โบสถ์เซนต์แมรี่แห่งไซออน, เอธิโอเปีย
โบสถ์พระนางมารีแห่งไซออน (อังกฤษ: Church of Our Lady Mary of Zion; อามารา: ርዕሰ አድባራት ቅድስተ ቅዱሳን ድንግል ማሪያም ፅዮን Re-ese Adbarat Kidiste Kidusan Dingel Maryam Ts’iyon) เป็นโบสถ์ในคริสตจักรออร์โฑด็อกซ์เทวาเฮโดแบบเอธิโอเปีย ในประเทศเอธิโอเปีย โบสถ์นี้ เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีการอ้างว่า เป็นสถานที่เก็บรักษาของหีบแห่งพันธสัญญาในปัจจุบัน โบสถ์ตั้งอยู่ในเมืองอะซุม, ภูมิภาคติกรัย เชื่อกันว่าโบสถ์หลังเดิม สร้างขึ้นรัชสมัยของเอซานา ผู้ปกครองแรกของอาณาจักรอะซุม (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของประเทศเอริเทรีย และ เอธิโอเปีย) ที่เป็นคริสต์ชน ในศตวรรษที่ 4 นับจากนั้น ได้มีการสร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นอีก
สถานที่แห่งนี้ เป็นที่ประกอบพิธีราชาภิเษก ของจักรพรรดิเอธิโอเปียมาแต่เดิม และจะได้รับนามกล่าวเรียกเป็น "Atse" หลังเข้าร่วมพิธีที่อะซอนนี้
ตามธรรมเนียมเชื่อกันว่า หีบแห่งพันธสัญญา มาถึงยังเอธิโอเปีย หลังเมเนลิกที่หนึ่ง เดินทางไปเยี่ยมบิดา โซโลมอน มีเพียงนักบวชองครักษ์เท่านั้น ที่จะสามารถชื่นชมหีบแห่งพันธสัญญาได้ อย่างไรก็ตาม ความไม่ประติดประต่อของตำนาน และการขาดเอกสารที่ยืนยันเพียงพอเป็นหลักฐาน ทำให้มีนักวิชาการเอธิโอเปีย และด้านคริสต์ศาสนาหลายคน ตั้งข้อสงสัยถึงความแท้จริง ของหีบแห่งพันธสัญญา ที่มีการอ้างว่าเก็บรักษาอยู่ที่นี่ พบเอกสารเก่าแก่ที่สุด ที่แสดงความเคลือบแคลงใจนี้ ย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 15 นักบวชองครักษ์ ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดูแลหีบแห่งพันธสัญญา จะต้องอยู่รับใช้ และจองจำในอาราม ที่เก็บรักษาหีบแห่งพันธสัญญาไปตลอดชีวิต มีหน้าที่ในการสวดบูชา และประพรมกำยานให้แก่หีบ
จากบทสัมภาษณ์ในปี 1992 อดีตศาสตราจารย์ด้านเอธิโอเปีย ศึกษาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ศ.เอ็ดเวิร์ด อุลเลินดอร์ฟฟ์ระบุว่า เขาเคยได้มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบตัวหีบแห่งพันธสัญญาของโบสถ์ เมื่อปี 1941 ขณะเป็นเจ้าหน้าที่กองทัพอังกฤษ เขาอธิบายลักษณะของหีบว่า "เป็นกล่องไม้ แต่ข้างในว่างเปล่า สร้างขึ้นในยุคกลางหรือหลังยุคกลาง ที่ซึ่งมันถูกสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ (ad hoc)"
โบสถ์พระนางมารีแห่งไซออน เป็นสถานที่ที่มีการอ้างว่า เป็นที่เก็บรักษาของหีบแห่งพันธสัญญาในปัจจุบัน
