ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน สัญญาณที่ไม่ควรละเลย
มีใครเป็นบ้างจะนอนกลางคืนจะนอนก็นอนไม่ได้ เพราะว่าปวดปัสสาวะบ่อยเหลือเกิ๊น แป๊บๆก็เดินเข้าห้องน้ำ เราลองมาดูสาเหตุมันเกิดจากอะไรได้บ้าง
ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนเกิดจากอะไร
อาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ร่างกายผลิตปัสสาวะมากผิดปกติในตอนกลางคืน
สาเหตุของอาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนที่พบได้บ่อยที่สุดคือร่างกายผลิตปัสสาวะมากผิดปกติเฉพาะในตอนกลางคืน (Nocturnal Polyuria) ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีอัตราส่วนปริมาณปัสสาวะตอนกลางคืนเพิ่มขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณปัสสาวะทั้งวันในวัยผู้ใหญ่ และเพิ่มขึ้นเกิน 33 เปอร์เซ็นต์ในผู้สูงอายุ โดยปริมาณปัสสาวะในช่วงกลางวันจะอยู่ในระดับปกติ หรือในบางรายอาจน้อยกว่าปกติ ซึ่งเป็นอาการที่พบมากในผู้สูงอายุ และอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- โรคและภาวะผิดปกติของร่างกาย เช่น อาการบวมน้ำ (Edema) ที่บริเวณขา ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea)
- การใช้ยาบางชนิด อย่างยาขับปัสสาวะ (Diuretics)
- การดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ ในปริมาณมากก่อนนอน โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์
- การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง
- ร่างกายผลิตปัสสาวะมากผิดปกติตลอดทั้งวัน
อาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนอาจเกิดจาก Polyuria ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายผลิตปัสสาวะมากผิดปกติทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน โดยปกติแล้ว ปริมาณปัสสาวะของเรามักไม่เกิน 3 ลิตรต่อวัน แต่ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะมากผิดปกติจะมีปริมาณปัสสาวะรวมกันมากกว่า 3 ลิตร หรืออาจมากถึง 15 ลิตรต่อวัน โดยภาวะปัสสาวะมากอาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- โรคเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะ เช่น การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้
- อาการดื่มน้ำมากผิดปกติ (Polydipsia)
- ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)
- โรคต่อมลูกหมากโตที่มักพบในเพศชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- โรคเบาหวาน และโรคเบาจืด (Diabetes Insipidus)
- โรคไต เช่น ไตวาย และนิ่วในไต
- โรคมะเร็งบางชนิด
- การดื่มน้ำมากเกินไป รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- การใช้ยาบางชนิด อย่างยาขับปัสสาวะ
- ปัญหาความจุของกระเพาะปัสสาวะ
บางครั้งอาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนอาจไม่ได้เกิดจากร่างกายผลิตปัสสาวะมากกว่าปกติ แต่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะบรรจุปัสสาวะได้น้อยลง จึงทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (UTI) หรือในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ และปัสสาวะบ่อยกว่าปกติทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน
ปัญหาความจุของกระเพาะปัสสาวะอาจเกิดจากโรคต่อมลูกหมากโตในเพศชาย ซึ่งพบมากในชายสูงอายุ หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังหมดประจำเดือนในเพศหญิงที่อาจส่งผลกระทบต่อการขับถ่ายปัสสาวะ
นอกจากนี้กระเพาะปัสสาวะอาจมีความจุลดลงได้ในผู้ที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder) โรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การใช้ยาขับปัสสาวะ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ ความวิตกกังวล และการผ่าตัด
ปัญหาด้านการนอนหลับ
บางคนอาจเข้าใจว่าการตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกเกิดจากอาการปวดปัสสาวะ แต่ความจริงแล้วอาจเกิดจากความผิดปกติของการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคนอนไม่หลับ นอนกรน อาการขาอยู่ไม่สุข อาการร้อนวูบวาบ (Hot Flashes) อาการปวดเรื้อรัง และโรคซึมเศร้า
ทั้งนี้ ผู้ที่มีความผิดปกติด้านการนอนหลับมักนอนหลับต่อได้ยากหลังตื่นมาปัสสาวะ หรือรู้สึกอ่อนเพลียในตอนเช้าโดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการตื่นนอนกลางดึก เนื่องจากอาจรู้สึกเพียงว่าต้องปัสสาวะ ทั้งนี้ความผิดปกตินี้มักพบมากในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีวงจรการนอนหลับในช่วงหลับลึกสั้นกว่าในวัยอื่น ๆ ทำให้มีโอกาสตื่นกลางดึกได้ง่าย
ปัจจัยอื่น
ปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลให้เกิดการปัสสาวะตอนกลางคืน ได้แก่
- เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะหรือต่อมลูกหมาก
- ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (Interstitial Cystitis)
- โรควิตกกังวล
- ภาวะหัวใจล้มเหลว และตับวาย
- ภาวะติดเชื้อในไต
- ภาวะตั้งครรภ์
- โรคอ้วน
รับมือกับอาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนให้ได้ผล
การปรับพฤติกรรมในด้านต่าง ๆ อาจช่วยลดปัญหาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนได้ ดังนี้
- จำกัดการดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนในช่วงเย็นหรือก่อนเข้านอนเป็นเวลา 2–4 ชั่วโมง
- จัดห้องนอนให้เอื้อต่อการนอนหลับ โดยห้องนอนไม่ควรมีเสียงรบกวน หรือมีแสงสว่างมากจนเกินไป ปรับอุณหภูมิในห้องนอนให้เหมาะสม และเลือกเครื่องนอน อย่างหมอนและที่นอนที่ทำให้นอนหลับสบาย
- เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาทุกวัน
- หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก่อนนอน เนื่องจากแสงสีฟ้า (Blue light) จากอุปกรณ์เหล่านี้อาจกระตุ้นให้สมองตื่นตัว และลดการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ช่วยในการนอนหลับ
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม อย่างการทำสมาธิ เล่นโยคะ ฟังเพลงเบาๆ หรือแช่น้ำอุ่น
- จดบันทึกการดื่มน้ำและการปัสสาวะในแต่ละวัน รวมทั้งจดบันทึกการชั่งน้ำหนักในเวลาเดียวกันทุกวัน
- ผู้ที่มีอาการบวมน้ำ ควรยืดหรือเหยียดขาให้สูงกว่าระดับหัวใจในช่วงก่อนนอน หรือใช้หมอนหนุนบริเวณขาขณะนอนหลับ เพื่อลดการสะสมของของเหลวบริเวณขา