ความเป็นมาของ “นอร์สตรามุส” นักพยากรณ์ตาทิพย์หรือเรื่องลวงโลก!?
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการเอาคำพยากรณ์ที่อ้างว่าจาก “นอร์สตราดามุส” มาอ้างถึงกันอีกแล้วว่า จะเกิดสงครามครั้งใหญ่ (ขนาดไหนไม่รู้) อีกครั้ง ซึ่งจะจริงหรือไม่จริงก็คงต้องรอพิสูจน์กันไป แต่เชื่อว่าถ้าพูดถึงนอร์สตราดามุสแล้ว หลายคนคงจะรู้ว่าเป็นบุคคลที่เชื่อว่าสามารถทำนายอนาคตได้ แต่อาจจะไม่รู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน งั้นวันนี้จะชวนมาทำความรู้จักกับบุคคลผู้นี้กันซักนิดดีกว่า
นอร์สตรามุส (Norstradamus) เกิดเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1503 ที่แซงต์เรมีเดอโปรวองซ์ (Saint-Remy de Provence) ตอนใต้ของฝรั่งเศส มีชื่อจริงว่า มีแชล เดอ นอสทร์ดาม ( Michel de Nostredame) ส่วนคำว่า นอร์สตราดามุสนั้นเป็นคำภาษาละตินของ Nostredame นั่นเอง ครอบครัวของนอร์สตราดุมเป็นชาวยิวที่เข้ารีตนับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก นอร์สตราดามุสได้เข้าศึกษาด้านเภสัชวิทยาและแพทย์ และได้พยายามหาวิธีการรักษากาฬโรคที่กำลังระบาดในยุโรปอยู่ในเวลานั้น แต่ด้วยวิธีการรักษาบางอย่างของเขาที่แตกต่างไปจากความเชื่อทางศาสนา จึงทำให้เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีต และในเวลาเดียวกัน ภรรยาและลูกของเขาก็เกิดเสียชีวิตจากกาฬโรคเช่นกัน ทำให้นอร์สตราดามุส ทำให้ผู้คนเริ่มไม่เชื่อความสามารถของเขา นอร์สตราดามุสจึงตัดสินใจเดินทางออกจากฝรั่งเศสไปยังอิตาลี กรีซ และตุรกี
และการเดินทางครั้งนี้เองที่จะทำให้นอร์สตราดามุสกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากเชื่อกันว่าในการเดินทางครั้งนี้เองที่ทำให้นอร์สตราดามุสได้เรียนรู้วิชาโหรศาสตร์และไสยศาสตร์ มีเรื่องเล่ากันว่า ในครั้งหนึ่ง เขาได้พบกับคณะนักบวชนิกายฟรานซิสกัน (Francisca) กลุ่มหนึ่ง และเขาได้บอกว่า จะมีพระรูปหนึ่งในกลุ่มได้เป็นพระสันตะปะปา ซึ่งต่อมาในปี 1585 เฟลิซ เปเรตติ (Felice Peretti) หนึ่งในนักบวชกลุ่มนั้นก็ได้รับเลือกเป็นพระสันตะประปานาม Sixtus ที่ 5
หลังจากพเนจรไปต่างแดนอยู่หลายปี ในปี 1547 นอร์สตราดามุสได้กลับมายังฝรั่งเศสอีกครั้งและทำงานด้านแพทย์และเภสัชวิทยา รวมถึงได้เขียนตำราด้านการแพทย์ไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 1550 เขาก็เริ่มเปลี่ยนเส้นทางมาเป็นนักพยากรณ์แทน โดยเริ่มจากการเขียน Almanac ซึ่งเป็นข้อมูและคำทำนายเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีถัดไป ก่อนที่ในปี 1554 นอร์สตราดามุสได้เขียนบทประพันธ์ชื่อ Centuries ซึ่งเป็นบทประพันธ์ที่บรรยายถึงคำทำนายเหตุการณ์ในอนาคตเป็นครั้งแรก
แนวทางในการเขียนของนอร์สตราดามุสจะเป็นแบบ Quatrains หรือบทกลอนสี่บรรทัด โดยมีทั้งภาษาฝรั่งเศส กรีก อิตาลี ละติน หรือแม้แต่ภาษาโปรวองซ์ที่ใช้กันทางตอนใต้ของฝรั่งเศสปะปนกันไป เนื้อความจะไม่ได้เอ่ยถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นโดยตรง แต่จะเป็นเหมือนการอุปมาอุปไม จึงเป็นเหตุทำให้ผู้อ่านสามารถตีความไปได้ต่าง ๆ นานาว่าบทกลอนบทนั้นหมายถึงเหตุการณ์ใด ทั้งนี้เชื่อว่าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหากับฝ่ายศาสนจักร
นอร์สตราดามุสเสียชีวิตในปี 1566 โดยได้แต่งบทประพันธ์เกี่ยวกับการทำนายอนาคตไว้มากกว่า 1000 บท ซึ่งนับตั้งแต่ที่นอร์สตราดามุสเผยแพร่คำทำนายดังกล่าวออกมา ก็ทำให้เกิดกระแสเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งยังคงมีต่อมาถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่เชื่อในคำทำนายของนอร์สตราดามุสว่าแม่นยำจริง และผู้ที่ไม่เชื่อ ซึ่งแสดงความเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการตีความแบบ “ลากเข้าหา” รวมถึงยังแสดงความเห็นว่า ถ้านอร์สตราดามุสพยากรณ์ได้แม่นยำจริง ทำไมยังมีเหตุการณ์อีกมากมายที่นอร์สตราดามุสมองไม่เห็นหรือไม่ได้ทำนายเอาไว้ ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องที่ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปอีกต่อไป