หีบแห่งพันธสัญญา หรือ หีบแห่งพระบัญญัติ (อังกฤษ: Ark of the Covenant; ฮีบรู: אָרוֹן הַבְּרִית ʾĀrôn Habbərît, ออกเสียง อะรอน ฮะบริท; กรีก: Κιβωτός της Διαθήκης; อาหรับ: تابوت العهد) เป็นหีบที่กล่าวถึงในหนังสืออพยพ บรรจุแผ่นศิลาพระโอวาท ที่ได้สลักบัญญัติ 10 ประการเอาไว้ และใน จดหมายถึงชาวฮีบรูระบุว่า
"หีบพันธสัญญา หุ้มด้วยทองคำทุกด้าน ภายในนั้น มีโถทองคำบรรจุมานา มีไม้เท้าของอาโรนที่ออกดอกตูม และมีแผ่นศิลาจารึกพันธสัญญา"
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 ได้บันทึกไว้ว่า ในยุคของมหากษัตริย์ซาโลมอน หีบแห่งพันธสัญญาบรรจุไว้แค่ แผ่นศิลาพระบัญญัติ จำนวนสองแผ่นเท่านั้น หนังสืออพยพ ยังอธิบายว่า หีบแห่งพันธสัญญา สร้างขึ้นรูปแบบที่พระยาห์เวห์ ทรงชี้แนะต่อโมเสส ที่ภูเขาซีนาย โมเสส สามารถเข้าเฝ้าพระเจ้าได้ จากพลับพลานมัสการ ซึ่งบรรจุหีบใบนี้ โดยพระเจ้าจะทรงประทับบนพระที่นั่งกรุณา ที่ทั้งสองข้างมีเครูบกางปีกปกไว้
(เครูบ (อังกฤษ: cherub (เอก.) cherubim (พหู.), ฮีบรู: כרוב, พหูพจน์ כרובים, ละติน: cherub[us], พหูพจน์ cherubi[m]) เป็นทูตสวรรค์ประเภทหนึ่ง ที่กล่าวถึงหลายครั้งในคัมภีร์ไบเบิล ในภาษาอังกฤษ ปัจจุบันคำนี้มักจะใช้เรียกเทวดาเด็กๆ ที่ปรากฏในงานศิลปะ ซึ่งตามความหมายทางการแล้ว แตกต่างจาก “เครูบ” ในบทความนี้
มีบรรยายว่าเครูบมีปีก ผู้เผยพระวจนะ บรรยายไว้ในคัมภีร์เอเสเคียลว่า เป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิต (creature) ที่แต่ละตนมีหน้าสี่หน้า: สิงโต, วัว, เหยี่ยว และมนุษย์ และเชื่อกันว่า มีมือเหมือนมนุษย์, เท้าเหมือนวัว, และมีปีกสี่ปีก สองปีกตั้งขึ้นประกบกัน และแบกบัลลังก์พระเจ้า อีกสองปีกหลุบลง ปิดบังร่างของตนเอง
เครูบมีกล่าวถึงในคัมภีร์ฮิบรูในโทราห์ (หนังสือห้าเล่มของโมเสส) พระธรรมเอเสเคียล และพระธรรมอิสยาห์ ในพันธสัญญาใหม่ของคริสต์ศาสนา กล่าวถึงเครูบในพระธรรมวิวรณ์
พหูพจน์ของคำว่า “Cherub” คือ “Cherubim” หรือ “Cherubs” แต่ผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ไม่มีความคุ้นเคยกับพหูพจน์ของภาษาฮิบรู บางครั้งจึงใช้ “Cherubims” ในกรณีที่เป็นพหูพจน์ เช่นในคัมภีร์ไบเบิลฉบับพระเจ้าเจมส์ (King James Bible))
คัมภีร์ไบเบิลระบุว่า ราวหนึ่งปี ภายหลังชนชาวอิสราเอล ได้อพยพจากอียิปต์ ก็ได้สร้างตัวหีบขึ้นตามรูปแบบที่พระเจ้าตรัสไว้ผ่านโมเสส ในระหว่างที่พวกเขาตั้งค่ายที่เชิงเขาซีนาย (ตรงกับ 1513 ปีก่อนคริสตกาล) ต่อมา ปุโรหิตเผ่าเลวี หามหีบแห่งพันธสัญญา นำขบวนอพยพของชนชาวอิสราเอล ทิ้งระยะห่าง 2,000 ศอก ทันทีที่เท้าของปุโรหิต ผู้หามหีบแตะผิวน้ำของแม่น้ำจอร์แดน ซึ่งอยู่ในฤดูน้ำหลาก สายน้ำก็แยกออกจากกัน จนเหลือพื้นแห้ง ให้ขบวนอพยพเดินทางข้ามไปได้
