกิดจากศรัทธาและเห็นคุณค่าในการบริจาคอย่างแท้จริง (เจตนา...ก่อนบริจาค)
3.2. มุญจนเจตนา ในขณะที่กำลังบริจาคทานอยู่ยังคงรักษาความรู้สึกนั้นไว้ได้ ไม่เกิดความรู้สึกเสียดายหรือมีจิตใจอาลัยเศร้าหมอง (เจตนา...ขณะบริจาค)
3.3. อุปราปรเจตนา หลังจากบริจาคทานเสร็จไปแล้วไม่เกิดความเสียดาย ทั้งเมื่อระลึกถึงการบริจาคของตนกลับมีความชื่นชมโสมนัส มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส (เจตนา...หลังบริจาค)
เจตนาดีทั้ง 3 กาลนี้ต้องรักษาให้เป็นกุศลไว้ นอกจากนี้ยังต้องประกอบไปด้วยปัญญาในการให้ มิใช่ให้ด้วยความเขลาด้วย
- คุณาติเรกสัมปทา คือ ความพร้อมแห่งคุณพิเศษของ “ปฏิคาหก” (คือผู้รับมีคุณพิเศษ) มีระบุในตำราว่า พระสารีบุตรบ้าง พระกัสสปบ้าง ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ กำลังหิว ท่านจึงพิจารณาหาคนที่ควรจะไปโปรดในวันนั้น เพราะหากท่านไปรับอาหารจากผู้ใด ผู้ที่ทำทานในวันนั้นก็จะมีอานิสงส์ผลบุญใหญ่ก่อให้เกิดทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก ท่านจึงไปโปรดสงเคราะห์คนยากจนเพื่อให้เขาเหล่านั้นได้มีความสุขมากขึ้น
ดังนั้นผลบุญจะมากหรือน้อยย่อมต้องประกอบพร้อมด้วย “สัมปทาคุณ 4 ประการ” นี้ ก็หวังว่าในวันเข้าพรรษานี้ การทำบุญให้ทานของท่านคงได้รับอานิสงส์มาก เกิดผลบุญอันยอดเยี่ยมกันทุกคน
สุดท้ายนี้...ข้าพเจ้าใคร่ขออาราธนาคำอธิษฐานของ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ท่านให้พรแก่สานุศิษย์ “ขอให้พบแต่ความดี...ไม่มีความทุกข์” ทุกท่านทุกคนเทอญ...สาธุ.
ขอบคุณเรื่องเล่าสมัยพุทธกาล จาก หนังสือ "พิธีกรรมโบราณ" ของ รณกร ดำราม