ผู้สูงอายุไทยตายอย่างโดดเดี่ยวเพิ่มขึ้น
สถานการณ์ที่มีผู้ที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว (Die alone) หรือตายอย่างโดดเดี่ยว กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งในไทย ที่เป็นแบบนี้ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา
โครงสร้างประชากรโลกที่มีอายุเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การเกิดที่น้อยลง การไม่แต่งงาน การอยู่เป็นโสด มีบุตรน้อย บุตรไม่มาดูแล รวมถึงรไม่มีบุตร สิ่งต่างๆพวกนี้กำลังทำให้ภาพการตายอย่างโดดเดี่ยวเป็นภาพที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคตของประเทศไทย
สังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น มีผู้สูงอายุจำนวนมากเกือบร้อยละ 30 ของประชากรของญี่ปุ่น หรือราว 35 ล้านคน และมีผู้ที่อยู่ตามลำพังจำนวนมากราว 18 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัย 50 ปีเศษ และผู้หญิงวัย 80 ปีขึ้นไป
ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตตามลำพังไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคนในแต่ละปี ในขณะที่ตัวเลขจริงนั้นสูงกว่าที่รายงานประมาณ 2-3 เท่าตัว
ข่าวการพบศพที่มีการตายหลายเดือน (ขึ้นอืด หนอนไช) หรือ บางศพก็หลายปี (เห็นโครงกระดูก) พบเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด พบการตายอย่างโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่กำลังเป็นสังคมผู้สูงวัยขั้นสุดยอด ไม่ต่างจากในญี่ปุ่น
ประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.2557 พบว่ามีผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง จำนวน 8.8 แสนคน เป็นชาย 3.2 แสนคน และหญิง 5.6 แสนคน
ประเทศไทยมีแนวโน้มที่ผู้สูงอายุจะตายตามลำพัง 4.7 หมื่นคนต่อปี เป็นชาย 19,700 คน และหญิง 27,600 คน ตัวเลข 4.7 หมื่นนี้ถือว่าเป็นประมาณการขั้นต่ำ เพราะตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้หลายเท่า
ผู้สูงอายุในประเทศไทย มีแนวโน้มการตายอย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น เพราะผู้สูงอายุอยู่คนเดียวลำพังมากขึ้น การอยู่ตามลำพังอาจมีความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บเพิ่มมากขึ้นด้วย บางคนอยู่ในสภาพติดเตียง เป็นผลจากการถูกทอดทิ้งจากคู่ชีวิต การจากไปของคู่ชีวิต การอยู่เป็นโสด และการไม่มีบุตรหลานมาดูแล