เมื่อการมหัศจรรย์นี้แพร่กระจายออกไป ทำให้เหล่ากษัตริย์ชาวอาโมไรต์ทั้งหมด ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน และกษัตริย์ชาวคานาอันทั้งหมด ตามชายฝั่งทะเล ต่างเกรงกลัวในอำนาจของพระเจ้า ประตูเมืองเยรีโค ถูกสั่งปิดตาย เนื่องจากเกรงกลัวชาวอิสราเอล พระเจ้าตรัสกับโยชูวา ให้ปุโรหิต หามหีบเดินขบวนรอบเมือง วันละหนึ่งรอบ เป็นเวลาหกวัน และหามวนเจ็บรอบในวันที่เจ็ดพร้อมเป่าเขาแกะ เมื่อครบเจ็ดรอบ ชาวอิสราเอล ก็ส่งเสียงโห่ร้อง และกำแพงของเมืองเยรีโค ก็พังทลายลงมา กองทัพของชาวอิสราเอลบุกเข้าเมือง เข่นฆ่าทุกคนไม่เว้น ชาย หญิง คนชรา เด็ก สัตว์เลี้ยง และเผาเมืองจนพินาศสิ้น
ในหนังสืออพยพ บทที่ 25 พระเจ้าทรงบัญชาโมเสสว่า
"ให้พวกเขาทำหีบใบหนึ่ง ด้วยไม้กระถินเทศ ยาว 110 เซนติเมตร กว้าง 66 เซนติเมตร และสูง 66 เซนติเมตร เจ้าจงหุ้มหีบนั้นด้วยทองคำบริสุทธิ์ ทั้งด้านในและด้านนอก แล้วจงทำขอบด้วยทองคำล้อมรอบหีบนั้น เจ้าจงหล่อห่วงทองคำสี่ห่วงสำหรับหีบนั้นติดไว้ที่มุมทั้งสี่ ด้านนี้สองห่วง และด้านนั้นสองห่วง ให้ทำคานหามด้วยไม้กระถินเทศหุ้มด้วยทองคำ แล้วสอดคานหามเข้าที่ห่วงข้างหีบ สำหรับใช้ยกหามหีบนั้น ไม้คานหามให้สอดไว้ในห่วงของหีบ ห้ามถอดออก เจ้าจงเก็บพระโอวาท ที่เราจะให้แก่เจ้าไว้ในหีบนั้น แล้วเจ้าจงทำพระที่นั่งกรุณา ด้วยทองคำบริสุทธิ์ยาว 110 เซนติเมตร กว้าง 66 เซนติเมตร เจ้าจงทำเครูบทองคำสองรูป โดยใช้ค้อนเป็นเครื่องมือทำ และตั้งไว้ที่ปลายทั้งสองข้างของพระที่นั่งกรุณา เจ้าจงทำเครูบไว้ที่ปลายพระที่นั่งกรุณาข้างละรูป และให้เครูบ ติดเป็นเนื้อเดียวกับปลายทั้งสองข้าง ของพระที่นั่งกรุณา ให้เครูบกางปีกขึ้นสูง ปกพระที่นั่งกรุณาไว้ และให้หันหน้าเข้าหากัน โดยหน้าของเครูบ มองตรงมายังพระที่นั่งกรุณา แล้วจงตั้งพระที่นั่งกรุณานั้นไว้บนหีบ จงเก็บพระโอวาท ซึ่งเราจะให้แก่เจ้าไว้ในหีบนั้น เราจะพบกับเจ้า ณ ที่นั้น คือที่เหนือพระที่นั่งกรุณาระหว่างกลางเครูบ ซึ่งอยู่บนหีบแห่งสักขีพยาน และเราจะบอกกับเจ้าทุกสิ่ง ที่เราจะสั่งเจ้าให้ประกาศ แก่ชนชาติอิสราเอล"
มีสมมติฐานว่า หีบแห่งพันธสัญญา ที่จริงนั้นมีอยู่สองใบ คือ ใบดั้งเดิม กับใบที่สร้างขึ้นทีหลัง พระราชินีแห่งชีบา เป็นมเหสีของซาโลมอน โอรสของพระนาง จะต้องกลับไปครองเอธิโอเปีย ตำนานว่าโอรสของพระนาง ได้นำหีบใบหนึ่งกลับไปด้วย กษัตริย์ซาโลมอน อาจสร้างหีบแห่งพันธสัญญา ขึ้นมาอีกใบในเหตุการณ์นี้ ซึ่งไม่อาจทราบว่า หีบใบที่เจ้าชายเมเนเลก นำไปยังเอธิโอเปียนั้น เป็นหีบใบจริงหรือใบที่สร้างขึ้นมาทีหลัง
อย่างไรก็ตาม 587 ปีก่อนคริสตกาล ในคราวที่กองทัพบาบิโลเนีย บุกเข้าทำลายเยรูซาเลม และวิหารซาโลมอน อันเป็นที่ประดิษฐานของหีบแห่งพันธสัญญา ในหนังสือพงศ์กษัตริย์นั้น มีบัญชีสิ่งของ ที่พวกบาบิโลนนำกลับออกไปด้วยอยู่ ก็ไม่ปรากฏว่า มีหีบใบนี้ อยู่ในบัญชีดังกล่าวแต่อย่างใด แม้แต่พงศาวดารอิสราเอลอื่นๆ ก็ไม่ระบุถึงหีบในเหตุการณ์นี้เช่นกัน แต่เรื่องของหีบนี้ กลับไปปรากฏอยู่ในหนังสือเอสดราส ฉบับที่ 1ของกรีก ซึ่งระบุไว้ว่า
"...แลพวกเขา ก็ยึดเอาบรรดาภาชนะศักดิ์สิทธิ์ ของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งชิ้นเล็กชิ้นใหญ่เสียหมดสิ้น พร้อมทั้งภาชนะหีบแห่งพระเจ้า ตลอดจนทรัพย์สมบัติ แลเอาไปยังบาบิโลน"
—หนังสือเอสดราส ฉบับที่ 1 บรรทัดที่ 54
อย่างไรก็ตาม มีนักโบราณคดี และนักวิชาการบางส่วนเห็นว่า เป็นไปได้ยาก ที่จะไม่หลงเหลือหลักฐานใดเลย หากหีบ ถูกนำไปยังบาบิโลนจริง ดังนั้น หีบน่าจะถูกนำออกจากเยรูซาเลมไปแล้ว ก่อนเมืองถูกโจมตี โดยผ่านอุโมงค์ใต้เยรูซาเลม ออกไปนอกกำแพงเมือง ทั้งนี้ มีการพบบันทึกพาไพรัสในอียิปต์ ซึ่งเขียนราวๆ 400 ปีก่อนคริสตกาล ในบันทึกระบุว่า มีการสร้างวิหารสำหรับพระเจ้าของพวกยิว ในเกาะทางภาคใต้ของอียิปต์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า เหล่าปุโรหิต สามารถนำหีบหนีออกมาได้ถึงเกาะนี้ และวิหารแห่งนี้ สร้างเพื่อเก็บรักษาหีบ ถ้าเป็นเช่นนั้น หีบอาจจะเคยอยู่ที่อียิปต์ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในอียิปต์ จะทำให้ชาวยิวเหล่านี้ต้องออกจากอียิปต์ และจุดหมายปลายทาง ที่พวกเขาน่าจะเดินทางต่อไปคือเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระราชินีแห่งชีบา มเหสีของกษัตริย์ซาโลมอน โดยการล่องเรือทวนแม่น้ำไนล์ ซึ่งก็มีการพบชุมชนชาวคริสต์เก่าแก่ บริเวณทะเลสาบต้นสาขา ของแม่น้ำไนล์ในเอธิโอเปีย และในบรรดาสมบัติเก่าแก่ ก็พบเครื่องใช้โบราณของอิสราเอล ที่มีอายุกว่าสองพันปี
พระราชินีแห่งชีบา (อาหรับ: ملكة سبأ Malikat Sabaʾ, กีเอซ: ንግሥተ ሳባ Nigista Saba, ฮีบรู: 'מלכת שבא Malkat Shva) เป็นพระราชินีนาถ ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลที่ว่าพระนางได้เสด็จไปเข้าเฝ้ากษัตริย์ซาโลมอน ซึ่งเรื่องดังกล่าว ได้แพร่หลายในหมู่ชาวยิว, อาหรับ และเอธิโอเปีย และกลายเป็นตำนาน ที่แพร่หลายที่สุดเรื่องหนึ่งของโลกตะวันออก ตามคติชนยิวว่า พระราชินีแห่งชีบา ทรงปกครองอียิปต์และเอธิโอเปียสลับกัน บ้างก็ว่า เป็นกษัตริย์บุรุษเพศ ปกครองอาณาจักรชีบาแถบอาระเบียใต้ (ปัจจุบันคือบริเวณประเทศเยเมน)
ในคติชนเอธิโอเปียว่า พระราชินีแห่งชีบา ทรงมีสัมพันธ์สวาทกับกษัตริย์ซาโลมอน ดังปรากฏใน เกแบรแนแกสต์ (กีเอซ: ክብረ ነገሥት, kəbrä nägäst) อันเป็นวรรณกรรมของเอธิโอเปีย กล่าวถึงผลจากความสัมพันธ์ดังกล่าว ทำให้นางตั้งครรภ์ มีพระหน่อประสูติกาล เป็นจักรพรรดิเมเนลิกที่ 1 จักรพรรดิพระองค์แรกแห่งเอธิโอเปีย
เผ่าเลวี (อังกฤษ: Levites) เป็น 1 ในบรรดา 12 เผ่าของวงศ์วานอิสราเอล ตามบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม ในหมวดเบญจบรรณ และตามพระคัมภีร์โทราห์ของศาสนายูดาห์ เลวี มาจากชื่อของบุตรชายคนที่ 3 ของยาโคบ (อิสราเอล) กับนางเลอาห์ ภรรยาคนแรก เลวี เป็นเผ่าเดียวที่พระยาห์เวห์ ทรงยกเว้นไม่ให้ได้รับมรดกจากแผ่นดินคานาอัน แต่ให้มีหน้าที่เป็นปุโรหิต และผู้ปฏิบัติงานในสถานนมัสการ
เมื่อยาโคบไปอยู่กับลาบัน ลุงของตน ลาบันให้ยาโคบทำงาน 7 ปี เพื่อแลกกับนางราเชล บุตรสาวคนเล็กของตน แต่เมื่อครบ 7 ปีตามกำหนด ลาบัน กลับให้ยาโคบแต่งงานกับนางเลอาห์ บุตรีคนโต ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นธรรมเนียมที่คนพี่จะต้องแต่งก่อนคนน้อง ยาโคบจึงต้องทำงานอีก 7 ปีเพื่อให้ได้นางราเชล เมื่ออยู่กินกันนั้น ยาโคบรักนางราเชล และชังนางเลอาห์ พระเจ้าจึงทรงเบิกครรภ์ของนาง ให้มีบุตรชายแก่ยาโคบ ถึง 4 คนติดต่อกัน และเลวี เป็นบุตรคนที่สามของยาโคบ กับนางเลอาห์นั่นเอง เหตุที่ได้ชื่อว่า เลวี เนื่องด้วยเมื่อคลอดนั้น มารดาได้กล่าวว่า
"ครั้งนี้สามีจะสนิทสนมกับข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้ามีบุตรชายกับเขาสามคนแล้ว" เลวี จึงมาจากคำภาษาฮีบรู ที่แปลว่า สนิทสนม
คำพยากรณ์ของยาโคบที่มีต่อเลวี ก่อนยาโคบจะสิ้นใจ ท่านได้เรียกบรรดาบุตรของท่านมา เพื่อบอกเหตุอันจะเกิดภายหน้าแก่บุตรของท่าน คำพยากรณ์ของยาโคบที่มีต่อเลวี มีดังนี้
"...สิเมโอนกับเลวีเป็นพี่น้องกัน กระบี่ของเขาเป็นเครื่องอาวุธร้ายกาจ จิตวิญญาณของเราเอ๋ย อย่าเข้าไปในที่ขุมนุมของเขา จิตใจของเราเอ๋ย อย่าเข้าร่วมในที่ประชุมของเขา เหตุว่าเขาฆ่าคนด้วยความโกรธ เขาตัดเอ็นน่องวัวตัวผู้ตามอำเภอใจเขา ให้ความโกรธของเขาถูกแช่งเพราะรุนแรง ให้ความโมโหของเขาถูกสาปเพราะดุร้าย เราจะให้เขาแตกแยกกันในพวกยาโคบ จะให้เขาพลัดพรากกันในคนอิสราเอล..."
ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อยาโคบ เดินทางกลับจากปัดดานอารัมใหม่ ๆ นั้น เมื่อพำนักอยู่ในเมืองเชเคม แคว้นคานาอันนั้น ดีนาห์ บุตรสาวของยาโคบ ซึ่งเป็นน้องสาวของสิเมโอน และเลวี ถูกเชเคม บุตรชายโฮเมอร์ เจ้าเมืองเชเคมนั้นทำลายความบริสุทธิ์ ในครั้งนั้นบรรดาบุตรของยาโคบได้พากันออกอุบายให้โฮเมอร์ เชเคม และบรรดาผู้ชายชาวเมืองนั้นตัดปลายหนังองคชาต เพื่อเข้าสุหนัตก่อนจะยกนางดีนาห์ให้แก่เชเคม ครั้นเมื่อชาวเมืองนั้นอยู่ระหว่างพักฟื้น สิเมโอน และเลวีได้ถือดาบเข้าไปฆ่าฟันชาวเมืองนั้น และปล้นริบเอาทรัพย์สิน สิ่งของ และจับบุตรภรรยาของคนเหล่านั้นไปเป็นทาส ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้ยาโคบไม่พอใจ
คำอวยพรของโมเสสแก่เผ่าเลวี ก่อนโมเสสจะสิ้นชีวิต พระเจ้าได้ทรงเรียกท่านขึ้นไปยังภูเขาอาบาริม แผ่นดินโมอับ ตรงข้ามเมืองเยรีโค นั้น ที่นั่น โมเสสได้กล่าวอวยพรชนเผ่าต่าง ๆ ของวงศ์วานอิสราเอล โดยบทอวยพรแก่เผ่าเลวี เป็นดังนี้
"...ทูมมิมและอูริม ของพระองค์อยู่กับผู้จงรักภักดีของพระองค์...ผู้กล่าวถึงบิดามารดาของเขาว่า ข้าพเจ้าไม่รู้จักเขาแล้ว เขาไม่จำพี่น้องของเขา และไม่รู้จักลูกของตน เพราะว่าเขาปฏิบัติตามพระวจนะของพระองค์ และรักษาพระสัญญาของพระองค์ เขาทั้งหลายจะสอนกฎหมายของพระองค์แก่ยาโคบ และสอนธรรมบัญญัติแก่อิสราเอล เขาจะวางเครื่องหอมต่อพระพักตร์พระองค์ และถวายเครื่องเผาบูชาบนแทนบูชาของพระองค์...ขอทรงตีทำลายบั้นเอวแห่งศัตรูของเขา...อย่าให้ลุกขึ้นอีกได้"
ในหนังสืออพยพ บทที่ 28 พระเจ้าตรัสสั่งให้โมเสสนำอาโรนพี่ชายของท่าน และบุตรของเขา ซึ่งเป็นชนเผ่าเลวีนั้น แยกออกจากวงศ์วานอิสราเอล และแต่งตั้งให้ท่าน และบุตรหลานของท่านเป็นปุโรหิต ปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า และในหนังสือเลวีนิติ บทที่ 21 ได้กล่าวถึงแบบอย่างความประพฤติที่ปุโรหิตจะต้องปฏิบัติชีวิตในความบริสุทธิ์ เช่น ห้ามแตะต้องศพ ห้ามแต่งงานกับคนต่างชาติ ห้ามแต่งงานกับหญิงที่เป็นมลทิน หรือหญิงม่าย ไม่ให้โกนศีรษะหรือหนวดเครา อย่าปล่อยผม ห้ามบุตรสาวของปุโรหิตเป็นโสเภณี เป็นต้น
ในหนังสือกันดารวิถี บทที่ 16 ได้กล่าวถึง โคราห์ ชายเผ่าเลวีที่คิดกบฏต่อ โมเสส และอาโรน และตั้งตนเป็นปุโรหิตเอง แต่สุดท้าย โคราห์และพวก ก็ถูกพระเจ้าลงโทษโดยการให้แผ่นดินสูบพวกเขาไป เป็นการยืนยันการทรงเลือกของพระเจ้าที่จะมอบตำแหน่งปุโรหิต ให้แก่ตระกูลของอาโรน
ในหนังสือกันดารวิถี ได้กล่าวถึงหน้าที่ของเผ่าเลวี ที่แตกต่างจากเผ่าอื่น ๆ โดยให้มีหน้าที่ปรนนิบัติงานของสถานนมัสการ โดยแบ่งออกงานออกเป็น 3 กลุ่มตามวงศ์วานของเผ่าเลวี ดังนี้
วงศ์วานเกอร์โชน มีจำนวนผู้ชายอายุ 1 เดือนขึ้นไปจำนวน 7,500 คน ต้องตั้งค่ายอยู่ข้างหลังพลับพลาด้านทิศตะวันตก โดยมีหน้าที่รับผิดชอบงานในพลับพลา ได้แก่ งานพลับพลา งานเต็นท์ พร้อมเครื่องเต็นท์ แท่นบูชา และสิ่งของทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้
วงศ์วานโคอาท มีจำนวนผู้ชายอายุ 1 เดือนขึ้นไปจำนวน 8,600 คน ต้องตั้งค่ายอยู่ทางใต้ของพลับพลา มีหน้าที่ดูแลหีบพระโอวาท โต๊ะขนมปัง คันประทีป แท่นบูชาทั้งสอง และเครื่องใช้สถานนมัสการซึ่งปุโรหิตใช้งาน และม่าน
วงศ์วานเมรารี มีจำนวนผู้ชายอายุ 1 เดือนขึ้นไปจำนวน 6,200 คน ต้องตั้งค่ายอยู่ด้านเหนือของพลับพลา มีหน้าที่ดูแลงานไม้กรอบพลับพลา ไม้กลอน ไม้เสา ฐานรองและเครื่องประกอบทั้งหมด เสารอบลานพลับพลา พร้อมกับฐานรองหลักหมุดและเชือกโยง
พระเจ้าทรงกำหนดให้คนเลวีทำงาน เมื่อมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป จนกระทั่งถึงอายุ 50 ปีจึงให้หยุดปฏิบัติงาน ซึ่งแตกต่างจากเผ่าอื่น ๆ ที่มีกำหนดอายุทำงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และในขณะเดียวกัน พระเจ้าทรงนำคนเลวี ตั้งแต่เมื่ออายุ 1 เดือนขึ้นไป ในขณะที่ทรงนับคนเผ่าอื่น เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป
ในหนังสือกันดารวิถี พระเจ้าทรงจัดสรรให้บรรดาปุโรหิต และคนเลวีนั้น ได้รับจัดสรรสิ่งต่าง ๆ จากบรรดาของถวายของอิสราเอลที่ไม่ได้นำไปเผาไฟ ให้เป็นสิ่งที่จัดไว้ให้แก่ปุโรหิต และคนเลวี นอกจากนี้ ยังทรงกำหนดให้อิสราเอล มีการไถ่บรรดาบุตรหัวปีของตนจากพระเจ้า เป็นเงิน 5 เชเขล ซึ่งส่วนนี้จะตกเป็นของปุโรหิต และคนเลวีตามสัดส่วนเช่นกัน
นอกจากนี้ ในการแบ่งดินแดนคานาอัน แม้พระเจ้าจะทรงยกเว้น คนเลวี ที่จะไม่ได้รับมรดกจากแผ่นดินคานาอันก็ตาม แต่ทรงกำหนดให้แต่ละเผ่าของอิสราเอล ได้จัดสรรหัวเมืองให้แก่คนเลวีตามขนาดของแต่ละเผ่า ซึ่งประกอบด้วยเมืองลี้ภัยจำนวน 6 เมือง และหัวเมืองอื่น ๆ อีก 22 เมือง[8] โดยแบ่งตามวงศ์วานของเลวีดังนี้
ตระกูลอาโรน (ตระกูลปุโรหิต) ได้รับ 13 หัวเมืองจากดินแดนของเผ่ายูดาห์ เผ่าสิเมโอน และเผ่าเบนยามิน
วงศ์วานโคอาท ได้รับ 10 หัวเมือง จากดินแดนของ เผ่าเอฟราอิม เผ่าดาน และเผ่ามนัสเสห์ครึ่งเผ่าในดินแดนคานาอัน
วงศ์วานเกอร์โชน ได้รับ 13 หัวเมือง จากดินแดนของเผ่าอิสสาคาร์ เผ่าอาเชอร์ เผ่านัฟทาลี และเผ่ามนัสเสห์ครึ่งเผ่าในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน
วงศ์วานเมโรรี ได้รับ 12 หัวเมือง จากดินแดนของเผ่ารูเบน เผ่ากาด และเผ่าเศบูลุน
อ้างอิงจาก:
https://th.wikipedia.org
Church of Our Lady Mary of Zion
cherub
Levites
ملكة سبأ